ไม่มีผู้ใดสามารถปฏิเสธได้ว่า LVMH หรือเครือบริษัทมหาชนข้ามชาติ โมเอต์ เฮนเนสซี หลุยส์ วิตตอง คือมหาอำนาจแห่งอุตสาหกรรมแฟชันและความหรูหราอย่างแท้จริง ผ่านการครอบครองแบรนด์หรูมากมาย อาทิ หลุยส์ วิตตอง (Louis Vuitton), คริสเตียน ดิออร์ (Christian Dior), เซลีน (Celine) ไปจนถึง เฟนดิ (Fendi) และสินค้าอื่นอีกกว่า 70 แบรนด์
'เบอร์นาร์ด อาร์โนลต์' ประธานบริหารและซีอีโอของเครือฯ ยังนั่งแท่นมหาเศรษฐีผู้ร่ำรวยที่สุด อันดับที่ 3 ของโลก ด้วยมูลค่าสินทรัพย์รวม 1.48 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 4.4 ล้านล้านบาท (ณ วันที่ 27 ม.ค. 2564) เป็นรองแค่เพียง 'เจฟ เบซอส' ผู้บริหารสูงสุดแห่งบริษัทแอมะซอน เว็บไซต์ค้าปลีกรายใหญ่ของโลก และ 'บิล เกตส์' ผู้ร่วมก่อตั้งบริษัทไมโครซอฟท์ ที่ผลัดเปลี่ยนกันขึ้นอันดับสูงสุดอยู่หลายครั้ง
ล่าสุด เครือแบรนด์หรูเพิ่งเปิดผลประกอบการของปีงบประมาณที่ทั่วโลกเต็มไปด้วยความวุ่นวายจากวิกฤตโรคระบาดโควิด-19 ด้วยตัวเลขรายได้รวม 44,651 ล้านยูโร หรือประมาณ 1.62 ล้านล้านบาท คิดเป็นการหดตัวของรายได้ราว 17% เมื่อเทียบกับตัวเลขในปี 2562 ที่เคยสูงถึง 53,670 ล้านยูโร หรือประมาณ 1.94 ล้านล้านบาท
อย่างไรก็ดี LVMH ยังเห็นการเติบโตของยอดขายและรายได้จากกลุ่มธุรกิจแฟชั่นและเครื่องหนังที่ปรับขึ้นมาเป็นบวกถึง 18% ในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปีที่ผ่านมา เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2562 นับเป็นการเติบโตต่อเนื่องจากไตรมาสที่ 3/2563 ที่มีผลประกอบการเป็นบวกราว 12% เช่นเดียวกัน
'ฌ็อง-ฌัก กวิโอนี' ประธานบริหารด้านการเงินของเครือ เผยว่าตัวขับเคลื่อนความสำเร็จในเชิงยอดขายที่แท้จริงมาจากแบรนด์ดังอย่าง 'หลุยส์ วิตตอง' และ 'คริสเตียน ดิออร์' ที่สามารถสรรค์สร้างสินค้าใหม่ให้กับผู้บริโภคได้อย่างต่อเนื่อง แม้จะต้องดำเนินธุรกิจท่ามกลางการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส
ขณะที่แบรนด์อื่นเลือกจะเลื่อนการเปิดตัวคอลเลกชันใหม่ออกไป กวิโอนี ชี้ว่า 'ดิออร์' ปรับกลยุทธ์จัดแสดงงานเปิดตัวสินค้าบนพื้นที่ปิดที่มีการป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้ออย่างดีในอิตาลีเมื่อเดือน ก.ค. 2563 พร้อมพัฒนาการตลาดออนไลน์ควบคู่กันไป
"เราลงมือทำขณะที่คนอื่นเอาแต่พูด" กวิโอนี เปรย
ขณะเดียวกัน ตามข้อมูลการเปิดเผยรายละเอียดงบประมาณนั้น เซลีน ที่ล่าสุดมี 'ลลิษา มโนบาล' หรือ 'Lisa Blackpink' ขึ้นแท่นเป็นแบรนด์แอมบาสเดอร์ระดับโลก (Global Ambassador) ยังช่วยดึงกำลังซื้อจากกลุ่มลูกค้าชาวเอเชียได้เช่นเดียวกัน โดยเฉพาะในช่วงไตรมาสสุดท้ายที่ผ่านมา
อาณาจักรที่มีมูลค่า 1.9 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 5.7 ล้านล้านบาท แท้จริงแล้วมีแขนขาในการทำธุรกิจที่สามารถจำแนกออกได้เป็น 6 ประเภท คือ 1.ไวน์และสุรา 2.แฟชั่นและเครื่องหนัง 3.น้ำหอมและเครื่องสำอาง 4.นาฬิกาและเครื่องประดับ 5.ร้านค้าปลีก และ 6.กิจกรรมทางธุรกิจอื่นๆ
