ท่ามกลางความตึงเครียดของสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีน นักลงทุนต่างชาติ โดยเฉพาะกลุ่มผู้ผลิตสินค้าเทคโนโลยี จำเป็นต้องมองหาแหล่งผลิตใหม่แทนที่จีน โดยมีภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ไม่ไกลจากจีนเป็นจุดโฟกัส อะไรคือปัจจัยที่ทำให้ภูมิภาคนี้แทนที่จีนได้
กลุ่มประเทศอาเซียนในเขตอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง หรือ CLMVT ซึ่งประกอบด้วย กัมพูชา ลาว เมียนมา เวียดนาม และไทย เป็นพื้นที่เศรษฐกิจขนาดใหญ่ที่มีจำนวนประชากรรวมทั้งหมด 238 ล้านคน โดยจีดีพีเมื่อปีที่ผ่านมา มีอัตราการขยายตัว ร้อยละ 6.2 มีรายได้รวมกว่า 760,000 ล้านดอลลาร์ หรือประมาณ 23.6 ล้านล้านบาท ทำให้กลุ่มประเทศลุ่มน้ำโขงเป็นพื้นที่เกิดใหม่ทางเศรษฐกิจ และกำลังเนื้อหอมสำหรับนักลงทุนต่างชาติที่แสวงหาโอกาสใหม่ ๆ ในภูมิภาคที่อุดมสมบูรณ์ด้วยทรัพยากรธรรมชาติ ทรัพยากรมนุษย์ และแหล่งวัตถุดิบ
ประเด็นเรื่องโอกาสการค้าการลงทุนในกลุ่มประเทศ CLMVT คุณ อาติยา ศรีนาถ รองผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยหลักทรัพย์แห่งเอเชีย ของบริษัทหลักทรัพย์ เจ.พี.มอร์แกน สิงคโปร์ ได้แสดงความคิดเห็นในงานเสวนา CLMVT Forum 2019 ถึงโอกาสและความน่าสนใจของ CLMVT โดยครอบคลุมไปถึงประเทศอื่นในอาเซียนว่า เป็นภูมิภาคที่อยู่บนความสนใจในแผนที่การลงทุนของธุรกิจนานาชาติ ยิ่งขณะนี้ ด้วยสถานการณ์การค้าที่ไม่แน่นอน และสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีน ส่งผลกระทบต่อการตัดสินใจเรื่องการตั้งโรงงานและฐานการผลิตของสินค้าเทคโนโลยีแบรนด์สหรัฐฯ จำนวนมาก ทำให้หลายบริษัทคต้องมองหาแหล่งผลิตใหม่ ที่อยู่นอกประเทศจีน ซึ่งกลุ่มประเทศเป้าหมายเหล่านั้นคือ CLMVT
ขณะนี้ ผู้ผลิตสินค้าต่างชาติจำนวนมากต้องหาตลาดอื่นทดแทนตลาดในจีนที่อาจถูกกีดกัน พร้อมกับต้องหาแหล่งผลิตใหม่แทนที่โรงงานในจีน เพราะสินค้าที่ผลิตจากจีนอาจถูกกีดกันไม่ให้เข้าไปขายในสหรัฐฯ ด้วยเหมือนกัน ดังนั้นการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ จึงเป็นโอกาสของประเทศต่าง ๆ ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่จะเข้าไปเป็นห่วงโซ่อุปทาน (supply chain) ของการผลิตแทนจีน โดยเฉพาะสินค้าอย่างสมาร์ตโฟน
ประเทศที่กำลังเป็นที่จับตาของนักลงทุนต่างชาติมากที่สุดขณะนี้ คือ เวียดนาม ด้วยปัจจัยเอื้อหนุนหลายอย่าง เช่น การที่เวียดนามมีประชากรวัยทำงานจำนวนมาก จึงไม่ต้องกังวลเรื่องขาดแคลนแรงงาน แถมชาวเวียดนามได้รับการยอมรับว่า มีระดับการศึกษาที่ดีเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ทำให้มีทักษะฝีมือหลายระดับที่นักลงทุนสามารถจ้างงานได้ อีกทั้งเวียดนามยังให้ความสำคัญเรื่องการปกป้องทรัพย์สินทางปัญญามากขึ้นเรื่อย ๆ
มาดูกันที่ประเทศเพื่อนบ้านไทยอย่างกัมพูชา ลาว และเมียนมา ตอนนี้กัมพูชาได้พัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษ เพื่อรองร��บการลงทุนและใช้ประโยชน์จากกำแพงภาษีที่ต่ำในฐานะประเทศด้อยพัฒนาที่ได้สิทธิประโยชน์ทางภาษีจากการส่งออก เป็นข้อต่อที่ทำให้กัมพูชามีแรงดึงดูดการลงทุน เพราะค่าแรงยังไม่สูงนัก โดยสิ่งที่กัมพูชากำลังพยายามทำอยู่ในขณะนี้ คือ การสร้างมาตรฐานระบบการศึกษา พัฒนาทรัพยากรมนุษย์เพื่อให้รองรับซัพพลายเชนที่กำลังจะเข้ามามากขึ้นในอนาคต
