ช่วงปลายเดือนนี้จะมีการจัดมหกรรมสตรีทฟู้ดโลกที่ประเทศฟิลิปปินส์ ขณะที่ในประเทศไทยยังมีการตั้งคำถามว่าควรจะส่งเสริมหรือจัดการสตรีทฟู้ดกันอย่างไร ทำให้มีผู้เชี่ยวชาญออกความเห็นต่อกระแสสตรีทฟู้ดที่แบ่งแยกออกเป็น 2 ขั้วในอาเซียนได้อย่างน่าสนใจ
มหกรรมสตรีทฟู้ดโลก หรือ World Street Food Congress เป็นงานรวมอาหารสตรีทฟู้ดจากพื้นที่ต่างๆ ทั่วโลก ซึ่งภาคเอกชนของสิงคโปร์เป็นเจ้าภาพจัดขึ้นทุกปี นับตั้งแต่ปี 2013 เป็นต้นมา โดยในปีนี้จะจัดขึ้นตั้งแต่วันที่ 31 พฤษภาคม จนถึง 4 มิถุนายน โดยจะมีเชฟชื่อดังหลายราย เช่น แอนโทนี บอร์เดน จากสหรัฐฯ และจอห์นนี ชาน จากจีน เข้าร่วมด้วย ทำให้งานนี้ได้รับการรายงานข่าวจากสื่อระดับโลกหลายแห่ง
แต่ที่สำคัญคืองานนี้จะช่วยส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงอาหารในหลายประเทศแถบอาเซียน เพราะในตอนแรกงานจัดที่สิงคโปร์ และย้ายไปจัดที่ฟิลิปปินส์ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ทั้งยังมีการเชิญตัวแทนด้านอาหารของประเทศต่างๆ ไปเข้าร่วมด้วย ส่วนคนไทยที่จะไปร่วมงานในปีนี้คือคุณแอนดี้ ยังเอกสกุล ซึ่งเป็นเชฟระดับมิชลินสตาร์คนหนึ่ง
ถึงแม้ว่ากระแสสตรีทฟู้ดจะได้รับการส่งเสริมในฐานะกลไกขับเคลื่อนการท่องเที่ยวในหลายประเทศ แต่ขณะเดียวกันก็มีความพยายามที่จะจัดระเบียบหรือควบคุมสตรีทฟู้ดเกิดขึ้นเช่นกัน ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา มีการจัดงานเสวนาเกี่ยวกับอนาคคตสตรีทฟู้ดไทยที่สมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศ และมีความคิดเห็นที่น่าสนใจจากผู้เข้าร่วมงานหลายฝ่าย
คุณปิยะลักษณ์ นาคะโยธิน บรรณาธิการหนังสือ Street Food 39 อร่อยไม่เกิน 100 ระบุว่าอาหารข้างทางหรือสตรีทฟู้ดเป็นวัฒนธรรมที่อยู่คู่กับคนไทยมานาน และอาหารการกินในแต่ละย่านมีความผูกพันกับวิถีชุมชน ซึ่งทำให้เกิดความมีชีวิตชีวา และเป็นสิ่งหนึ่งที่ดึงดูดให้นักท่องเที่ยวชาวต่างชาติเข้ามาลิ้มลอง แต่หากมีการจัดระเบียบจากรัฐเข้ามา อาจทำให้ความมีชีวิตชีวาเหล่านั้นสูญหายไป