กิจการ 2 ประเภทแรก เกิดขึ้นพร้อมกันตั้งแต่ปี 2530 หลังแบรนด์ 'หลุยส์ วิตตอง' และ 'โมเอต์ เฮนเนสซี' ตัดสินใจควบรวมบริษัทจนกลายมาเป็นเครือ LVMH
ขณะที่ประวัติความเป็นมาของ 'หลุยส์ วิตตอง' ในฐานะแบรนด์สินค้าหรูอาจต้องย้อนกลับไปตั้งแต่ปี 2380 เมื่อ 'หลุยส์ วิตตอง' ผู้ก่อตั้งแบรนด์ในวัย 16 ปี เดินทางมาถึงกรุงปารีสเป็นครั้งแรก และใช้เวลาถึง 17 ปี ในการหล่อหลอมพรสวรรค์แห่งการเป็นช่างฝีมือก่อนตัดสินใจเปิดธุรกิจเป็นของตนเอง ซึ่งได้รับเสียงตอบรับอย่างดีจนถึงปัจจุบัน
ด้าน 'โมเอต์ เฮสเนสซี' แท้จริงแล้วเป็นผลลัพธ์จากการควบรวมธุรกิจเมื่อปี 2514 ระหว่าง 'โมเอต์ เอต์ ชองดอง' (Moët & Chandon) บริษัทผู้ผลิตแชมเปญที่ก่อตั้งขึ้นตั้งแต่ปี 2286 เข้ากับบริษัทเฮนเนสซีในฐานะผู้ผลิตบรั่นดี
หากวางประวัติศาสตร์เอาไว้แล้วกลับมามองในเชิงธุรกิจ 'วอยซ์' พบว่า รายได้และกำไรของเครือจากธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ถือว่าได้รับผลกระทบไม่มากนักหากนำไปเปรียบเทียบกับกลุ่มธุรกิจอื่นของบริษัท
ตัวเลขรายได้ในปี 2563 ที่ผ่านมา อยู่ที่ 4,755 ล้านยูโร หรือประมาณ 1.72 แสนล้านบาท คิดเป็นการหดตัวลดลงจากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนหน้าราว 15% ขณะที่ผลกำไรจากการดำเนินธุรกิจหดตัวลดลงราว 20% ลงมาเหลือในตัวเลข 1,388 ล้านยูโร หรือประมาณ 50,000 ล้านบาท
อย่างที่อธิบายไว้ช่วงต้นว่า กลุ่มธุรกิจแฟชั่นและเครื่องหนังของเครือ LVMH ยังคงดำเนินการได้ดี ด้วยปัจจัยสนับสนุนและการปรับตัวหลายประการ ส่งให้กำไรของกลุ่มธุรกิจนี้ติดลบแค่เพียง 2% เมื่อเทียบกับตัวเลขในปี 2562 หรือคิดเป็นเงินราว 7,100 ล้านยูโร หรือประมาณ 257,000 ล้านบาท
ฝั่งน้ำหอมและเครื่องสำอางที่กำไรติดลบถึง 88% รายงานจากบริษัทสะท้อนว่ายังเห็นแง่ดีในการฟื้นตัวอยู่บ้าง อาทิ ในฝั่งสินค้าครีมบำรุงผิวของ 'เกอร์แลง' (Guerlain) ที่มียอดขายดีขึ้นในประเทศจีน เช่นเดียวกับการปล่อยไลน์สินค้าใหม่จากแบรนด์ 'เฟนตี สกิน' (Fenty Skin) ที่เป็นการทำธุรกิจร่วมกันระหว่างเครือกับ 'ริฮานนา' นักร้องชื่อดังที่ผันมาทำธุรกิจเต็มตัวในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา
ฝั่งนาฬิกาและเครื่องประดับของ LVMH ตัวเลขกำไรลดลงจาก 736 ล้านยูโร หรือประมาณ 26,700 ล้านบาท ในปี 2562 ลงมาเหลือเพียง 302 ล้านยูโร หรือประมาณ 10,900 ล้านบาทในปีที่ผ่านมา
โดยแบรนด์ดังที่อยู่ภายใต้เครือของ 'เบอร์นาร์ด อาร์โนลต์' ได้แก่ บุลการี (BVLGARI), แทค ฮอยเออร์ (TAG HEUER) และ อูโบลต์ (Hublot)
ขณะที่ฝั่งร้านค้าปลีก อาทิ เซโฟร่า (Sephora) ไม่อาจเลี่ยงผลจากมาตรการล็อกดาวน์ของหลายประเทศได้ จึงสะท้อนออกมาในรายธุรกิจค้าปลีกรวมที่ลดลงกว่า 31% ทั้งยังเห็นตัวเลขขาดทุนในปีที่ผ่านมา เช่นเดียวกับธุรกิจอื่นๆ ของเครือที่ขาดทุนเช่นกัน
