ไม่พบผลการค้นหา
รองนายกฯ สมคิด เผยดูแลแค่ 4 กระทรวง ไม่ใช่หัวหน้าทีมเศรษฐกิจรัฐบาลประยุทธ์ 2 ปัดออกความเห็นโพล 2 สำนักชี้ 'สอบตก' บริหารเศรษฐกิจ ร่วมเป็นสักขีพยาน ก.อุตฯ ผนึก 13 พันธมิตรลงขัน 515 ล้านบาท ผุด 'อินโนสเปซ ไทยแลนด์' ตั้งเป้าปั้นสตาร์ทอัพระดับยูนิคอร์น 300 ราย ภายใน 1 ปี

นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ได้มอบหมายให้กระทรวงการคลังหารือร่วมกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) กองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง และสำนักงานสภาเกษตรกรแห่งชาติ ภายในเดือน ก.ย.นี้ หามาตรการเพิ่มประสิทธิภาพและศักยภาพการผลิตภาคการเกษตรให้มีมูลค่ามากขึ้น เนื่องจากปัจจุบันประเทศไทยมีเกษตรกรถึง 30-40 ล้านคน แต่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจไม่ถึงร้อยละ 10 ของอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (จีดีพี)จึงต้องการพัฒนาให้ศักยภาพทางด้านการเกษตรมีมูลค่าเพิ่มขึ้น นอกเหนือจากการช่วยเหลือผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ      

พร้อมกันนี้ ยังมอบหมายให้กระทรวงอุตสาหกรรมเข้ามาให้การสนับสนุนการผลิตภาคการเกษตรให้มากขึ้น ทั้งเรื่องการแปรรูป การรวมกลุ่มอุตสาหกรรมการเกษตร และการส่งเสริมเกษตรกรรายย่อยให้มีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น 

ส่วนกรณีที่หลายฝ่ายมองว่าความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจไม่ดี ส่งผลต่อบรรยากาศการลงทุนนั้น นายสมคิดระบุว่า ขณะนี้ขอยืนยันว่าพื้นฐานเศรษฐกิจไทยยังคงแข็งแกร่ง แต่สิ่งสำคัญคือจะต้องเชื่อมั่นในประเทศ อย่ามองแต่ข่าวร้าย

"ผมไม่ได้เป็นรองนายกฯ เศรษฐกิจ ผมเป็นรองนายกฯ กำกับ 4 กระทรวง แต่ผมจะเรียนว่า พื้นฐานของเราแข็งแรง เมืองไทยต้องมั่นใจในเมืองไทย ไม่ใช่ฝ่อตั้งแต่ต้น ทั่วโลกขณะนี้ก็ลำบาก ทุกคนก็ลำบาก อย่างสิงคโปร์ก็ลำบาก ถดถอยแรง แต่เขาไม่ตื่นตกใจ เขาพยายามคิดหนทางต่อสู้ เมืองไทยก็ต้องทำอย่างนั้น ทุกคนต้องพยายามลุกขึ้นมาแล้วก็สู้ ทุกวัน ไม่ใช่มีแต่ข่าวร้าย ถ้ามีแต่ข่าวร้าย ใครจะคิดอยากจะลงทุน ต้องดูถึงแง่บวกบ้าง" นายสมคิดกล่าว

อย่างไรก็ดี นายสมคิด ปฏิเสธที่จะชี้แจงกรณีที่ 2 โพล ได้แก่ นิด้าโพล และสวนดุสิตโพล สอบถามความคิดเห็นประชาชน โดยส่วนใหญ่มองว่ารัฐบาลสอบตกด้านนโยบายเศรษฐกิจ โดยระบุเพียงว่า ให้ไปดูรายละเอียดของโพลทั้งหมดด้วยว่ามีรายละเอียดอย่างไร

สตาร์ทอัพ-อินโนสเปซ
  • ตัวแทน 13 องค์กรร่วมลงทุนสร้างผู้ประกอบการสตาร์ทอัพภายในบริษัท อินโนสเปซ (ประเทศไทย) จำกัด

