นักวิทยาศาสตร์ในกรุงเบอร์ลิน ได้ไขปริศนาว่าทำไมแมงมุมถึงบินได้ หลังจากศึกษาพฤติกรรมแมงมุมกว่า 10 ตัว
หลังจากที่มีการบันทึกกระบวนการบินของแมงมุม หรือ ‘ballooning’ เป็นครั้งแรกในศตวรรษที่ 17 แต่ไม่เคยมีการเผยรายละเอียดเพิ่มเติมว่า แมงมุมปล่อยเส้นใยออกมาอย่างไร เพื่อให้บินไปตามลมได้
ทีมนักวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยเทคนิคแห่งกรุงเบอร์ลิน ประเทศเยอรมนี ที่นำโดยมูนซุง โช (Moonsung Cho) จึงพยายามไขปริศนานี้ด้วยการนำแมงมุมปู หรือ crab spider ขนาดโตเต็มวัย มีน้ำหนักระหว่าง 16-20 มิลลิกรัม จำนวน 14 ตัว มาทำการทดลองบนแท่นกลม ๆ ที่ตั้งไว้ในสวนสาธารณะ โดยแมงมุมบางส่วนจะได้รับลมธรรมชาติ ในขณะที่อีกส่วนจะถูกทดลองในช่องลม
ผลการศึกษาแสดงให้เห็นว่า แมงมุมจะยึดตัวเองไว้กับแท่นก่อน หลังจากนั้นก็จะยกขาขึ้นมาข้างหนึ่ง เพื่อวัดความเร็วลม แล้วแมงมุมก็จะเริ่มปั่นใยบาง ๆ ออกมายาวกว่า 13 ฟุต หรือประมาณ 4 เมตร ซึ่งแรงลมจะช่วยยกตัวของพวกมันขึ้นจนสามารถบินไปที่อื่นได้ โดยเมื่ออยู่กลางอากาศ แมงมุมจะตัดเส้นใยเพื่อที่จะกลับลงสู่พื้นดินอีกครั้ง หรือถ้าลมแรงมากกว่า 7.3 ไมล์ต่อชั่วโมง หรือราว 11 กิโลเมตรต่อชั่วโมง แมงมุมก็จะตัดใยออกเช่นกัน
มูนซุงให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า แมงมุมเด็กใช้เส้นใยไม่มากนักในการบิน ในขณะที่แมงมุมที่โตแล้วจะต้องปั่นใยประมาณ 50 - 60 ฟุต หรือประมาณ 15 - 18 เมตร ซึ่งแมงมุมผู้ใหญ่สามารถปั่นใยได้สามเมตรต่อวินาที
การวิจัยนี้ถือเป็นงานชิ้นแรกที่ทำให้เห็นว่าแมงมุมคำนวณสภาพลมมาแล้วเป็นอย่างดี ก่อนที่จะออกบินไปในอากาศ ซึ่งทีมวิจัยเชื่อว่าการศึกษาเทคนิคการปั่นใยของแมงมุมนี้จะสามารถนำไปประยุกต์ใช้กับพายุทอร์นาโดและเฮอริเคนได้เช่นกัน