อย่างไรก็ตาม คุณเดวิด ทอมป์สัน เชฟระดับมิชลินสตาร์ จากร้าน Nahm ในกรุงเทพฯ ซึ่งได้รับการยกย่องว่าเป็นร้านอาหารยอดเยี่ยม 50 อันดับของเอเชีย ระบุว่า สตรีทฟู้ดในไทยเป็นสิ่งหนึ่งที่ดึงดูดให้เขาสนใจทำอาหารไทย แต่ปัญหาของสตรีทฟู้ดไทยในปัจจุบันคือการควบคุมคุณภาพที่ไม่ดีเท่าเดิม เนื่องจากราคาสตรีทฟู้ดไม่ได้เปลี่ยนแปลงมานานแล้ว แต่ราคาเครื่องปรุงและต้นทุนต่างๆ กลับสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้ผู้ขายสตรีทฟู้ดจำต้องปรับสูตรหรือลดการควบคุมคุณภาพลง
ขณะที่คุณฟิลิป คอร์นเวล-สมิธ ผู้เขียนหนังสือ Very Thai ซึ่งรวบรวมวัฒนธรรมที่ไม่เป็นทางการของสังคมไทยยุคใหม่ และได้รับการแปลเป็นภาษาอื่นๆ หลายภาษา มองว่าสตรีทฟู้ดไม่ได้เป็นแค่เรื่องของวัฒนธรรม แต่เป็นสิ่งที่คนในเมืองใหญ่ต้องพึ่งพาอาศัย โดยเฉพาะในกรุงเทพฯ ซึ่งอาคารบ้านเรือนหลายแห่งไม่ได้เอื้อต่อการทำอาหารเอง และการเดินทางที่ใช้เวลานานในแต่ละวัน ทำให้พ่อบ้านหรือแม่บ้านจำนวนมากไม่สามารถทำอาหารได้ สตรีทฟู้ดซึ่งถูกมองว่าเป็นอาหารถุงพลาสติกจึงจำเป็นต่อหลายครอบครัว
อย่างไรก็ตาม วิธีคิดแบบนี้เริ่มเปลี่ยนแปลงไป โดยเฉพาะในหมู่ชนชั้นกลางที่มองว่าสตรีทฟู้ดไม่ใช่อาหารคุณภาพ เช่น มีการใช้น้ำมันซ้ำ ไม่ดีต่อสุขภาพ และการที่ผู้ขายสตรีทฟู้ดล้างภาชนะริมถนนทำให้เกิดความสกปรก ส่งผลให้คนจำนวนมากไม่พอใจและต้องการให้รัฐบาลเข้าจัดระเบียบสตรีทฟู้ด ขณะที่หน่วยงานรัฐก็อาจจะมองว่าสตรีทฟู้ดไม่ใช่วัฒนธรรมชั้นสูง และเป็นความไร้ระเบียบ จึงไม่ควรจะได้รับการยกย่องให้เป็นหน้าเป็นตาของประเทศ
ความพยายามที่จะกำจัดหรือควบคุมสตรีทฟู้ดไม่ได้มีแค่ในประเทศไทยเท่านั้น แต่รวมถึงที่เวียดนาม อินโดนีเซีย และบางส่วนของฟิลิปปินส์ ซึ่งล้วนเป็นประเทศที่กำลังพัฒนา และมีการแข่งขันกันเองภายในภูมิภาค ซึ่งในประเทศอื่นๆ อาจมีวิธีจัดการสตรีทฟู้ดที่แตกต่างกัน แต่ที่ผ่านมา การจัดระเบียบต่างๆ ของรัฐบาลไทย มักใช้วิธีย้ายจากที่หนึ่งไปอีกที่หนึ่ง ซึ่งมักจะห่างไกลหรือตัดขาดจากวิถีชีวิตเดิมของผู้ที่ถูกย้าย จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องหาทางแก้ปัญหาไม่ให้ซ้ำรอยเดิม โดยที่คุณฟิลิป คอร์นเวล-สมิธ ได้ยกตัวอย่างการจัดการพื้นที่ในย่านรัชดา ซึ่งมีการจัดตั้งฟู้ดคอร์ท มีการเช่าพื้นที่อย่างเป็นกิจจะลักษณะ ทำให้ผู้ขายอาหารยังมีพื้นที่ และคนในชุมชนก็ได้รับประโยชน์จากอาหารสตรีทฟู้ดเหล่านี้ด้วยเช่นกัน