13 หน่วยงานจับมือตั้ง 'อินโนสเปซ ไทยแลนด์' สร้างฐานผู้ประกอบการรุ่นใหม่ 

ในวันเดียวกัน (9 ก.ย. 2562) นายสมคิด กล่าวในโอกาสเป็นสักขีพยานพิธีลงนามความร่วมมือระหว่างเครือข่ายภาครัฐ สถาบันการเงินและภาคเอกชนรวม 13 หน่วยงานขับเคลื่อน "อินโนสเปซ ไทยแลนด์: InnoSpace Thailand" ภายใต้บริษัท อินโนสเปซ (ประเทศไทย) จำกัด ว่าการลงนามครั้งนี้จะช่วยให้เกิดแหล่งรวมเทคโนโลยี งานวิจัย นักลงทุน และสตาร์ทอัพที่มีศักยภาพ อีกทั้งโครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ยังเป็นประตูสู่กลุ่มประเทศซีแอลเอ็มวี (กัมพูชา ลาว เมียนมา และเวียดนาม) และภูมิภาคอาเซียนเป็นข้อต่อสู่ประเทศจีน ทำให้สตาร์ทอัพไทยเชื่อมโยงสู่เวทีระหว่างประเทศได้ ส่งผลให้เศรษฐกิจมีอัตราการขยายตัวได้มากกว่าปัจจุบันที่โตเฉลี่ยร้อยละ 4-5 ต่อปี

"นโยบายอินโนสเปซ เป็นจุดเริ่มต้นสร้างฐานรากให้กับประเทศไทย ไม่ใช่ทำให้ใครคนใดคนหนึ่ง หรือพรรคการเมืองใด" นายสมคิด กล่าว 

โดยเบื้องต้น ได้ดึงหัวเว่ยมาเป็นพันธมิตรแล้ว ส่วนไมโครซอฟท์ ซัมซุง กูเกิล กำลังจะตามมาเป็นพันธมิตร ทำให้เกิดการพัฒนาสตาร์ทอัพร่วมกัน โดยเฉพาะกลุ่มอุตสาหกรรมเกษตร ตั้งเป้าหมายเพิ่มสัดส่วนสตาร์ทอัพในไทยให้เกิดขึ้นเป็นหลักหมื่นหลักแสนราย และมีการเข้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย(ตลท.) ให้มากขึ้น 

ให้สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ออกมาตรการพัฒนาบุคลากร โดยให้บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) เป็นหน่วยพัฒนาบุคคลากรเชี่ยวชาญเฉพาะทาง เช่น วิศวกรด้านพลังงาน รวมถึงกลุ่ม บมจ.กรุงเทพดุสิต เวชการ พัฒนาบุคคลากรด้านการแพทย์ และ บมจ.การบินกรุงเทพ ฝึกอบรมด้านการบิน เป็นต้น

สตาร์ทอัพ-อินโนสเปซสตาร์ทอัพ-อินโนสเปซ
  • ลงนามร่วมลงขัน 515 ล้านบาท เพื่อปั้นสตาร์ทอัพให้เป็น 'ยูนิคอร์น'

'สุริยะ' ลั่นปั้น 300 สตาร์ทอัพเป็น 'ยูนิคอร์น' ใน 1 ปี

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.อุตสาหกรรม กล่าวว่ากระทรวงอุตสาหกรรรมผลักดันโครงการอินโนสเปซ ไทยแลนด์เป็นแพลตฟอร์มที่เชื่อมโยง บูรณาการ และประสานความร่วมมือกับพันธมิตรทั้งในและต่างประเทศด้านการลงทุน การบ่มเพาะธุรกิจ และด้านเทคโนโลยีองค์ความรู้ เป็นกลไก เพื่อสร้างสตาร์ทอัพให้มีความเข้มแข็ง ไม่ให้เกิดความซ้ำซ้อน ช่วยสร้างระบบนิเวศและยกระดับสตาร์ทอัพไทยให้สามารถแข่งขันได้ในระยะยาว ตั้งเป้าหมายสร้างสตาร์ทอัพ 300 รายภายใน 1 ปี และไปสู่ระดับสตาร์ทอัพที่มีรายได้มากกว่า 1,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐขึ้นไปหรือ ‘ยูนิคอร์น’ ต่อไป ทำให้เกิดธุรกิจที่ตอบโจทย์การพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมในอนาคต โดยเบื้องต้นคาดสำนักงานใหญ่อินโนสเปซ ไทยแลนด์ ตั้งอยู่ที่โรงงานยาสูบ

