ไม่พบผลการค้นหา
World Trend - 'รองเท้าผ้าใบ' เทรนด์สุขภาพมนุษย์เงินเดือน - Short Clip
World Trend - ราคาอินเทอร์เน็ตอังกฤษแพงกว่าอินเดีย 25 เท่า - Short Clip
World Trend - 'สมอลเลตต์' ถูกตำรวจตั้งข้อหา 16 กระทง - Short Clip
World Trend - เอฟบีไอสอบกรณี 'สมอลเลตต์' พ้นผิดปริศนา - Short Clip
World Trend - จักรยานไฟฟ้า เทรนด์ฮิตในอเมริกา - Short Clip
World Trend - ผู้หญิงญี่ปุ่นสอบเข้าแพทย์ได้มากกว่าผู้ชาย - Short Clip
World Trend - 'บิตคอยน์' ราคาพุ่งเกือบ 3 แสนบาท - Short Clip
World Trend - อัตราเกิดใน 'ญี่ปุ่น' ต่ำเป็นประวัติการณ์ - Short Clip
World Trend - วีโก เปิดตัวสมาร์ตโฟนใหม่ในตระกูล 'วิว ซีรีส์' - Short Clip
World Trend - วอลโว่เพิ่มความปลอดภัยให้คนขี่จักรยาน - Short Clip
World Trend - กูเกิลเปิดตัวสมาร์ตโฟนและแท็บเล็ตรุ่นใหม่ - Short Clip
World Trend - ธุรกิจกัญชาบูม มีแรงงานมากกว่าสาธารณสุข - Short Clip
World Trend - Fight Camp เปลี่ยนห้องให้เป็นยิมชกมวย - Short Clip
World Trend - ชาวอเมริกันยอมจ่ายค่าสตรีมมิง 650 บาท/เดือน - Short Clip
World Trend - นาซาเตรียมเปิดโรงเเรมอวกาศในปี 2020 - Short Clip
World Trend - ต่างชาติมองไทยเป็น 'จุดหมายการเลิกยา' - Short Clip
World Trend - เน็ตฟลิกซ์ขึ้นราคาทำลูกค้ารายได้น้อยเลิกดู - Short Clip
World Trend - ดิสนีย์ทำรายได้เกินคาดการณ์ของวอลสตรีต - Short Clip
World Trend - โรงแรมดังนิวยอร์กเปิดเว็บแฟชั่นออนไลน์ - Short Clip
World Trend - เทสลาปิดโชว์รูมลดต้นทุน เดินหน้าขายออนไลน์ - Short Clip
World Trend - เกาหลีใต้เหยียดเพศหนักเมื่อ 'วุฒิการศึกษาไร้ค่ากว่าเพศสภาพ' - Short Clip
Feb 4, 2019 10:54

ปัญหา 'เหยียดเพศ' ในการจ้างงานของเกาหลีใต้เป็นปัญหาทางสังคม-วัฒนธรรม แม้มีความพยายามจะบังคับใช้กฎหมายต่อต้านการเลือกปฏิบัติด้วยเหตุแห่งเพศ แต่ทัศนคติของคนในสังคมยังไม่ปรับตัวให้สอดคล้องได้ ความก้าวหน้าจึงยังเลือนราง

เกาหลีใต้เป็นหนึ่งในประเทศที่มี 'เพดานกระจก' หรือ อุปสรรคที่มองไม่เห็นด้วยตาเปล่า ที่แข็งแกร่งที่สุด ซึ่งในที่นี้หมายถึงความลำบากในการหางานทำของประชากรเพศหญิงในสังคม

ในปี 2018 ประเทศเกาหลีใต้อยู่ในอันดับที่ 30 รั้งท้ายจาก 36 ประเทศในกลุ่มองค์การเพื่อความร่วมมือและพัฒนาทางเศรษฐกิจสำหรับการจ้างงานเพศหญิง หรือ OECD แม้ผู้หญิงเกาหลีใต้ในช่วงอายุ 25-34 ปี จะมีความสามารถด้านการศึกษาสูงเป็นอันดับที่ 3 ในรายงานชิ้นล่าสุดเรื่องช่องว่างทางเพศของเวทีการประชุมทางเศรษฐกิจระดับโลก หรือ WEF ประเทศเกาหลีใต้อยู่ในลำดับที่ 115 จาก 149 ประเทศ โดยสำรวจจากประเด็นความไม่เท่าเทียมทางรายได้เป็นหลัก

ตัวอย่างสำคัญที่แสดงถึงความไม่เท่าเทียมทางเพศในเกาหลีใต้ สามารถเห็นได้ชัดเจนจากสถิติผู้หญิงที่มีบทบาทในแวดวงการเมืองเกาหลีใต้ มีเพียงร้อยละ 17 เท่านั้น ซึ่งพักกวีชอน อาจารย์ด้านกฎหมายแรงงานจากคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยอีฮวา กล่าวว่า แม้ผู้หญิงเกาหลีใต้จะมีการศึกษาสูง แต่ยังมีอัตราการจ้างงานต่ำ จึงเห็นได้ชัดเจนว่าปัญหาการเหยียดเพศในการจ้างงานยังมีอยู่

เธอหยิบประเด็นกรณีฟ้องร้องถึงความไม่เป็นธรรมในการคัดเลือกพนักงานของธนาคาร 3 แห่งในเกาหลีใต้ขึ้นมา ประกอบไปด้วย ธนาคารกุกมิน (KB Kookmin) ธนาคารเคอีบี ฮานา (KEB Hana) และธนาคารชินฮาน (Shinhan) ที่มีการสอบสวนพบว่าผู้สมัครหญิงบางส่วนถูกคัดออกจากการคัดเลือกพนักงานอย่างไม่เป็นธรรม รวมไปถึงการโกงคะแนนสอบเพื่อไม่ให้ผู้สมัครหญิงผ่านการคัดเลือก ซึ่งอัตราส่วนของผู้สมัครธนาคารชินฮานที่ผ่านการคัดเลือกระหว่างชายหญิงอยู่ที่สัดส่วน 3:1 เท่านั้น

อีกกรณีฟ้องร้องที่เข้าไปอยู่ในการพิจารณาของศาลฎีกาของเกาหลีใต้ คือกรณีที่พบว่านายพักกีดง ซีอีโอบริษัทโคเรีย แก๊ส เซฟตี คอร์ปอเรชัน หรือ KGS สั่งการให้เจ้าหน้าที่ระดับผู้จัดการหลายคนเปลี่ยนแปลงคะแนนสอบคัดเลือกของผู้เข้าสมัครทั้งหมด 31 คน โดยผู้เข้าสมัครเพศหญิง 8 คนที่มีคะแนนผ่านเกณฑ์กลับไม่ได้รับการคัดเลือกและถูกแทนที่ด้วยผู้สมัครเพศชายที่มีคะแนนต่ำกว่าในปี 2015 และ 2016

ตัวแทนของบริษัท KGS กล่าวว่า ทางบริษัทได้ติดต่อไปหาผู้สมัครทั้ง 8 คน และยื่นข้อเสนอตำแหน่งงานให้ หากยังสนใจที่จะร่วมงานกับบริษัท โดย 3 จาก 8 คน ตอบตกลงเข้ามาทำงาน ขณะที่ บริษัทออกมายืนยันเรื่องการปลดเจ้าหน้าที่ระดับผู้จัดการที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับเรื่องอื้อฉาวออกทั้งหมดแล้ว

ด้านนายมุนแจอิน ประธานาธิบดีของเกาหลีใต้ ตระหนักถึง 'ความจริงที่น่าละอาย' ส่วนนี้ และให้สัญญาว่าปัญหานี้จะต้องได้รับการแก้ไข อย่างไรก็ตาม ความจริงที่ปฏิเสธไม่ได้ ก็คือเกาหลีใต้ยังคงเป็นประเทศที่อยู่ภายใต้วัฒนธรรมผู้ชายเป็นใหญ่อย่างเข้มข้น โดยยังมีการวางบทบาทและหน้าที่ขึ้นอยู่กับเพศ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เรื่องการเลี้ยงดูบุตร ซึ่งในกรณีนี้ศาลฎีกากล่าวว่า กรณีซีอีโอบริษัท KGS มองว่าการรับผู้หญิงเข้ามาทำงานอาจจะกระทบกับการดำเนินการธุรกิจที่ต่อเนื่องอันเนื่องมาจาก 'การลาคลอดบุตร'

ผลสำรวจจาก 'อินครูต' บริษัทด้านการรับสมัครงาน ในปี 2016 พบว่า 1 ใน 4 ของเพศหญิง ถูกถามถึงแผนการแต่งงาน รวมไปถึงการมีลูกในการสัมภาษณ์เข้าทำงาน โดยภายใต้กฎหมายเกาหลีใต้นั้น หากผู้หญิงถูกไล่ออกเนื่องจากแต่งงาน ตั้งครรภ์ หรือมีบุตร บริษัทอาจต้องโทษจำคุกสูงสุด 5 ปี หรือเสียค่าปรับถึง 26,500 ดอลลาร์ หรือประมาณ 831,000 บาท ชเวมีจิน ประธานศูนย์กฎหมายสนับสนุนแรงงานสตรี กล่าวว่า สังคมเกาหลีใต้ถูกครอบงำด้วยคตินิยมในบทบาทของเพศ เพศชายมีหน้าที่หาเลี้ยงครอบครัว ขณะที่ เพศหญิงอยู่บ้านเลี้ยงลูกและทำงานบ้าน นี่จึงเป็นเหตุผลว่า ทำไมยังมีการเหยียดเพศในการสมัครงานและจะยังมีต่อไป

นอกจากนั้น แม้บริษัทที่กระทำการเช่นนี้จะถูกพบความผิดจริง โทษที่แท้จริงก็ไม่ได้ระคายเคืองบริษัทแต่อย่างใด อย่างกรณีธนาคารกุกมิน หลังศาลพบว่าบริษัทมีความผิดในการปฏิเสธผู้เข้าสมัครเพศหญิงจำนวน 112 คนโดยมิชอบ โทษที่ธนาคารได้รับคือการเสียค่าปรับเพียง 4,500 ดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 141,000 บาท ซึ่งพักกวีชอน ศาสตราจารย์ด้านกฎหมายกล่าวว่า ด้วยเหตุนี้บรรดาบริษัทจึงมีแนวคิดที่ว่าจะยอมจ่ายค่าปรับที่ไม่แพง และทำสิ่งที่อยากทำดีกว่า

ความซับซ้อนยังไม่จบเพียงเท่านั้น เพราะการสมัครงานที่ว่ายากแล้ว การที่ผู้หญิงคนหนึ่งซึ่งถูกเหยียดเพศจะฟ้องร้องดูจะเป็นสิ่งที่ยากกว่ากันหลายเท่า แม้ว่าหน่วยงานที่ตรวจสอบเรื่องการเหยียดเพศนั้นประกอบไปด้วย คณะกรรมาธิการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และกระทรวงแรงงานและการจ้างงาน แต่ในความเป็นจริงมีเพียงกระทรวงแรงงานและการจ้างงานเท่านั้นที่มีอำนาจในการสั่งการลงโทษ

