นาซา ค้นพบองค์ประกอบของสิ่งมีชีวิตเป็นจำนวนมากบนพื้นผิวของดาวอังคาร และยังพบว่าก๊าซมีเทนบนดาวเปลี่ยนแปลงไปตามฤดูกาลได้ ซึ่งเป็นหลักฐานสำคัญที่อาจบ่งชี้ได้ถึงสิ่งมีชีวิต
องค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติสหรัฐฯ หรือ นาซา (NASA) เผยผลการสำรวจดาวอังคารครั้งสำคัญผ่านทางเฟซบุ๊กไลฟ์เมื่อวันพฤหัสบดีที่ผ่านมา (7 มิ.ย. 61) ว่า ยานสำรวจคิวริออสซิตี (Curiosity) ได้ตรวจพบสารอินทรีย์โบราณในดินตัวอย่างที่เก็บได้บริเวณปล่องภูเขาไฟ ‘เกล (Gale)’ ซึ่งเป็นหินดินดานที่มีอายุราว 3.5 พันล้านปี
นอกจากนั้น ยานคิวริออสซิตียังตรวจพบว่า ปริมาณของก๊าซมีเทนบนดาวอังคารนั้นเปลี่ยนแปลงไปตามฤดูกาล โดยในฤดูร้อนจะมีก๊าซมีเทนมากกว่าช่วงที่ระดับก๊าซมีเทนต่ำถึง 2.7 เท่า ด้านนักวิทยาศาสตร์เผยว่า ราว 95 เปอร์เซ็นต์ของก๊าซมีเทนในชั้นบรรยากาศโลก ถูกปล่อยออกมาจากสิ่งมีชีวิต แต่ยังเร็วเกินไปที่จะสรุปว่าก๊าซมีเทนบนดาวอังคารมีความเกี่ยวโยงกับสิ่งมีชีวิต
เจนนิเฟอร์ เอเจนบรอด (Jennifer Eigenbrode) นักดาราศาสตร์ชีววิทยาจากศูนย์การบินอวกาศ กอดดาร์ดของนาซา ในรัฐแมรีแลนด์ ซึ่งเป็นหัวหน้าทีมวิจัยครั้งนี้ให้ข้อมูลว่า สารอินทรีย์ซึ่งเป็นธาตุสำคัญของสิ่งมีชีวิตที่ค้นพบนั้นอาจมีที่มาจากสามแหล่ง หนึ่งคือจากสิ่งมีชีวิต สองคือมาจากอุกกาบาตที่ตกลงมาบนพื้นผิวของดาวและทับถมกันไปเรื่อย และแหล่งสุดท้ายคือมาจากกระบวนการก่อตัวของหิน ซึ่งอาจทำให้เกิดสารอินทรีย์ขึ้นมาได้
โดยยานคิวริออสซิตีได้เริ่มสำรวจพื้นผิวดาวอังคารมาตั้งแต่ปี 2012 เพื่อค้นหาปัจจัยที่เอื้อต่อสิ่งมีชีวิตบนดาวดวงนี้ ก่อนจะค้นพบโมเลกุลอินทรีย์เป็นครั้งแรกเมื่อปี 2014 รวมถึงปล่องภูเขาไฟเกล ที่เคยเป็นทะเลสาบขนาดใหญ่ในอดีต
นักวิทยาศาสตร์หวังว่ายานคิวริออสซิตี และยานสำรวจพื้นผิวอื่น ๆ จะค้นพบสารอินทรีย์ที่อยู่ในสภาพดียิ่งขึ้นในอนาคต เพื่อที่ทีมจะได้ตรวจสอบหาสัญญาณทางเคมีของสิ่งมีชีวิตได้ต่อไป