อุตสาหกรรมผลิตอาหารมีความสำคัญต่อเศรษฐกิจไทยมาก เพราะแต่ละปีเราผลิตและส่งออกอาหารไปทั่วโลกเกือบ 1 ล้านล้านบาท เราเป็นผู้ส่งออกอาหารรายใหญ่เป็นอันดับ 3 ของเอเชีย เป็นรองแค่จีนกับอินโดนีเซีย อย่างตอนนี้ที่ไทยก็กำลังจัดงาน THAIFEX ซึ่งเป็นสุดยอดงานแสดงสินค้าอาหารและเครื่องดื่มของไทย จัดอยู่ที่อิมแพค เมืองทองธานี คนเยอะมาก ทั้งคนไปแสดงสินค้าและคนที่ไปเดินชมงาน ทั้งชาวไทยและก็ชาวต่างประเทศ นอกจากอาหารแล้ว ก็จะมีสินค้าพวกขนมและเครื่องดื่มด้วย โดยเฉพาะขนมประเภทลูกอมที่เมืองไทยก็มีหลากหลายยี่ห้อมาก ที่ขายดีติดตลาดมาเป็นสิบๆ ปีแล้ว ช่วง CEO's Insight เราจะไปสัมภาษณ์ผู้บริหารของบริษัทผลิตลูกอมในงาน THAIFEX ว่าเขามองการเติบโตของธุรกิจลูกอมของเมืองไทยว่าจะเป็นอย่างไร?
ขนมเป็นสินค้าทั่วไปที่ขายให้กับผู้บริโภคได้ทุกกลุ่ม ไม่ว่าจะเป็นเด็กหรือผู้ใหญ่ คนมีรายได้น้อยหรือคนมีรายได้สูง โดยเฉพาะลูกอม หรือแคนดี้ ที่เป็นที่นิยมมาอย่างยาวนาน เนื่องจากมีราคาถูก มีขนาดเล็กทำให้พกติดตัวได้ตลอดเวลา และลูกอมยังมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง จากเดิมที่เพียงแค่เป็นขนมที่ให้ความหวาน จนเริ่มพัฒนามาเป็นลูกอมที่ให้ความเย็น และให้ความสดชื่นในช่องปาก นอกจากนี้ก็ยังมีรสชาติให้เลือกหลากหลาย ทำให้ตลาดของธุรกิจลูกอม เติบโตเฉลี่ยปีละ 9% มีมูลค่ารวมตอนนี้ สูงถึง 8,729 ล้านบาท
ตลาดลูกอมสามารถแบ่งออกผลิตภัณฑ์ได้หลากหลายเซ็กเมนท์ ซึ่งแต่ละเซ็กเมนท์ก็จะมีอัตราการเติบโตที่แตกต่างกันไป ซึ่งผู้บริหารของบริษัท พงษ์จิตต์ จำกัด เจ้าของผลิตภัณฑ์ จอลลีแบร์ ที่จำหน่ายในไทยมานานกว่า 30 ปี มองว่าสิ่งสำคัญที่ทำให้ยอดขายยังไปได้ดีคือการควบคุมคุณภาพของสินค้า และการคิดค้นผลิตภัณฑ์ใหม่ๆออกมาสู่ตลาด
หากมองจากภายนอกจะเห็นว่าตลาดลูกอมเป็นธุรกิจที่ดูสดใสและมั่นคง เพราะแต่ละบริษัทก็มีกลุ่มลูกค้าที่เหนียวแน่น และดูเหมือนจะไม่ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีเท่าไร แต่ผู้บริหารของบริษัทบุญประเสริฐ คอนเฟ็คชั่นเนอรี่ จำกัด ผู้ผลิตลูกอมมายด์มินท์ บอกว่าธุรกิจลูกอมเคยต้องปรับตัวครั้งใหญ่จากการเปลี่ยนแปลงของช่องทางการขายที่ห้างค้าปลีกและร้านสะดวกซื้อเข้ามายึดครองช่องทางการกระจายสินค้าแทนที่ร้านโชห่วยแบบดั้งเดิม รวมทั้งต้องรับมือกับพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เริ่มเปลี่ยนไป เพราะมีช่องทางการรับรู้ข่าวสารและมีสินค้าทั้งจากในประเทศและต่างประเทศให้เลือกซื้อมากขึ้น
นอกจากตลาดในประเทศไทยที่เริ่มอิ่มตัวแล้ว ผู้ผลิตลูกอมในไทยส่วนมากก็ได้ขยายตลาดออกไปจำหน่ายในประเทศเพื่อนบ้านเป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดยอาจจะมีการเปลี่ยนชื่อแบรนด์ หรือเปลี่ยนรสชาติใหม่ๆเพื่อให้เข้ากับความชื่นชอบของคนท้องถิ่น ซึ่งการมาเปิดบูธที่งาน THAIFEX ที่มีการเชิญกลุ่มผู้ซื้อจากต่างประเทศกว่า 3,000 รายจากทั่วโลกมาร่วมงาน ก็เพื่อมองหาคู่ค้าจากต่างชาติที่จะช่วยเพิ่มช่องทางการขยายตลาดในต่างประเทศเพิ่มเติม
ตลาดลูกอมถือได้ว่าเติบโตอย่างมั่นคง จากที่เคยมีมูลค่าเพียง 4,000 ล้านบาทเมื่อ 8 ปีที่แล้ว ขึ้นมาเป็นมูลค่าเกือบ 9,000 ล้านบาท เมื่อปีที่ผ่านมา ซึ่งแม้ว่าลูกอมจะเป็นสินค้าที่ติดตลาดอยู่แล้ว แต่ผู้ผลิตในไทยก็ยังมีการพัฒนาสินค้าให้มีความหลากหลายอยู่ตลอดเวลาเพื่อรักษาส่วนแบ่งทางการตลาด ท่ามกลางคู่แข่งลูกอมจากต่างประเทศที่เริ่มเข้ามาตีตลาดในประเทศไทย รวมทั้งมองหาช่องทางขยายตลาดไปยังต่างประเทศพร้อมๆกัน