ขณะที่ รัฐบาลลาวมองว่าการเข้าถึงตลาดอย่างเดียวไม่เพียงพอสำหรับการค้าในปัจจุบัน แต่ประเทศในกลุ่ม CLMVT ต้องสร้างความร่วมมือทางการค้าและร่วมเป็นซัพพลายเชนในภูมิภาค ส่วนรัฐบาลเมียนมามีความเห็นสอดคล้องกันว่าการร่วมมือกันภายในภูมิภาค การส่งเสริมการค้าและการลงทุนระหว่างกันในภูมิภาค เป็นเรื่องสำคัญ เพื่อรับมือกับสถานการณ์การค้าโลกในขณะนี้ ด้วยการพึ่งพาการลงทุนระหว่างกันให้มากที่สุด
มาดูที่ความน่าสนใจของประเทศไทยบ้าง ไทยนับว่ามีสภาพแวดล้อมที่น่าสนใจและดึงดูดเงินลงทุนได้ดีในระดับหนึ่ง ทั้งจากการเป็นประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่ที่สุดเมื่อเทียบกับเพื่อนบ้าน พร้อมกับมาตรการด้านการส่งเสริมการลงทุนผ่านสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือ BOI ก็สนับสนุนจูงใจนักลงทุน
ชุติมา บุณยประภัศร รักษาการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ แสดงความคิดเห็นว่า ไทยพร้อมที่จะเชื่อมต่อกับเพื่อนบ้านและอยู่ในห่วงโซ่มูลค่า (Value Chain) ร่วมกัน เพราะเมื่อปี 2560 พบว่า การค้าระหว่างประเทศของกลุ่มประเทศ CLMVT มีมูลค่ามากถึง 951,000 ล้านดอลลาร์ หรือประมาณ 29.4 ล้านล้านบาท เติบโตเฉลี่ยร้อยละ 16 ขณะที่มูลค่าการค้าระหว่างกันภายในกลุ่มประเทศ CLMVT มีมูลค่าอยู่ที่ 75,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 23.25 ล้านล้านบาท เติบโตเฉลี่ยร้อยละ 16 ต่อปีเช่นกัน และประเทศไทยมีความได้เปรียบในการดึงดูดนักลงทุน เพราะมีที่ตั้งอยู่กลางภูมิภาค และสิ่งที่ไทยควรทำต่อจากนี้คือส่งเสริมเรื่องการเชื่อมโยงประเทศในกลุ่ม CLMVT ให้การคมนาคมรหว่างกันเป็นไปได้สะดวกมากขึ้น
อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ประเทศไทยและหลายประเทศในภูมิภาคนี้ต้องระวังในเวลานี้ คือการเคลื่อนย้ายเงินลงทุนเพื่อสร้างธุรกิจ หรือ FDI จำนวนมหาศาล ซึ่งแต่ละประเทศต้องรักษาสมดุลของเงินลงทุน เพราะในประเทศที่มีเศรษฐกิจขนาดเล็ก เช่น กัมพูชา ลาว เมียนมา หากมีเงินทุนไหลเข้าวันละ 1,000 ล้านดอลลาร์ หรือประมาณ 31,000 ล้านบาท ก็จะมีผลต่อเสถียรภาพเศรษฐกิจของประเทศเหล่านี้ แม้ในจำนวนเงินเดียวกันอาจไม่มีผลกับประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่กว่าอย่างประเทศไทย แต่ก็เป็นสิ่งที่ต้องระวัง เพราะเมื่อเงินลงทุนจำนวนมหาศาลไหลเข้ามาในช่วงเวลาสั้น ๆ ย่อมตามมาด้วยภาวะเงินเฟ้อ การเก็งกำไรในบางธุรกิจ โดยเฉพาะอสังหาริมทรัพย์
ขณะที่ ผลสำรวจความเห็นนักธุรกิจ 580 บริษัท ที่เจ.พี.มอร์แกนสำรวจ พบว่าร้อยละ 62 ต้องการลงทุนในประเทศที่มีการจัดการเรื่องการต่อต้านการคอร์รัปชันอย่างมีประสิทธิภาพ ร้อยละ 57 ต้องการความโปร่งใส ร้อยละ 54 ต้องการกฎหมายที่มีประสิทธิภาพ ร้อยละ 51 มาตรการด้านภาษีที่สมเหตุสมผล ร้อยละ 50 ต้องการกำลังแรงงาน เป็นต้น ซึ่งหากประเทศไหนมีสิ่งเหล่านี้ครบ ก็ไม่ใช่เรื่องยากที่จะดึงดูดเงินทุนจากต่างชาติให้หลั่งไหลเข้ามาในประเทศ