ปัญหาการค้างจ่ายเงินในโครงการรับจำนำข้าวนาปี ฤดูกาลผลิต 2556/2557 จำนวนกว่า 1 แสน 1 หมื่น 3 พันล้านบาท กลายเป็นชนวนสำคัญที่ทำให้ม็อบชาวนามุ่งหน้าเข้ากรุงเทพมหานคร เพื่อทวงเงินจำนำข้าวที่ยังไม่ได้รับ และถูกหยิบยกมาเป็นประเด็นโจมตีการทำงานของรัฐบาล นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี
ชาวนาหลายฝ่าย เห็นว่าวิธีนี้ คือ หนทางเดียวที่จะทำให้ได้รับเงินเร็วที่สุด ขณะที่ชาวนาบ้านคลองบางเลน อ.บางเลน จ.นครปฐม ได้จัดวงเสวนาพูดคุยถึงปัญหาจำนำข้าว และเห็นว่า การไปชุมนุมไม่ช่วยให้รัฐจ่ายเงินได้เร็ว กลับจะยิ่งล่าช้ามากขึ้น
ชาวนาบางราย ในอ.บางเลน ซึ่งยังไม่ได้รับเงินจากโครงการรับจำนำข้าว ยอมรับ กังวลกับปัญหาการจ่ายเงินล่าช้า แต่ยังเชื่อว่าจะได้รับเงินจำนำข้าวที่ค้างอยู่กว่า 2 แสนบาท เพราะมีใบประทวนเป็นหลักฐานในการรับเงิน และต้องการให้ทุกฝ่ายหาทางออกร่วมกัน เพื่อช่วยเหลือชาวนาที่จะต้องขายข้าวในราคาต่ำ เนื่องจากไม่มีนโยบายดูแลแล้ว
ท่ามกลางแรงกดดันจากชาวนา รัฐบาลได้พยายามเสนอแนววิธีการแก้ไขเพื่อหาทางออก โดยนายนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล รองนายกฯและรมว.พาณิชย์ ระบุมี 3 แนวทางช่วยเหลือชาวนา
แนวทางแรก คือ การคืนข้าวให้แก่ชาวนา หากชาวนาประสงค์จะรับข้าวคืน ,แนวทางที่ 2 คือ โรงสีปล่อยกู้ให้ชาวนาโดยใช้ใบประทวนเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกัน ร้อยละ 50 ซึ่งอยู่ระหว่างหารือถึงรายละเอียดกับทางสมาคมโรงสี รวมทั้งขอความเห็นชอบจากคณะกรรมการการเลือกตั้ง หรือ กกต. ส่วนแนวทางสุดท้าย คือเสนอให้เปิดโกดังขายข้าวทั้งหมดในราคาต่ำกว่าตลาด เพื่อนำเงินมาใช้หนี้ชาวนา โดยอาจมีเงื่อนไขพิเศษ ซึ่งทั้ง 3 แนวทาง ยังไม่มีการตอบรับที่ชัดเจน
นายกำจร เพชรยวน นายกสมาคมเกษตรกรไทย เชื่อว่า ในที่สุดรัฐบาลซึ่งเป็นผู้รับจำนำ จะสามารถหาเงินมาจ่ายคืนให้แก่ชาวนาได้ และไม่ต้องการให้กลุ่มใดขัดขวางการทำงานของภาครัฐที่จะก่อให้เกิดความล่าช้ายิ่งขึ้น แต่ยอมรับว่าโครงการรับจำนำที่ผ่านมา เกิดปัญหาทุจริตคอร์รัปชั่นสูง หากจะนำกลับมาใช้อีกครั้ง ต้องปรับปรุงแก้ไข
นายกสมาคมเกษตรกรไทย เห็นว่า สิ่งสำคัญที่สุดขณะนี้ คือ การสร้างความมั่นใจให้กับชาวนาที่ยังไม่ได้รับเงินว่าจะได้รับการดูแลอย่างไรจากภาครัฐ ขณะที่ชาวนาเอง ต้องไม่ตกเป็นเครื่องมือของนักการเมืองไม่ว่าจะเป็นฝ่ายใด จนทำให้สังคมเกิดความแตกแยกมากขึ้น