"ขณะนี้มีบริษัทที่แสดงความสนใจระดมทุนเพิ่มเติมอีก โดยอยู่ระหว่างเสนอบอร์ด เช่น การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) รอความเห็นชอบจากบอร์ดก่อนเสนอให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาวงเงิน 100 ล้านบาท อีกทั้งธนาคารออมสิน คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ซึ่งอินโนสเปซ ไทยแลนด์จะเน้นช่วยเหลือกลุ่มอุตสาหกรรมอาหาร เกษตรแปรรูป เศรษฐกิจชีวภาพ (Bio-economy) การแพทย์สมัยใหม่ ล้วนเป็นอุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรม ปัจจุบันทุนจดทะเบียนอยู่ที่ 1 แสนบาท หลังจากนี้จะนำเงินจากการระดมทุนร้อยละ 25 ของวงเงินทั้งหมด เพิ่มเข้ามาในทุนจดทะเบียนเป็น 100 ล้านบาท" นายสุริยะ กล่าว

เอกชนลงขัน 515 ล้านบาท ดันสตาร์ทอัพไทยขึ้นชั้น 'ยูนิคอร์น'

นายเทวินทร์ วงศ์วานิช ประธานที่ปรึกษา บริษัท อินโนสเปซ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า ขณะนี้มีเครือข่ายสนับสนุนด้านเงินทุนแล้ว 515 ล้านบาท ได้แก่ บมจ.ปตท. 100 ล้านบาท, บมจ.ไทยเบฟเวอเรจ 30 ล้านบาท, เครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี) ร่วมกับกลุ่มทรู คอร์ปอเรชั่น 50 ล้านบาท, ธนาคารไทยพาณิชย์ 50 ล้านบาท, ธนาคารกรุงเทพ 50 ล้านบาท, ธนาคารกสิกรไทย 50 ล้านบาท, ธนาคารกรุงไทย 50 ล้านบาท, บมจ.กรุงเทพดุสิตเวชการ 50 ล้านบาท, เครือสหพัฒน์ 30 ล้านบาท บมจ.ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป 30 ล้านบาท, บมจ.การบินกรุงเทพ 20 ล้านบาท และธนาคารรัฐวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (เอสเอ็มอีดีแบงก์) 5 ล้านบาท

เทวินทร์ วงศ์วานิช -สตาร์ทอัพ-อินโนสเปซ
  • เทวินทร์ วงศ์วานิช ประธานที่ปรึกษา บริษัท อินโนสเปซ (ประเทศไทย) จำกัด

"ปัจจุบันไทยมีสตาร์ทอัพประมาณ 1,000 ราย ซึ่งประสบความสำเร็จมีเพียงแค่ประมาณ 100 รายเท่านั้น ภารกิจจากนี้ไปอินโนสเปซตั้งเป้าหมายสร้างสตาร์ทอัพให้เป็น 10-100 เท่า เพื่อหวังจะให้เกิดสตาร์ทอัพที่เป็นยูนิคอร์น ไทยจึงต้องเพิ่มจำนวนสตาร์ทอัพที่มีคุณภาพไปสู่สากลให้มากขึ้น จากเวลานี้ประสบปัญหาด้านการตลาด ฐานลูกค้าแคบ จึงจำเป็นต้องจับมือกับต่างประเทศ เช่น ฮ่องกง เกาหลี จีน เป็นต้น ซึ่งในระยะต่อไปไทยจะมีการลงนามความร่วมมือกับประเทศอิสราเอล และญี่ปุ่น" นายเทวินทร์ กล่าว

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :