ไม่พบผลการค้นหา
'สตาร์ทอัพ' หรือ 'วิสาหกิจเริ่มต้น' ในประเทศไทยก่อร่างสร้างฐานมาได้ 3-4 ปีแล้ว ถ้านับตั้งแต่มีหน่วยงานรัฐจัดงานสตาร์ทอัพ ไทยแลนด์ และมีคนรุ่นใหม่ที่ลุกขึ้นมาสร้างเทคโนโลยี แก้ไขปัญหาบางจุดในชีวิตประจำวัน แล้วก่อเกิดเป็น 'ธุรกิจ' และถึงวันนี้ สตาร์ทอัพไทยยังต้องเผชิญความท้าทายเพื่อยืนระยะในธุรกิจอยู่มากเช่นกัน

สำหรับปี 2562 สถานการณ์สตาร์ทอัพไทย เหมือนเดินมาถึงจุดต้องขยับ คนทำสตาร์ทอัพในช่วงก่อร่างสร้างฐานที่พาธุรกิจฝ่าข้ามอุปสรรคนานา ในวันนี้ บางแห่งจากทีมงานเพียง 2-5 คน ขยายเป็น 30-50 คน บางรายยอดขายจากปีแรกๆ 2-5 ล้านบาท ขยับเป็น 10 -100 ล้านบาท 

ความท้าทายของสตาร์ทอัพไทย อยู่ในจุดที่พิสูจน์ฝีมือผู้ประกอบการอยู่ตลอดเวลา ทุกจังหวะก้าว 

'พงศ์ปิติ เอกเธียรชัย' ผู้จัดการ บริษัท ไลฟ์ ฟินคอร์ป จำกัด ธุรกิจที่สนับสนุนส่งเสริมธุรกิจสตาร์ทอัพและเป็นแพลตฟอร์มออนไลน์ในฐานะตัวกลางของผู้ประกอบการสตาร์ทอัพที่ต้องการเสนอไอเดีย พัฒนาธุรกิจ กับนักลงทุน เล่าว่า หลังจากเปิดตัวแพลตฟอร์ม 'Live' มาได้ครบปี พบว่า ผู้ร่วมลงทุน (VC:Venture Capital) ส่วนใหญ่ของขาด หมายถึง ไม่มีธุรกิจที่น่าสนใจลงทุน หรือนักลงทุนรายใหญ่ (HNW :High Net Worth) พอเข้ามาสักพักก็จะมีความกังวลเรื่องความเสี่ยงและผลตอบแทนที่ได้รับ 

ขณะที่ ฝั่งผู้ประกอบการสตาร์ทอัพ ก็มักไม่เปิดเผยข้อมูลที่จำเป็นสำหรับนักลงทุน เช่น บางรายไม่เปิดเผยถึงเงินระดมทุนที่ได้รับ ซึ่งทำให้นักลงทุนเกิดความกังวลในเรื่องมูลค่าของธุรกิจ ที่จะนำไปสู่การประเมินผลตอบแทนของการลงทุน เป็นต้น 

"สตาร์ทอัพหลายรายมีไอเดีย แต่ไม่มีแผนธุรกิจ ไม่รู้ว่าจะทำให้เกิดยอดขายอย่างไร ส่วนสตาร์ทอัพที่มีการเติบโตแล้ว ก็ไม่ได้ต้องการแค่เพียงเงินทุน แต่ต้องการพันธมิตรทางธุรกิจ เพื่อช่วยกันยกระดับพัฒนาธุรกิจให้ขยายตัวและสร้างเครือข่ายได้" พงศ์ปิติ กล่าว

อีกทั้ง การระดมทุนของสตาร์ทอัพควรใช้เพื่อการขยายธุรกิจ แต่ไม่ควรติดกับการนำมาเป็นค่าใช้จ่ายการดำเนินงาน (operation cost) 

ส่วนการนำแพลตฟอร์ม Live มาขยายบริการเป็น 'Virtual Pitching Platform' ก็เพื่อเป็นตัวกลางทำให้สตาร์ทอัพไทยเป็นที่รู้จักของนักลงทุนทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ ซึ่งเป็นโอกาสให้เกิดการจับคู่ธุรกิจ รวมถึงเป็นชุมชนของชาวสตาร์ทอัพ สำหรับแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารร่วมกัน 

โดยในแพลตฟอร์มจะทำหน้าที่เป็นทั้ง directory รวบรวมรายชื่อธุรกิจ, เป็นแหล่งโชว์เคส ให้เห็นตัวอย่างของธุรกิจสตาร์ทอัพในแต่ละกลุ่ม เพื่อให้นักลงทุนได้ดูรูปแบบธุรกิจก่อนตัดสินใจลงทุน ซึ่งจะมีการอัพเดพข้อมูลทุกๆ 6 เดือน รวมถึงเป็นพื้นที่ให้ความรู้แก่ผู้ประกอบการ และสร้างเป็นชุมชนของกลุ่มธุรกิจ รวมถึงในอนาคตจะเป็น one stop service ให้บริการในที่เดียวครบจบ

"ตอนนี้ เราต้องการแสดงให้เห็นถึงแผนธุรกิจของสตาร์ทอัพรายต่างๆ ไม่ได้เน้นเรื่องแผนการลงทุน หรือ ขายหุ้น" พงศ์ปิติ กล่าว

