หลังจากที่ทรัมป์ได้เซ็นคำสั่งขึ้นภาษีเหล็กและอลูมิเนียมนำเข้า เรื่องนี้ก็มีผลกระทบไปทั่วโลก โดยเฉพาะประเทศที่ส่งออกเหล็กจำนวนมากไปยังสหรัฐฯ หรือแม้แต่ไทยเอง ที่ไม่ได้ส่งออกเหล็กไปสหรัฐฯ มากเท่าไรก็จะได้รับผลกระทบตามไปด้วยเหมือนกัน เพราะมันจะทำให้เกิดภาวะเหล็กล้นตลาด และเหล็กพวกนี้ที่ส่งขายไปสหรัฐฯ ไม่ได้ก็อาจจะถูกส่งมาขายในไทยแทน แล้วประเทศไทยจะหาทางออกเกี่ยวกับปัญหานี้อย่างไร ?
คำสั่งขึ้นภาษีเหล็กนำเข้า 25% และอลูมิเนียม 10% ของสหรัฐฯจะเริ่มมีผลบังคับใช้ในวันที่ 23 มีนาคมนี้แล้ว ซึ่งหลายๆ ประเทศที่เป็นผู้ผลิตและส่งออกเหล็กรายใหญ่ของโลกก็กำลังวิพากษ์วิจารณ์นโยบายนี้กันอย่างดุเดือดว่าเป็นการก่อให้เกิดสงครามการค้า และก็เตรียมที่จะหามาตรการตอบโต้กลับไปยังสหรัฐฯ อย่างอียูหรือสหภาพยุโรปก็ออกมาขู่ว่าจะขึ้นภาษีสินค้านำเข้าจากสหรัฐฯ หลายรายการ ไม่ว่าจะเป็น มอเตอร์ไซค์ฮาร์เลย์-เดวิดสัน , เสื้อผ้าแบรนด์อเมริกัน อย่างกางเกงยีนส์ลีวายส์ และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ของสหรัฐฯ ด้วย ซึ่งการตอบโต้กันไปมาแบบนี้ก็จะทำลายบรรยากาศการค้าแบบเสรี และนำไปสู่การทำสงครามการค้าที่ไม่เป็นผลดีกับประเทศไหนทั้งสิ้น
ส่วนผลกระทบต่อไทยในทันทีจะยังมีไม่มาก เนื่องจากมูลค่าส่งออกเหล็กของไทยไปสหรัฐฯ อยู่ที่ประมาณ 10,000 ล้านบาท ถือว่าไม่มากเท่าไร หากเทียบกับประเทศอื่นๆ และในช่วง 1-3 เดือนแรกของการขึ้นภาษี ผู้ผลิตเหล็กในสหรัฐฯ จะยังไม่สามารถปรับตัวเพิ่มการผลิตให้เพียงพอต่อความต้องการได้ทัน ทำให้ยังต้องพึ่งพาการนำเข้าอยู่ดี แต่ว่าผลกระทบในระยะยาวจะมีความชัดเจนมากขึ้น เนื่องจากผู้ผลิตในสหรัฐฯ จะเริ่มปรับตัวได้แล้ว และทำให้พึ่งพาการนำเข้าเหล็กจากต่างประเทศน้อยลง ซึ่งก็จะทำให้การส่งออกเหล็กของไทยไปยังสหรัฐฯ ได้รับผลกระทบโดยตรง โดยเหล็กที่ไทยส่งออกไปสหรัฐฯ ส่วนใหญ่เป็น ท่อเหล็กรีดเย็นและเหล็กแผ่นเคลือบสังกะสี ที่จะได้รับผลกระทบประมาณ 380,000 ตัน ที่จะส่งออกไปสหรัฐฯไม่ได้ คิดเป็นมูลค่าประมาณ 10,400 ล้านบาท
นอกจากนี้ ในระยะยาวก็จะเกิดภาวะเหล็กล้นตลาดโลก เพราะหลายประเทศส่งออกเหล็กไปสหรัฐฯ ไม่ได้ ซึ่งประเทศเหล่านี้จะยอมตัดราคาเหล็กของตัวเองที่ล้นตลาดรวมกันประมาณ 27 ล้านตัน แล้วเอาไปขายในประเทศอื่นแทน ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อห่วงโซ่อุปทานของอุตสาหกรรมเหล็กในวงกว้าง รวมทั้งในไทยด้วย เพราะหลายประเทศในเอเชียก็เป็นประเทศผู้ส่งออกเหล็กรายใหญ่ไปยังสหรัฐฯ ไม่ว่าจะเป็น เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น เวียดนาม และอินเดีย ทำให้คาดการณ์ว่าเหล็กที่ล้นตลาดตรงนี้จะถูกส่งมาขายในประเทศแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้แทนในราคาที่ถูกกว่าเหล็กที่ผลิตในไทย ทำให้เหล็กที่ผลิตในไทยก็อาจจะขายไม่ได้
กรมการค้าต่างประเทศ และสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ได้จัดการประชุมร่วมกับกลุ่มผู้ผลิตและส่งออกเหล็กของไทย เพื่อหาทางแก้ไขปัญหา โดยได้ข้อสรุปว่าจะให้ผู้ผลิตเหล็กของไทยอ้างว่าได้รับความเดือดร้อนจากการขึ้นภาษีและขอให้มีการเจรจากับผู้แทนการค้าสหรัฐฯ เพื่อขอให้สหรัฐฯ ยกเว้นการเก็บภาษีกับประเทศไทย ซึ่งก็มีความเป็นไปได้ เพราะนายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ก็ประกาศชัดเจนว่ายินดีที่จะพิจารณาการยกเว้นภาษีให้กับบางประเทศที่เป็นพันธมิตรที่ดีกับสหรัฐฯ มาอย่างยาวนาน และน่าจะรวมไทยอยู่ด้วย เพราะไทยก็เคยร่วมปกป้องความมั่นคงของสหรัฐฯ มานานแล้ว ตั้งแต่สมัยสงครามเวียดนาม และปัจจุบันก็มีบริษัทขนาดใหญ่จากสหรัฐฯลงทุนในไทยจำนวนมาก
ในส่วนเรื่องความรุนแรงของภาวะเหล็กล้นตลาดหลังจากที่การขึ้นภาษีมีผลบังคับใช้แล้ว จะรุนแรงแค่ไหนก็ขึ้นอยู่กับว่ามีกี่ประเทศที่จะได้รับการพิจารณายกเว้นการขึ้นภาษีจากสหรัฐฯ โดยขณะนี้ก็มีหลายประเทศที่เป็นพันธมิตรกับสหรัฐฯกำลังดำเนินเรื่องขอยกเว้นการถูกขึ้นภาษีอยู่ ไม่ว่าจะเป็นสหภาพยุโรป ออสเตรเลีย ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้