ผู้พัฒนาระบบแอนดรอยด์ประกาศใช้ไม้ตายทางธุรกิจ หลังบริษัททำยอดไม่เข้าเป้า ด้วยการวางแผนใช้ระบบปัญญาประดิษฐ์มาตอบอีเมลและข้อความแทนผู้ใช้งาน ซึ่งนี่อาจกลายเป็นฟีเจอร์ที่ได้รับการยอมรับและมีใช้แพร่หลายในอนาคต
ปัจจุบันมีการพัฒนาโปรแกรมต่าง ๆ มาอำนวยความสะดวกผู้ใช้งาน ในลักษณะที่โปรแกรมจะทำงานแทนตัวบุคคล โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์เริ่มเข้ามามีบทบาทในอุตสาหกรรมหลากหลายประเภทมากขึ้นเรื่อย ๆ เช่นนี้ ล่าสุด บริษัทสตาร์ตอัปด้านอิเล็กทรอนิกส์เพื่อการบริโภคในครัวเรือนอย่าง Essential Products โดย แอนดี รูบิน ผู้พัฒนาระบบแอนดรอยด์ ก็ออกมาประกาศระงับการพัฒนาเทคโนโลยีอื่น ๆ และมุ่งพัฒนาที่การผลิตโทรศัพท์แบบใหม่ ที่จะเลียนแบบพฤติกรรมผู้ใช้งาน ในการตอบข้อความกลับไปยังคู่สนทนาแบบอัตโนมัติ หรือก็คือ โทรศัพท์ในอนาคตจะตอบข้อความแทนผู้ใช้งานนั่นเอง
ทั้งนี้ เทคโนโลยีที่ทางบริษัทประกาศระงับการพัฒนาไป รวมถึงแผนการผลิตสมาร์ตโฟน และลำโพงแบบใช้ในครัวเรือน หลังจากที่ยอดขายสินค้ารุ่นก่อน ๆ ไม่เป็นไปตามเป้า บริษัทจึงไม่ต้องการจะผลิตสินค้าที่มีคู่แข่งมากในตลาดอีก นอกจากนี้ บริษัทยังเคยพิจารณาจะประกาศขายกิจการให้กับบริษัทใหญ่ที่สนใจมาแล้วด้วย ก่อนจะตัดสินใจเดินหน้าผลิตสมาร์ตโฟนอัจฉริยะ ที่มีซอฟต์แวร์เอไอตอบข้อความแทนผู้ใช้แบบนี้
เบื้องต้น มีรายงานว่า หน้าจอของโทรศัพท์ Essential รุ่นใหม่จะมีขนาดเล็ก โดยผู้ใช้จะสั่งงานผ่านเสียงเป็นหลัก ซึ่งโปรแกรมเอไอ นอกจากจะมีไว้รับคำสั่งเสียงเหล่านี้แล้ว ยังจะทำหน้าที่นัดหมาย ตอบอีเมล และตอบข้อความด้วยตัวมันเองอีกด้วย ขณะเดียวกัน ผู้ใช้งานจะยังคงโทรติดต่อ หรือสั่งงานด้วยตัวเองควบคู่กับไปด้วย
ไอเดียทั้งหมดนี้คล้ายจะหลุดออกมาจากภาพยนตร์ไซไฟ อย่างในเรื่อง Her ที่มีปฏิสัมพันธ์ระหว่างคนกับระบบที่ไม่มีตัวตน ซึ่งหาก Essential ทำสำเร็จก็จะกลายเป็นก้าวสำคัญในแวดวงเทคโนโลยี แต่หากไม่ประสบความสำเร็จ หรือไม่ได้รับความนิยม ก็อาจถือเป็นจุดสิ้นสุดของบริษัทเลยก็เป็นได้ ท่ามกลางการแข่งขันที่ดุเดือด และมีเจ้าตลาดอย่างแอปเปิลและซัมซุงครองตำแหน่งอยู่
