สื่อกัมพูชาระบุว่าแรงงานชาวกัมพูชาถูกรัฐบาลไทยส่งตัวกลับประเทศจำนวนมาก ด้านนักสิทธิมนุษยชนชี้กระบวนการขอใบอนุญาตทำงานของแรงงานต่างชาติในไทยมีความยุ่งยากซับซ้อน และยังพบการทุจริตคอรัปชั่น
เว็บไซต์ขะแมร์ไทม์สของกัมพูชา รายงานว่าไตรมาสแรกของปี 2017 มีชาวกัมพูชาที่อาศัยอยู่ในไทย ถูกส่งตัวกลับผ่านชายแดนปอยเปต-อรัญประเทศ ทั้งหมดกว่า 14,000 คน โดยในจำนวนนี้ เป็นผู้หญิงเกือบ 5,000 คน เด็ก 1,500 คน เนื่องจากหลายคนสับสนเกี่ยวกับกระบวนการขอสถานะแรงงานถูกกฎหมายในไทย
ผู้บัญชาการสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองตำบลปอยเปตของกัมพูชาระบุว่า ในแต่ละเดือน มีชาวกัมพูชาถูกทางการไทยส่งตัวกลับจำนวนมาก โดยชาวกัมพูชาที่ถูกส่งตัวกลับส่วนใหญ่เป็นผู้อยู่อาศัยในไทยอย่างผิดกฎหมาย ข้ามแดนผิดกฎหมาย และบางส่วนถูกโกงโดยบริษัทนายหน้าจัดหางานที่โกหกว่าหางานให้ในไทย แต่กลับเป็นงานที่ไม่มีอยู่จริง ทำให้ขณะนี้ ชาวกัมพูชาไม่เชื่อบริษัทนายหน้าจัดหางานของไทย
ดี โธย ยา นักต่อสู้ด้านสิทธิมนุษยชนชาวกัมพูชาระบุว่า ชาวกัมพูชาบางคนเลือกที่จะเข้ามาในไทยอย่างผิดกฎหมาย เนื่องจากไม่สามารถจ่ายเงินค่าธรรมเนียมในการทำเอกสารได้ และบางคนสับสนในกระบวนการขอใบอนุญาตทำงานและอาศัยในไทย โดยการทำเอกสาร เช่นทำพาสปอร์ต หรือ เอกสารอื่นๆ มีค่าทำเอกสารอย่างน้อย 300 ดอลลาร์ หรือ 10,000 บาทในกัมพูชา
นายอานดี ฮอลล์ นักสิทธิแรงงานชาวอังกฤษที่เคยทำงานอยู่ในไทย แต่ปัจจุบันได้ย้ายออกจากไทยไปแล้ว ระบุว่า ไทยยังมีปัญหาเรื่องหลักนิติธรรมในการใช้กฎหมายด้านการย้ายถิ่นฐาน โดยพบการทุจริตคอรัปชั่นอย่างเป็นระบบระหว่างประเทศเพื่อนบ้านและไทย ผ่านระบบราชการที่ซับซ้อน สร้างความสับสนทั้งคนงานและนายจ้าง โดยมักพบกรณีที่มีการเปลี่ยนนายจ้าง
สำหรับราคาการจัดทำเอกสารที่สูง นายฮอลล์ชี้ว่า เป็นผลมาจากการคอรัปชั่น ซึ่งบางครั้งอาจมีการติดสินบนเจ้าหน้าที่เพื่อให้เดินเอกสารให้ อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ดังกล่าวในปัจจุบันดีขึ้นกว่าเมื่อก่อนมาก
ด้านความซับซ้อนของกระบวนการขอใบอนุญาตทำงาน นายฮอลล์ระบุว่ากฎหมายไทยกำหนดให้การเปลี่ยนแปลงนายจ้างซับซ้อนอย่างมาก เช่นแรงงานในภาคอุตสาหกรรมอาหารทะเลไทยไม่ได้รับอนุญาตให้เปลี่ยนนายจ้างได้ เนื่องจากรัฐบาลไทยกังวลว่า อาจขาดแคลนแรงงานในภาคอุตสาหกรรมดังกล่าว
ปัจจุบัน ไทยและกัมพูชากำลังทำงานร่วมกันในการเปลี่ยนแปลงระบบ เพื่อเอื้ออำนวยให้ชาวกัมพูชาทำงานได้อย่างถูกกฎหมายในไทยมากขึ้น โดยเว็บไซต์ขะแมร์ไทม์สกล่าวว่า สิ่งที่ทำให้ขั้นตอนซับซ้อนคือ บัตรสีชมพู ที่รัฐบาลประกาศใช้ในปี 2014 ซึ่งเป็นบัตรที่ออกให้ชั่วคราวแก่แรงงานต่างด้าวที่หลบหนีเข้าเมือง สัญชาติพม่า ลาวและกัมพูชา โดยอนุญาตให้ทำงานได้ 2 ประเภท คือ งานกรรมกร และคนรับใช้ในบ้าน จนกว่าจะได้รับการพิสูจน์สัญชาติและได้รับเอกสารรับรองสถานะจากประเทศต้นทาง
อย่างไรก็ตาม เว็บไซต์ขะแมร์ไทม์ส ระบุว่า บัตรดังกล่าวพัวพันกับการทุจริตคอรัปชั่นของเจ้าหน้าที่ จนทำให้แรงงานหลายแสนคนที่เข้ามาในไทยอย่างถูกต้อง กลายเป็นแรงงานผิดกฎหมาย
ก่อนหน้านี้ในปี 2558 พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวถ้อยแถลงในการประชุมสุดยอดผู้นำโลกเพื่อลงมติรับรองวาระการพัฒนาหลังปี 2558 ของสหประชาชาติ (UN Summit to adopt the Post-2015 Development Agendas) โดยกล่าวถึงเจตจำนงทางการเมืองของไทยในการร่วมขับเคลื่อนวาระการพัฒนาที่ยั่งยืนของโลกสำหรับ 15 ปีข้างหน้า
พลเอกประยุทธ์ย้ำว่ารัฐบาลจะให้การคุ้มครองทางสังคม ไม่เฉพาะคนไทย แต่รวมทั้งแรงงานต่างด้าว โดยไทยจัดให้มีการลงทะเบียนแรงงานต่างด้าวผิดกฎหมายเพื่อเข้าสู่ระบบการจ้างงานมากกว่า 1.6 ล้านคน ซึ่งเป็นมาตรการที่จะช่วยป้องกันการละเมิดสิทธิมนุษยชนและแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์