ผลวิจัยล่าสุดชี้ กลุ่มตัวอย่างที่ใช้เทคโนโลยี VR รับบทบาทเป็น อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ อัจฉริยะของโลก จะมีประสิทธิภาพทางความคิดสูงขึ้น ขณะที่ บางคนมี IQ สูงขึ้นด้วย
ศาสตราจารย์ เมล สเลเตอร์ จากมหาวิทยาลัยบาร์เซโลนา ในสเปน เปิดเผยผลการศึกษาที่ระบุว่า กลุ่มตัวอย่าง 30 คน ที่ทดลองเล่นเครื่อง VR รับบทเป็นนักวิทยาศาสตร์ระดับโลกอย่าง อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ ผู้คิดค้นทฤษฎีสัมพัทธภาพ มีการคิดและการตัดสินใจที่ดีขึ้น โดยที่ผู้ทดสอบส่วนหนึ่งมีระดับ IQ สูงขึ้นด้วยหลังทำแบบทดสอบดังกล่าว
ทีมวิจัยทดสอบกลุ่มตัวอย่างใน 3 ทักษะ คือ ระดับสติปัญญา ระดับความพึงพอใจในตัวเอง และอคติต่อผู้สูงวัย โดยพบว่าเมื่อผ่านการทดสอบด้วยเทคโนโลยี VR แล้ว กลุ่มตัวอย่างมี 2 อย่างแรกเพิ่มขึ้น และมีอคติลดลง ตอกย้ำผลการศึกษาก่อนหน้านี้ของสเลเตอร์ที่ชี้ว่า การเข้าไปอยู่ในสถานการณ์จำลองเสมือนจริงสามารถเปลี่ยนทัศนคติและพฤติกรรมของคนเราได้
โดยสเลเตอร์มองว่าสถานการณ์สมมุติทำให้กลุ่มตัวอย่างแทนตัวเองเป็นคนอื่น เรียกว่าเป็นภาวะการรวมตัวเสมือน หรือ virtual embodiment เมื่อตัวบุคคลมองเป็นตัวเองเป็นคนอื่นจะกระตุ้นให้พวกเขาคิดและเคลื่อนไหวแตกต่างออกไป ซึ่งทีมนักวิจัยหวังว่าผลการศึกษาดังกล่าวจะกลายไปเป็นแนวทางพัฒนาเด็ก เยาวชน และทรัพยากรบุคคลได้ต่อไป