เมื่อปีที่แล้ว รูบิน ให้สัมภาษณ์กับบลูมเบิร์ก ว่าอาจพัฒนาโทรศัพท์ที่เป็นตัวแทนของผู้ใช้งาน ที่จะเปิดโอกาสให้คนได้ใช้ชีวิตอย่างเต็มที่ขึ้น โดยไม่ต้องแตะต้องอุปกรณ์สื่อสาร ซึ่งจะเปลี่ยนพฤติกรรมผู้บริโภคโดยรวมไปอย่างสิ้นเชิง
การมี 'ผู้ช่วย' คำสั่งเสียงไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่ หากตัดระบบแบบอเล็กซาของแอมะซอนออกไป ผู้พัฒนาโปรแกรมรายย่อยในปัจจุบันเริ่มผลิตออกมาให้เห็นในรูปแอปพลิเคชันกันอย่างต่อเนื่อง เช่นเมื่อปีที่แล้วมีการเปิดตัว 'อินสแตนต์โก' แอปพลิเคชันผู้ช่วยตอบข้อความและคำถามต่าง ๆ แทนผู้ใช้งาน โดยสามารถเริ่มต้นการใช้งานได้ด้วยการตั้งชื่อเลขาฯ ส่วนบุคคลเสียก่อน และตั้งค่า 'ความมั่นใจ' ที่จะให้ระบบตอบคำถามแทน นั่นคือ ยิ่งใส่เลขเยอะ ระบบเอไอจะต้องมั่นใจมาก ๆ ก่อนตอบ ไม่เช่นนั้นก็ไม่ต้องตอบเลย ซึ่งเป็นหนึ่งในมาตรการป้องกันความผิดพลาดเบื้องต้น
อีกตัวอย่างแอปพลิเคชันในลักษณะเดียวกันที่น่าสนใจ คือ Mei ของ เอส ลี บัณฑิตวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์ จากมหาวิทยาลัยฮาวาร์ด ที่ตั้งเป็นสตาร์ตอัปบริการส่งข้อความออนไลน์ โดยมุ่งที่จะอุดช่องโหว่ของผู้ใช้ที่อาจระบุว่าคำพูดเสียดสีหรือจริงจังผิดจากความตั้งใจของผู้ส่ง โดยผู้พัฒนากล่าวว่า ข้อเสียของข้อความแบบอ่านคือไม่รู้น้ำเสียง ไม่มีภาษากาย และอาจทำให้คู่สนทนาเข้าใจกันผิด Mei จึงรวบรวมข้อมูลจากผู้ใช้งานแบบทดลองในมหาวิทยาลัย นำมาทำเป็นอัลกอริทึมประเมิน 'อารมณ์' ของข้อความ และสถานะของคู่สนทนา ก่อนจะระบุการตอบกลับที่เหมาะสม
ทั้งนี้ การที่บริษัท Essential ได้รับทุนสนับสนุนมากถึง 300 ล้านดอลลาร์ หรือเกือบ 10,000 ล้านบาท และกลายเป็นหนึ่งในบริษัทน่าจับตาในซิลิคอนแวลลีย์ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา อย่างไรก็ตาม เมื่อปีที่แล้ว มีกระแสข่าวโจมตีการทำงานของรูบิน สมัยอยู่กับกูเกิล ซึ่งแม้เขาจะปฏิเสธข้อกล่าวหาทั้งหมด แต่ก็ยังส่งผลต่อชื่อเสียงของบริษัทใหม่อยู่ จึงตัดสินลางานชั่วคราว ก่อนบริษัทจะปรับแผนการตลาดเพื่อให้อยู่รอดในตลาดได้ต่อไป
ล่าสุด Essential ต้องการกลับมาอีกครั้ง ด้วยสินค้าที่ใส่เอไอเข้าไปในระบบปฏิบัติการชิ้นนี้ โดยระบุว่ามีสินค้าต้นแบบพร้อมเปิดตัวในปีนี้ และอาจนำเข้าร่วมโชว์ CES ที่ลาสเวกัสในช่วงต้นปีหน้าด้วย