นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า วันนี้ (22 เม.ย.) ได้ประชุมติดตามความคืบหน้าการดำเนินงานนโยบายต่างๆ ของกระทรวงอุตสาหกรรม โดยเน้นการพัฒนาอุตสาหกรรมภาครวมให้ก้าวเท่าทันเทคโนโลยีในโลกปัจจุบันตามนโยบายอุตสาหกรรม 4.0 พร้อมเร่งความคืบหน้าการพัฒนาทักษะแรงงานให้พร้อมรับโลกอุตสาหกรรมในอนาคต และปิดท้ายด้วยการสั่งการให้กระทรวงอุตสาหกรรมขึ้นมาเป็นแม่งานใหญ่พัฒนาอุตสาหกรรมเกษตรที่เป็นอุตสาหกรรมใหญ่และสำคัญของประเทศ
ไทยแลนด์ 4.0 : การเปลี่ยนผ่านดิจิทัล
ขณะที่ นายสมชาย หาญหิรัญ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม รายงานความคืบหน้าเรื่องโครงการต่างๆ ภายในกระทรวง โดยเริ่มต้นจากการลงนามบันทึกข้อตกลง ระหว่างบริษัท อินโนสเปซ (ประเทศไทย) จำกัด และหน่วยงานพันธมิตรจากฮ่องกง ซึ่งจะเข้ามาช่วยในการพัฒนาอุตสาหกรรมของประเทศไทย โดยขั้นต่อไปของการดำเนินงานนี้ จะเป็นการลงนามบันทึกข้อตกลงกับภาคเอกชนของไทย เช่น ปตท. สหพัฒน์ และไทยเบฟเวอเรจ เป็นต้น
ส่วนอีกหนึ่งโครงการที่มีการพูดถึงในการประชุมครั้งนี้ คือโครงการการพัฒนาศูนย์ปฏิรูปอุตสาหกรรม 4.0 (Industry Transformation Center 4.0 : ITC 4.0) เพื่อให้ครอบคลุมพื้นที่ทั่วประเทศ แบ่งเป็น ITC จังหวัด (สอจ.) 76 แห่ง ITC ภาค (ศถ.กสอ.) 12 แห่ง และ ITC ส่วนกลาง 1 แห่ง
นายสมชายชี้แจงว่า ที่ผ่านมาศูนย์ ITC สามารถสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจได้ราว 2,500 ล้านบาท และให้บริการแก่ผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม หรือ เอสเอ็มอี ได้กว่า 12,500 ราย พร้อมคาดการณ์ว่าในช่วงปี 2562 - 2564 จะสามารถสร้างมูลค่าทางเศรษกิจราว 50,000 ล้านบาท และให้บริการเอสเอ็มอีประมาณ 50,000 ราย
กระทรวงอุตสาหกรรมยังกล่าวถึง มาตรการโครงการ โรงงาน 4.0 (Factory 4.0) ที่มีการใช้เทคโนโลยีเข้ามาควบคุมดูแลโรงงานอุตสาหกรรมในหลายมิติ เช่น การดูแลควบคุมปริมาณการผลิต การใช้พลังงานให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด และการควบคุมด้านความปลอดภัยของอุตสาหกรรม โดยที่ผ่านมา กระทรวงเข้าไปเริ่มโครงการกับผู้ประกอบการทั้งหมด 196 ราย ในอุตสาหกรรมอาหาร ปาล์มน้ำมัน และเอสเอ็มอีรายย่อยต่างๆ
ขณะเดียวกันก็ดูแลเรื่องความสะดวกสบายของการติดต่อกับระบบราชการ (Smart DIW) ทั้งการขอสิทธิบัตรอิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ รวมถึงประเด็นสำคัญเรื่องการใช้เทคโนโลยีเข้ามาควบคุมปัญหาฝุ่นละอองจากโรงงาน และการจัดการกับกากอุตสาหกรรม
ก.อุตฯ ยันภายใน 3 ปี ปัญหาเผาอ้อยจะหมดประเทศไทย
สำหรับประเด็นฝุ่นควัน นายสมคิด เน้นกับกระทรวงอุตสาหกรรมว่าต้องเร่งให้เกิดการแก้ปัญหาอย่างมีประสิทธิภาพในระยะเวลาอันรวดเร็ว พร้อมยกประเด็นการเผาอ้อยที่มีปัญหาว่า กระทรวงต้องจัดการกับปัญหานี้ให้ได้ ก่อนที่อุตสาหกรรมอ้อยจะกลายเป็นอุตสาหกรรมที่ไม่คุ้มต่อการลงทุนเนื่องจากก่อมลภาวะมากเกินไป ด้านกระทรวงอุตสาหกรรมชี้แจงว่า ปัจจุบันมีการออกมาตรการต่างๆ ออกมาจัดการกับปัญหาการเผาอ้อยแล้ว แต่ต้องใช้เวลา และให้คำมั่นว่าภายใน 3 ปี ปัญหาการเผาอ้อยในประเทศจะหมดไป