พักกวีชอนกล่าวเพิ่มเติมว่า เอกสารที่เกี่ยวกับทรัพยากรมนุษย์แทบทั้งหมดไม่มีการเปิดเผย จึงแทบไม่รู้เลยว่าประชาชนคนหนึ่งจะสามารถขอเอกสารอะไรได้บ้าง มีหลายกรณีที่เอกสารไม่เพียงพอทำให้บริษัทที่ถูกฟ้องร้องได้รับบทลงโทษเพียงเล็กน้อย ส่งผลให้ผู้หญิงจำนวนมาก ไม่กล้าแม้จะเปิดเผยเรื่องการเหยียดเพศ เนื่องจากกลัวผลที่จะตามมาหรือการหางานที่ยากขึ้นในอนาคตถ้าเกิดทำให้การเหยียดเพศเป็นเรื่องสาธารณะ

เหยื่อการเหยียดเพศวัย 23 ปีรายหนึ่ง ซึ่งขอไม่เปิดเผยนามกับสำนักข่าว CNN กล่าวว่า เธอไม่กล้าที่จะเปิดเผยหรือฟ้องร้องการเหยียดเพศ เนื่องจากได้ยินมาว่าเคยมีผู้หญิงที่ทำแบบนั้นแล้วถูกลดตำแหน่ง หรือไม่ก็ถูกย้ายไปยังตำแหน่งที่ไม่เหมาะสม เธอรู้สึกว่าถึงจะไปเรียกร้องก็ไม่มีผลอยู่ดี จึงคิดว่าการกระทำแบบนั้นจะทำให้เธอกลายเป็นตัวประหลาดไปเสียเปล่าๆ

แม้ว่าอุปสรรคที่เพศหญิงต้องเอาชนะมีมากมายเหลือเกิน แต่ผู้หญิงหลายคนเริ่มออกมามีปากเสียง กดดันให้รัฐบาลดำเนินการแก้ไขปัญหาอย่างจริงจังมากขึ้น มีทั้งในกรณีแฮชแท็ก #MeToo และการต่อสู้ของภาคสตรีต่อการแอบถ่ายอย่างผิดกฎหมาย และการตีความมาตรฐานความสวยของเพศหญิง ซึ่งตั้งแต่ช่วงหน้าร้อนที่แล้วบริษัทที่อยู่ภายใต้รัฐบาลถูกบังคับให้เปิดเผยสัดส่วนผู้สมัครงานเพศชายและหญิง ขณะที่ ธนาคารต่างๆ ก็ต้องเปิดเผยตัวเลขการจ้างงานเพื่อเป็นการป้องการการเหยียดเพศในการรับสมัครงาน

กระทรวงความเท่าเทียมทางเพศและครอบครัวแถลงเกี่ยวกับแนวทาง 'ความเสมอภาคทางเพศในการจ้างงาน' ว่าจะสามารถบังคับใช้กับบริษัทเอกชนได้ภายในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ ขณะที่ กฎหมายเพิ่มการลงโทษต่อบริษัทที่พบว่ามีการเหยียดเพศในการสมัครงาน กำลังอยู่ภายใต้การพิจารณาของคณะกรรมการ หากร่างดังกล่าวผ่านการอนุมัติ โทษปรับพื้นฐานก็จะปรับขึ้นมาอยู่ที่ 27,000 ดอลลาร์ หรือประมาณ 846,000 บาท และจำคุกไม่เกิน 5 ปี

แม้การปรับเปลี่ยนทางกฎหมายจะเป็นส่วนสำคัญ แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดคือภาคสังคม ซึ่งดูเหมือนว่าจะไม่ใช่เรื่องง่ายสำหรับสังคมเกาหลีใต้ เพราะสิ่งที่ยากที่สุดคือการเปลี่ยนสิ่งที่อยู่ภายในจิตใต้สำนึกของคน สุดท้ายแล้ว มนุษยชาติคงไม่สามารถไปถึงความฝันของความเท่าเทียมได้ ถ้าเพศชายไม่ให้ความร่วมมือ และยอมถอยจากสิทธิพิเศษที่เคยได้รับมาตั้งแต่บรรพบุรุษ


Voice TV
กองบรรณาธิการ วอยซ์ทีวี
185Article
76559Video
0Blog