งานศึกษางบประมาณย้อนหลังกว่าทศวรรษ ระหว่างปี 2551 - 2561 ของเครือหรู พบการเติบโตอย่างก้าวกระโดดจากสัดส่วนรายได้ที่มาจากทวีปเอเชีย (ไม่รวมญี่ปุ่น) โดยพุ่งจาก 20% ของรายได้ทั้งหมดในปี 2551 ขึ้นมาเป็น 29% ในปี 2561 ซึ่งเป็นสัดส่วนที่สูงที่สุดทั้งในแง่การเติบโต และตัวเลข 29% ถือเป็นส่วนแบ่งที่สูงที่สุดในปี 2561 เช่นเดียวกัน
ตลาดในพื้นที่อื่นๆ อาทิ ยุโรป (ไม่รวมฝรั่งเศส) และสหรัฐอเมริกา มีส่วนแบ่งรายได้ที่ 19% และ 24% ตามลำดับในปี 2561 ขณะที่ฝรั่งเศสและญี่ปุ่นมีสัดส่วนเพียง 10% และ 7% ตามลำดับ ในช่วงเวลาเดียวกัน
ทั้งนี้ ตลอดช่วง 10 ปีที่ผ่านมา เครือ LVMH เห็นอัตราการเติบโตของยอดขายเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 11% ต่อปี สอดคล้องกับตัวเลขการเติบโตของมูลค่าของอุตสาหกรรมสินค้าหรูส่วนบุคคลทั่วโลก ที่ก้าวกระโดดจากตัว 88,000 ล้านยูโร หรือประมาณ 3.1 ล้านล้านบาท ในปี 2540 ขึ้นมาเป็น 2.81 แสนล้านยูโร หรือประมาณ 10 ล้านล้านบาท ในปี 2562
ขณะที่ LVMH ครองการเป็นเจ้าตลาดได้เหนียวแน่น เครือต้องเผชิญหน้ากับคู่แข่งที่น่ากลัวเช่นเดียวกัน อาทิ เครือริชมอนด์ (RICHEMONT) จากสวิตเซอร์แลนด์ ที่ทำธุรกิจคล้ายคลึงกัน ทั้งแขนขาในฝั่งเครื่องประดับอย่างการเป็นเจ้าของแบรนด์ คาร์เทียร์ (Cartier), ธุรกิจนาฬิกาหรูอย่าง พาเนราย (Panerai), การจัดจำหน่ายออนไลน์อย่างเว็บไซต์ Net-a-Porter ไปจนถึงแบรนด์แฟชันอย่าง โคลเอ้ (Chloé) โดยในปี 2561 ริชมอนด์มีรายได้รวมประมาณ 10,900 ล้านยูโร หรือประมาณ 395,000 ล้านบาท
อีกคู่แข่งสำคัญได้แก่ เคอริง (Kering) เจ้าของแบรนด์ดังทั้ง แซงต์ โลรองต์ (Saint Laurent) และ กุชชี (Gucci) โดยเคอริงมีรายได้รวมในปี 2561 ราว 13,600 ล้านยูโร หรือประมาณ 490,000 ล้านบาท
หากพิจารณาในจากงบการเงิน เหตุผลสำคัญที่ทำให้ LVMH ยังโดดเด่นและมีอิทธิพลเหนือกว่าเครืออื่น มาจากขนาดการครอบครองธุรกิจซึ่งใหญ่กว่าเครืออื่นอยู่หลายเท่าตัว ส่งให้กลุ่มบริษัทมีความมั่นคงทางประสิทธิภาพทางการเงินมากกว่า ทั้งนี้ อีกส่วนส่งเสริมสำคัญยังมาจากเทรนด์การเติบโตในมูลค่าของสินค้าหรูเช่นเดียวกัน
ก่อนหน้านี้ในช่วงต้นปี 2562 'วอยซ์' เขียนรายงานสะท้อนว่า ท่ามกลางสงครามการค้าที่ส่งผลกระทบกับประเทศจีนโดยตรง ผู้บริโภคจากแดนมังกรยังคงมีทุนทรัพย์เหลือเพียงพอในการจับจ่ายสินค้าหรูหราให้ตนเอง อยู่แค่เพียงพวกเขาเหล่านั้นจะตัดสินใจซื้อหรือไม่
ในทำนองเดียวกัน เศรษฐกิจจีนที่ได้รับผลกระทบตั้งแต่แรกจากโควิด-19 กลับมาเติบโตแล้วเช่นเดียวกัน จีดีพีตลอดทั้งปี 2563 โตราว 2.3% ตามรายงานจากรัฐบาล ขณะที่ยอดค้าปลีกในไตรมาสสุดท้ายของปี ที่ผ่านมา โตขึ้นกว่า 4.6% จากช่วงเวลาเดียวกันของปี 2562
หากแบรนด์ภายใต้เครือ LVMH สามารถทำสินค้าออกมาตอบโจทย์ผู้บริโภคและส่งเสริมการตลาดผ่านผู้มีอิทธิพล อาทิในกรณีของ Lisa Blackpink หรือการร่วมงานกับ ริฮานนา ซึ่งมีแฟนคลับที่รอติดตามทั้งผลงานเพลงและธุรกิจอื่นๆ เม็ดเงินจากยอดขายจะยังเติบโตอย่างแน่นอน
อ้างอิง; WSJ, SCMP, CNBC(1), CNBC(2), Vogue Business, Reuters, LVMH
ข่าวที่เกี่ยวข้อง;