งานวิจัยบ่งชี้ว่าการเท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ที่กำลังเป็นที่นิยมในประเทศแถบเอเชียจะทำรายได้ให้ภูมิภาคนี้มากกว่า10,000 ล้านบาทภายใน 5 ปีข้างหน้า
บริษัทสำรวจและวิจัยด้านการตลาด Market Research Report เผยผลประเมินสถานการณ์การท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ในเอเชียภายในปี 2022 ซึ่งระบุว่าธุรกิจในกลุ่มนี้จะเติบโตและสร้างรายได้ให้กับแต่ละประเทศในภูมิภาครวมกว่า 14,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 476,000 ล้านบาท โดยอ้างอิงจากอัตราการเติบโตของการท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ใน 5 ประเทศหลักที่เป็นจุดหมายปลายทางที่ชาวต่างชาตินิยมเดินทางมาใช้บริการกันมากที่สุด ได้แก่ อินเดีย มาเลเซีย สิงคโปร์ ไทย และเกาหลีใต้
รายงานดังกล่าวระบุด้วยว่าอินเดียเป็นประเทศที่รองรับชาวต่างชาติซึ่งต้องการเดินทางมาพักผ่อนพร้อมกับเข้ารับบริการทางการแพทย์มากที่สุดราว 64 ประเทศทั่วโลก และรัฐบาลอินเดียมีนโยบายส่งเสริมการท่องเที่ยวในกลุ่มนี้เพิ่มเติม โดยล่าสุดมีการปรับนโยบายการอนุมัติวีซ่าให้แก่นักท่องเที่ยวจากหลายประเทศ โดยเปลี่ยนจากการขอวีซ่าล่วงหน้ามาเป็นการขอวีซ่าที่จุดตรวจคนเข้าเมือง รวมถึงอนุญาตให้ชาวต่างชาติที่เดินทางมาใช้บริการด้านการแพทย์อยู่ในประเทศได้นานถึง 30 วัน และสามารถขยายเวลาพำนักอาศัยได้นานถึง 1 ปีในกรณีที่ต้องรับการรักษาพยาบาลต่อเนื่อง
ขณะที่สิงคโปร์และไทยเป็นประเทศที่มีนโยบายชัดเจนในการส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ ทำให้ธุรกิจดังกล่าวใน 2 ประเทศมีแนวโน้มจะเติบโตเพิ่มขึ้นได้อีก แต่ไทยอาจได้เปรียบสิงคโปร์ตรงที่บริการที่พักอาศัยและค่าครองชีพด้านอื่นๆ ยังถูกกว่าสิงคโปร์ ซึ่งเป็นอีกตัวเลือกหนึ่งซึ่งจะดึงดูดชาวต่างชาติได้มากกว่า แต่อาจจะยังเป็นรองอินเดีย
คณะผู้ทำวิจัยระบุว่ารายงานฉบับนี้รวบรวมข้อมูลจากการสัมภาษณ์ การตอบแบบสอบถาม และอ้างอิงข้อมูลจากวารสารด้านการแพทย์ระดับประเทศ โดยเนื้อหาในส่วนที่เกี่ยวข้องกับประเทศไทยระบุว่า มีชาวต่างชาติจาก 15 กลุ่มประเทศที่นิยมเดินทางมาใช้บริการการท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ในไทย ได้แก่ ญี่ปุ่น สหรัฐฯ เกาหลีใต้ อังกฤษ ไต้หวันและจีน ออสเตรเลีย ฝรั่งเศส เยอรมนี แคนาดา รวมถึงกลุ่มประเทศในแถบเอเชียใต้ ยุโรปตะวันออก และสแกนดิเนเวีย
ขณะที่ก่อนหน้านี้ องค์การอนามัยโลกก็เคยประเมินสถานการณ์ด้านการแพทย์และสาธารณสุขในประเทศไทยเช่นกัน โดยรายงานเมื่อปี 2014 ระบุว่าการท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ในไทยต้องรับมือกับกลุ่มลูกค้าหลายประเภท ซึ่งมีทั้งผู้ที่ประสบปัญหาสุขภาพร้ายแรงและต้องการรักษาพยาบาลอย่างต่อเนื่อง รวมไปจนถึงผู้ใช้บริการด้านเสริมความงาม เช่น ชาวต่างชาติจากอเมริกาเหนือและยุโรปนิยมเดินทางมารับการรักษาพยาบาลต่อเนื่อง ขณะที่กลุ่มผู้ใช้บริการจากตะวันออกกลาง โดยเฉพาะสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ นิยมเข้ารับบริการด้านการผ่าตัดและตรวจสุขภาพหัวใจและระบบทางเดินอาหาร
อย่างไรก็ตาม องค์การอนามัยโลกตั้งข้อสังเกตว่าการส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ในประเทศไทย อาจส่งผลกระทบต่อระบบสาธารณสุขภายในประเทศได้ เพราะปัญหาขาดแคลนแพทย์และการกระจุกตัวของแพทย์เฉพาะในเขตเมืองใหญ่ เป็นปัญหาเรื้อรังของไทยมานาน ขณะที่รายได้จากธุรกิจดังกล่าวไม่ได้ถูกนำไปใช้ในการจัดการหรือบำรุงรักษาระบบสาธารณสุขภายในประเทศมากนัก แต่กลับไปส่งเสริมการเติบโตของอุตสาหกรรมท่องเที่ยวและที่พักอาศัยแทน