การทำธุรกรรมการเงินแบบดิจิทัล สิ่งที่สำคัญมากๆเลยก็คือเรื่องของความปลอดภัยที่จะทำให้ลูกค้ามั่นใจว่าจะไม่ถูกมิจฉาชีพขโมยข้อมูลเอาไปใช้ประโยชน์ และไทยก็ยังคงมีปัญหาเรื่องที่จะทำให้ลูกค้ามั่นใจที่จะทำธุรกรรมการเงินแบบดิจิทัล จากผลสำรวจของบริษัทวิเคราะห์ความเสี่ยงในการทำธุรกิจ
บริษัทเอ็กซ์พีเรียน (Experian) ซึ่งเป็นบริษัทรวบรวมข้อมูลเพื่อวิเคราะห์ความเสี่ยงในการทำธุรกิจ ได้สำรวจดัชนีความไว้ใจของระบบการเงินดิจิทัลใน 10 ประเทศ ซึ่งประกอบด้วย นิวซีแลนด์, ออสเตรเลีย, ญี่ปุ่น, อินเดีย, จีน, ฮ่องกง, สิงคโปร์, อินโดนีเซีย, ไทย และ เวียดนาม โดยได้ทำแบบสอบถามกับลูกค้าของบริษัทกว่า 80 แห่ง จำนวน 3,200 คน ซึ่งผลที่ออกมาก็ปรากฎว่าไทยได้คะแนนไม่ค่อยดีเท่าไร โดยได้คะแนนเพียง 2.3 เต็ม 10 คะแนน และได้อันดับ 8 จากทั้งหมด 10 ประเทศ เนื่องจากไทยมีคดีหลอกลวงการทำธุรกรรมทางดิจิทัลค่อนข้างมาก และผู้ตอบแบบสอบถามจำนวนมาก ก็บอกว่าไม่ได้รับการช่วยเหลือจากเจ้าหน้าที่รัฐเท่าที่ควร เมื่อไปแจ้งความ ซึ่งการหลอกลวงส่วนใหญ่เป็นการคัดลอกข้อมูลบัตรเครดิทเพื่อนำไปสวมรอยใช้ต่อ
บริษัทเอ็กซ์พีเรียนซึ่งก่อนหน้านี้เน้นการวบรวมข้อมูลธุรกรรมดิจิทัลในยุโรปและสหรัฐฯ ได้หันมาให้ความสำคัญกับการรวบรวมข้อมูลในเอเชียมากขึ้น โดยเฉพาะในไทยและอินโดนีเซีย ที่การค้าออนไลน์กำลังเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่องและมีคนทำธุรกรรมทางดิจิทัลมากขึ้น ทำให้ไทยเป็นเป้าหมายของกลุ่มมิจฉาชีพ แม้ว่าไทยจะเริ่มใช้มาตรการหลายอย่างเพื่อต่อสู้กับการโจรกรรมธุรกรรมการเงินทางดิจิทัล ไม่ว่าจะเป็นการใช้ระบบไบโอเมทริกซ์ หรือการใช้ข้อมูลชีวภาพบนบัตรต่างๆเพื่อยืนยันตัวตนผู้ใช้งาน หรือการใช้บัตรประชาชนยืนยันเมื่อซื้อซิมการ์ดโทรศัพท์มือถือ แต่ปัญหาของไทยคือยังขาดกฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ทำให้ข้อมูลของลูกค้า ทั้งข้อมูลส่วนตัวหรือข้อมูลธุรกรรมทางการเงินอาจเล็ดรอดไปถึงมือมิจฉาชีพและใช้ปลอมแปลงได้
การป้องกันในเบื้องต้น ผู้ที่ทำธุรกรรมต่างๆทางดิจิทัล ก็ควรระวังไม่บอกชื่อบัญชีและรหัสผ่านให้ผู้อื่นรู้ โดยเฉพาะคนใกล้ตัว บางทีเราคิดว่าคนใกล้ตัวไว้ใจได้ แต่ผลสำรวจพบว่าการหลอกลวงทางดิจิทัลส่วนมากเกิดจากคนใกล้ชิด หรือการหลอกลวงจากคนที่มีชื่อเสียงก็มีมากขึ้น ขณะที่ธนาคารพาณิชย์ต่างๆควรจะมีการตรวจสอบข้อมูลผู้ใช้งานให้รัดกุมมากขึ้น เวลาที่มีการขอเปลี่ยนรหัส หรือมีการทำธุรกรรมทางการเงินที่ผิดไปจากปกติ เช่น มีจำนวนเงินมากเป็นพิเศษ หรือผิดที่ผิดทาง เช่นตอนบ่ายเจ้าของบัญชีอยู่ในไทย แต่ตอนเย็นมีการทำธุรกรรมจากต่างประเทศ ซึ่งหากเกิดขึ้น เจ้าหน้าที่ธนาคารควรรีบติดต่อเจ้าของบัญชีทันทีเพื่อตรวจสอบ
แต่สิ่งสำคัญที่สุดคือหน่วยงานของรัฐจำเป็นที่จะต้องก้าวให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงของการเงินระบบดิจิทัล เพราะหลังจากนี้จะมีคนหันมาทำธุรกรรมการเงินทางดิจิทัลมากขึ้นเรื่อยๆ เช่นเดียวกับกลุ่มมิจฉาชีพที่จะหันมาหลอกลวงเงินทางดิจิทัลในรูปแบบใหม่ๆอย่างต่อเนื่อง