สตาร์ทอัพ อีโค่ซิสเต็ม


ไอเดียเยอะ แต่แผนธุรกิจยังไม่ชัด

ขณะที่ คนในแวดวงสตาร์ทอัพ สะท้อนภาพสตาร์ทอัพไทยในเวลานี้ว่า สตาร์ทอัพไทยนั้นได้รับเงินสนับสนุนด้านเงินทุนพอๆ กับหลายประเทศในโลก แต่ปัจจุบันสตาร์ทอัพไทยมีไอเดียเยอะมาก แต่เป็นการผลิตสินค้าผลิตบริการมากกว่า ไม่ได้คิดถึงเรื่องธุรกิจ 

'พณชิต กิตติปัญญางาม' นายกสมาคม Thailand Tech Startup Association บอกว่า ภาพใหญ่ของประเทศก็มีปัญหาในเรื่อง mindset (วิธีคิด) เกี่ยวกับธุรกิจประเภทนี้ และการอุดหนุนด้านเงินทุนแก่สตาร์ทอัพของหน่วยงานภาครัฐไทย ก็เป็นลักษณะการปกป้องความเสี่ยงของหน่วยงานมากกว่าจะเป็นการบริหารจัดการความเสี่ยง (risk management) ธุรกิจ

อีกเรื่องคือ การยอมรับความล้มเหลว เนื่องจากธุรกิจแบบนี้เป็นของที่ต้องลองผิดลองถูก ดังนั้น ถ้าหากกลัวการล้มเหลว ไม่ยอมให้เกิดความผิดพลาด การสร้างนวัตกรรมย่อมไม่มีทางเกิดขึ้น

"4-5 ปีที่ผ่านมา เรียกได้ว่า สตาร์ทอัพไทยมีทิศทางที่ดี แต่สปีดหรืออัตราเร่งการพัฒนายังช้า ซึ่งส่วนหนึ่งอาจเกิดจากวัฒนธรรม 'เพลย์เซฟ' แบบไทยๆ ด้วยที่ทำให้ไม่กล้าทำผิด กลัวการผิดพลาด จึงทำให้นวัตกรรมเกิดขึ้นได้ยาก" พณชิต กล่าว

ส่วนในมุมของนักลงทุน 'พจน์ สุพรหมจักร' กรรมการ Thai Venture Capital Association หรือ TVCA บอกว่า เงินทุนจากภาครัฐในการสนับสนุนสตาร์ทอัพไทยนั้นมีจำนวนมากไม่ได้น้อยหน้าต่างประเทศ แต่เท่าที่สังเกตคือ สตาร์ทอัพไทยที่มีแนวโน้มจะประสบความสำเร็จ ส่วนใหญ่มาจากพื้นฐานครอบครัวมีเงิน ไม่มีความเสี่ยงหรือความกังวล หากธุรกิจจะล้มเหลว

"ตอนแรก ใครๆ ก็สนใจและอยากโดดลงมาทำสตาร์ทอัพ แต่ตอนนี้ เหมือนเริ่มแผ่ว และนักลงทุนหลายรายก็เริ่มขยาดกับสตาร์ทอัพ ซึ่งส่วนหนึ่งก็อย่างที่พูดๆ กันว่า มีแต่ไอเดีย แต่ไม่มีแผนธุรกิจที่ชัดเจน" พจน์ กล่าว

ตลท-ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย-ตลาดหุ้น

แนะรัฐอย่าหนุนเพียงหาเงินทุน แต่ต้องร่วมสร้างธุรกิจด้วย

ส่วน 'ภาวุธ พงษ์วิทยภานุ' ซีอีโอและผู้ก่อตั้ง ตลาด ดอท คอม กล่าวว่า ในเวลาที่สตาร์ทอัพเริ่มแผ่ว งานสตาร์ทอัพไทยแลนด์คนเริ่มไปลดลงเมื่อเทียบกับปีแรก แต่สตาร์ทอัพไทยยังมีโอกาส จากกรณีที่บริษัทใหญ่ๆ ที่ต้องการนวัตกรรมแก้ปัญหาหรือขยายธุรกิจ ธุรกิจเหล่านี้ยังมองหาสตาร์ทอัพเพื่อจับมือเป็นพันธมิตรธุรกิจ โดยเฉพาะในกลุ่มธุรกิจที่ไทยมีศักยภาพ เช่น ด้านโรงแรม สุขภาพ เป็นต้น 

อีกด้านหนึ่งคือ สตาร์ทอัพไทยต้องคิดถึงการขยายตลาดไปต่างประเทศ ซึ่งที่ผ่านมา ก็จะพบว่า สตาร์ทอัพที่ไม่ประสบความสำเร็จเพราะจำกัดตัวเองเพียงตลาดในประเทศไทย เป็นต้น 

สำหรับนโยบายของรัฐบาลที่กำลังเข้ามาบริหารประเทศในระยะถัดไป 'ภาวุธ' กล่าวว่า รัฐบาลนี้ก็คือรัฐบาลที่ผ่านมา ซึ่งก็น่าจะให้การสนับสนุนสตาร์ทอัพต่อเนื่อง แต่สิ่งที่สตาร์ทอัพไทยต้องการมันมีมากกว่าเงินทุนสนับสนุน คือต้องการการทำงานร่วมกันไปตลอดทาง ช่วยการยกระดับและพัฒนาธุรกิจร่วมกัน ซึ่งที่ผ่านมายังขาดตรงนี้อยู่