นักวิชาการเห็นด้วยกับการปฎิรูปประเทศ แต่เสนอให้ภาคประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมมากขึ้น ส่วนแนวทางการยุติความรุนแรงเฉพาะหน้า คือ จะต้องมีฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดยอมหยุดก่อน
การเสวนาวิชาการ "แนวทางการปฎิรูปเศรษฐกิจ การเมือง และการจัดการเลือกตั้งเพื่อก้าวพ้นวิกฤติ" จัดโดยมหาวิทยาลัยรังสิต รองศาสตราจารย์ สังศิต พิริยะรังสรรค์ คณบดีวิทยาลัยนวัตกรรมสังคม ยืนยันว่า ประเทศไทยต้องปฎิรูปโดยเร็วที่สุด โดยเฉพาะระบบพรรคการเมือง หน่วยงานตำรวจ และปัญหาความยากจน
ส่วนแนวทางการปฎิรูปประเทศของนายกรัฐมนตรี รองศาสตราจารย์ สังศิต เห็นว่า มีบทบาทเป็นเพียงแค่สภาที่ปรึกษาเท่านั้น และไม่เห็นด้วยกับรูปแบบการให้คณะกรรมการของภาครัฐ 11 คน มาคัดเลือกตัวแทนภาคประชาชน พร้อมย้ำว่า การเลือกตั้ง 2 กุมภาพันธ์ 2557 ไม่ใช่คำตอบของความขัดแย้ง แต่ควรยืดหยุ่นตามสถานการณ์
ด้านนายอนุสรณ์ ธรรมใจ รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและบริการวิชาการ มหาวิทยาลัยรังสิต เห็นว่า การเลือกตั้งควรเดินหน้าต่อไป เพื่อไม่ให้กระบวนการประชาธิปไตยหยุดชะงัก แต่ควรส่งเสริมให้การเลือกตั้งบริสิทธิ์ยุติธรรมมากที่สุด โดยดึงภาคประชาสังคมเข้ามามีส่วนร่วมสังเกตการณ์ พร้อมย้ำว่า การปฎิรูปเป็นเรื่องเร่งด่วน ที่สามารถดำเนินการควบคู่ไปกับการเลือกตั้งได้
ส่วนความรุนแรงเฉพาะหน้าในขณะนี้ ผู้ร่วมเสวนาเสนอว่า ความรุนแรงยุติได้ด้วยการไม่ใช้อารมณ์ต่อกัน รู้จักถอยและเดินหน้าในช่วงเวลาที่เหมาะสม โดยต้องมีฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดยอมหยุดก่อน หรืออีกแนวทางคือแกนนำทั้งสองฝ่ายต้องเจรจากัน รวมทั้งต้องควบคุมไม่ให้มีการใช้อาวุธ ขณะที่สื่อมวลชนจะต้องนำเสนอข่าวตามข้อเท็จจริง และมีแหล่งข้อมูลอ้างอิงชัดเจน
ด้านนายอิสระ ว่องกุศลกิจ ประธานกรรมการหอการค้าไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ระบุ สภาปฎิรูปฯ ของรัฐบาล ยังไม่ได้รับการตอบรับจากหลายฝ่าย จึงไม่น่าจะนำไปสู่การแก้ปัญหาความขัดแย้งอย่างแท้จริง ทั้งในระยะสั้นและระยะยาว
ทั้งนี้ เรียกร้องทุกฝ่ายที่ขัดแย้งเข้าสู่กระบวนการปฏิรูปร่วมกัน โดยการพูดคุยควรนำไปสู่ข้อตกลงเกี่ยวกับองค์กรและกระบวนการปฏิรูปที่ชัดเจน ตอบโจทย์ประเทศได้ ตลอดจนสร้างความเชื่อมั่นและความไว้วางใจแก่ประชาชน พร้อมเสนอให้รัฐบาลทบทวนรูปแบบและวิธีการ โดยคำนึงถึงข้อเสนอของภาคเอกชน ที่ได้รวบรวมความเห็นของทุกฝ่ายจากเวทีกลาง เพื่อให้เกิดผลสำเร็จในการสร้างความปรองดอง