การตรวจพบรอยร้าวของอาคารอาจทำให้ต้องใช้งบประมาณซ่อมแซมมหาศาล โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อรอยร้าวนั้นมีขนาดใหญ่และส่งผลกระทบต่อการใช้งานอาคาร ล่าสุด นักวิทยาศาสตร์ในสหรัฐฯ ได้ค้นพบวิธีที่จะทำให้เนื้อคอนกรีตซ่อมแซมตัวเองได้แล้ว โดยมีตัวช่วยคือ 'เห็ด'
ทีมนักวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยบิงแฮมตัน ในมลรัฐนิวยอร์ก ของสหรัฐฯ คิดค้นวิธีที่จะทำให้เนื้อคอนกรีตสามารถซ่อมแซมรอยแตกร้าวเองได้ โดยใช้สิ่งมีชีวิตประเภทเห็ดราเป็นส่วนผสม หลังได้แรงบันดาลใจจากการซ่อมแซมเนื้อเยื่อในร่างกายของสิ่งมีชีวิต ที่จัดการกับรอยฟกช้ำ รอยบาด และกระดูกที่หักได้ตามธรรมชาติ
ผลการศึกษาดังกล่าวถูกตีพิมพ์ในวารสารวัสดุก่อสร้าง Construction and Building Materials โดยระบุว่า หากต่อยอดการศึกษานี้ต่อไป จะช่วยแก้ปัญหาโครงสร้างพื้นฐานเสื่อมโทรม ไม่ว่าจะเป็นสะพานและถนนในสหรัฐฯ ได้อย่างมาก ขณะที่ งบประมาณการซ่อมแซมก็จะไม่สูงเท่าเดิม
ไตรโคเดอร์มา รีเซ หรือ 'ที. รีเซ' ซึ่งเป็นเชื้อราชนิดหนึ่ง และเป็นส่วนประกอบสำคัญที่ทำให้คอนกรีตแบบใหม่นี้สามารถซ่อมแซมตัวเองได้ โดยเมื่อรอยร้าวเจอกับน้ำและออกซิเจน สปอร์ของราก็จะแตกตัว แผ่ขยายออก และเติมร่องรอยร้าวด้วย 'แคลเซียม คาร์บอเนต' ทำให้ผิวคอนกรีตสมานกันได้ในที่สุด
อย่างไรก็ตาม เทคโนโลยีนี้ยังต้องศึกษาเพิ่มเติมอีกมาก แต่ก็ถือเป็นก้าวแรกของการบำรุงรักษาโครงสร้างพื้นฐานในระดับชาติที่น่าจับตาอย่างยิ่ง