นายสมคิด ทิ้งท้ายในประเด็นการเปลี่ยนผ่านอุตสาหกรรมไทยไปสู่การเป็นดิจิทัลว่า กระทรวงอุตสาหกรรมต้องทำตัวเป็นผู้สร้างกฏข้อบังคับและแรงจูงใจให้กับภาคเอกชนในเวลาเดียวกัน เนื่องจากผู้ประกอบการหลายรายในไทยยังไม่ตระหนักถึงความสำคัญของการเปลี่ยนผ่านตรงนี้ กระทรวงฯ จึงจำเป็นต้องบีบผู้ประกอบการทางอ้อมด้วยมาตรการและนโยบายที่ผ่านความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี อาทิ การประกาศมาตรฐานอุตสาหกรรมใหม่ เพื่อบังคับให้ผู้ประกอบการและโรงงานต้องปรับตัว แต่ขณะเดียวกันก็สร้างแรงจูงใจต่างๆ เพื่อไม่ให้กดดันเกินไป เพราะสุดท้ายแล้วรัฐบาลก็ยังต้องการความช่วยเหลือและความร่วมมือจากภาคเอกชน
"อุตสาหกรรมไทยไม่เห็นโรงศพไม่หลั่งน้ำตา พอถึงเวลาเปลี่ยนแล้วทำไม่ทัน" นายสมคิด กล่าว
ยกระดับทักษะแรงงานไทย
นายสมชาย กล่าวว่า กระทรวงอุตสาหกรรมสร้างระบบโครงข่ายพัฒนาทักษะบุคลากรแห่งชาติเพื่อสร้างมาตรฐาน ยกระดับ ปรับทักษะบุคลากร ให้รองรับระบบเศรษฐกิจ 4.0 โดยแบ่งออกเป็น 4 มาตรการ ได้แก่ (1) การจัดหลักสูตรฝึกอบรมต่างๆ ซึ่งจับมือกับมหาวิทยาลัยต่างๆ และตอนนี้มีหลักสูตรที่พร้อมเปิดสอนกว่า 500 หลักสูตร (2) การสร้างคุณค่าให้กับประกาศนียบัตรการอบรมต่างๆ เช่น การให้ค่าแรงตามขั้นของประกาศนียบัตร หรือการจัดจ้างของรัฐ เพื่อกระตุ้นให้ประชาชนเห็นคุณค่าและความสำคัญของการอบรม (3) การรวบรวมข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) เพื่อการประเมิน (4) การวางระบบข้างต้นทั้งหมดไว้บนแพลตฟอร์มออนไลน์ที่เชื่อมโยงกัน
โดยปัจจุบันกระทรวงอุตสาหกรรมได้เสนอแผนงานต่อคณะรัฐมนตรี เพื่อขอรับการจัดสรรงบประมาณเพิ่มเติม ภายใต้ "โครงการส่งเสริมการปฏิรูป SMEs สู่ 4.0 ด้วย Industrial Transformation Platform" ในวงเงินรวม 8,629 ล้านบาท
อุตสาหกรรมเกษตรต้องไม่ถูกละเลย
นายสมคิดปิดท้ายด้วยประเด็นการพัฒนาอุตสาหกรรมเกษตรของประเทศ ว่าที่ผ่านมายังไม่มีกระทรวงไหนขึ้นมาเป็นแม่งานในพัฒนาและปฏิรูปอุตสาหกรรมเกษตรซึ่งเป็นรายได้หลักของประเทศ และขอมอบหน้าที่ให้กับกระทรวงอุตสากรรม โดยไปร่วมมือกับกระทรวงอื่นๆ เพื่อพัฒนาให้เกิดการสร้างมูลค่าเพิ่ม
นายสมคิดชี้ว่า แผนการพัฒนาพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ (Southern Economic Corridor : SEC) จะมีส่วนสำคัญในการช่วยพัฒนาการส่งออกสินค้าเกษตรของไทย ดังนั้น โครงการการสร้างห้องเย็น ที่ปัจจุบันมีการดำเนินการที่จังหวัดระยอง ควรเพิ่มไปที่อำเภอหลังสวน จังหวัดชุมพร ด้วยเช่นกัน อีกทั้งควรมีการจัดตั้งโรงงานแปรรูปสินค้าเกษตร ซึ่งโครงการนี้จะไปเชื่อมโยงกับการสร้างนิคมอุตสาหกรรมที่มีมาตรฐานและศักยภาพ พร้อมกล่าวถึงการสร้างมูลค่าจากการขนส่ง ซึ่งในอนาคตจะมีรถไฟลงไปถึงยังภาคใต้ของประเทศ จึงควรเปลี่ยนโอกาสที่จะมาถึงให้กลายเป็นมูลค่าทางเศรษฐกิจให้หมด