ในยุคที่ธุรกิจ e-commerce หรือการขายของออนไลน์กำลังเฟื่องฟูอย่างมากทั่วโลก ในไทยก็เช่นเดียวกัน ขนาดที่ว่าร้านขายอุปกรณ์การเรียนและของใช้ภายในสำนักงานร้านเล็กๆ ยังต้องเปิดเว็บไซต์ขายของของตัวเอง เพื่อเปิดช่องทางให้เข้าถึงกลุ่มลูกค้ามากขึ้น เพราะผู้บริโภคมีแนวโน้มจะซื้อของออนไลน์มากขึ้นแบบวันต่อวัน
ความสะดวกสบาย ความรวดเร็ว และการเข้าถึงอินเตอร์เน็ตในประเทศไทยที่มากขึ้น คือเหตุผลที่ทำให้ใครๆก็หันมาสั่งสินค้าออนไลน์แทนการเสียเวลาและค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปยังหน้าร้านเพื่อซื้อสินค้า ซึ่งเมื่อเราไปดูสถิติจากเว็บไซต์ Statista.com มีการคาดการณ์จำนวนผู้บริโภคที่มีแนวโน้มจะซื้อของออนไลน์ตลอดปี 2017 นี้มากถึง 12 ล้าน 1 แสนคน และในอีก 4 ปีข้างหน้า หรือภายในปี 2021 จำนวนผู้ซื้อสินค้าออนไลน์ก็จะเพิ่มขึ้นอีก 15% เป็น 13.9 ล้านคน
จากตัวเลขทั้งหมดพบว่า กลุ่มผู้บริโภคส่วนใหญ่ที่ชอบซื้อของออนไลน์คือกลุ่มวัยรุ่นและวัยทำงาน โดยกลุ่มอายุ 25-34 ปี มีจำนวนมากถึง 4.4 ล้านคน และกลุ่มที่มีอายุ 16-24 มีจำนวนมากถึง 3.9 ล้านคน 2 กลุ่มนี้รวมกันแล้วคิดเป็น 2 ใน 3 ของผู้ซื้อสินค้าออนไลน์ทั้งหมดของประเทศไทย / อย่างไรก็ตามถ้าเทียบกับประเทศอื่นๆในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ไทยไม่ใช่ประเทศที่มีการเติบโตของธุรกิจ e-commerce สูงที่สุด อันดับหนึ่งตกเป็นของอินโดนีเซีย โดยตัวเลขการเพิ่มขึ้นของผู้ซื้อสินค้าออนไลน์จะเพิ่มขึ้นเกือบ 2 เท่าตัวในปี 2021
อีกหนึ่งประเด็นที่น่าสนใจคือ ผู้ซื้อชาวไทยมีแนวโน้มที่จะใช้จ่ายเฉลี่ยต่อคนสูงขึ้นมาก คือประมาณ 382 ดอลลาร์ หรือราว 13,200 บาทต่อคนต่อปี ซึ่เป็นตัวเลขที่สูงกว่าคาดการณ์คือ 243 ดอลลาร์ หรือ 8,400 บาทต่อคนต่อปี
ฉะนั้นถือเป็นโอกาสสำคัญของพ่อค้าแม่ค้าขายออนไลน์ทุกรูปแบบที่จะต้องศึกษาพฤติกรรมผู้บริโภคให้ดีว่าลูกค้าของตัวเองชอบซื้อของประเภทไหน เวลาใด และช่วงใดของปี เพื่อสร้างยอดขายให้เกินเป้าจากลูกค้าชาวไทยที่มีกำลังซื้อมหาศาล มี GDP เป็นอันดับ 3 ของภูมิภาค รองจากสิงคโปร์และมาเลเซียเท่านั้น ไม่ใช่แค่เพียงแบรนด์ใหม่ๆหรือเจ้าเล็กๆที่พยายามจะตีตลาดออนไลน์ แบรนด์เจ้าใหญ่อย่าง ZARA, Adidas, หรือ Uniqlo ก็บุกตลาดออนไลน์เรียบร้อยแล้วเช่นกัน ซึ่งหากเราต้องการจะศึกษาข้อมูลพฤติกรรมผู้บริโภคสินค้าออนไลน์ชาวไทยก็สามารถเข้าไปดูที่คลังข้อมูล Consumer Barometer ของ Google และบทวิเคราะห์ของ eIQ ได้เช่นเดียวกัน