เทศกาลมอเตอร์โชว์ครั้งใหญ่ของเยอรมนี (IAA) จัดขึ้นที่เมืองแฟรงก์เฟิร์ต สุดสัปดาห์ที่ผ่านมา และงานนี้จะจัดยาวไปจนถึงวันที่ 22 กันยายน แต่ช่วงเปิดงานมีชาวเยอรมันราว 25,000 คนรวมตัวกันปั่นจักรยานรณรงค์ให้คนทั่วประเทศตระหนักถึงปัญหามลพิษทางอากาศและลดการใช้รถยนต์ที่ใช้น้ำมันเชื้อเพลิง เพราะผู้รณรงค์เชื่อว่าวิธีนี้จะช่วยลดก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์และฝุ่นละอองขนาดเล็กซึ่งเกิดจากการเผาไหม้ของเครื่องยนตร์ที่ใช้น้ำมันเชื้อเพลิงได้ด้วย
ชาวเยอรมันหลายคนที่ร่วมขบวนปั่นจักรยานรณรงค์ต่อต้านการใช้รถยนต์มองว่า 'เทศกาลมอเตอร์โชว์' กลายเป็นเรื่องตกยุคไปแล้วในปัจจุบัน เพราะการกระตุ้นให้คนใช้รถยนต์ส่วนตัวไม่ใช่ทางออกที่ดีเรื่องการแก้ปัญหามลพิษทางอากาศ ทั้งยังสวนทางกับนโยบายรัฐบาลที่ต้องการควบคุมปริมาณการใช้รถยนต์พลังงานเชื้อเพลิงของประชาชนในประเทศ เพราะต่อให้มีการพัฒนารถยนต์ไฟฟ้าหรือรถยนต์ระบบไฮบริดเพิ่มขึ้น แต่ก็ยังจะต้องใช้เวลาอีกหลายปีในการผลักดันระบบโครงสร้างรองรับการใช้งานเทคโนโลยีใหม่ๆ เหล่านี้
องค์กรด้านสิ่งแวดล้อมอย่าง 'กรีนพีซ' เป็นหนึ่งในแกนนำการประท้วงเทศกาลมอเตอร์โชว์ที่แฟรงก์เฟิร์ต ระบุด้วยว่า อุตสาหกรรมยานยนตร์ไม่น่าไว้วางใจ เพราะเป็นอีกหนึ่งธุรกิจที่ต้องทำกำไรให้คุ้มกับต้นทุนมหาศาล พร้อมยกตัวอย่างกรณี 'โฟล์กสวาเกน' ที่ถูกเปิดโปงว่าปรับแต่งระบบตรวจวัดปริมาณก๊าซคาร์บอนในรถยนต์รุ่นที่ใช้น้ำมันดีเซลเพื่อให้ดูเหมือนว่ารถยนต์รุ่นดังกล่าว 'เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม' ซึ่งสวนทางกับความเป็นจริง
แม้เรื่องดังกล่าวจะเป็นข่าวอื้อฉาวตั้งแต่ปี 2015 แต่ก็ส่งผลต่อความเชื่อมั่นของผู้บริโภคทั่วโลกมาจนถึงปัจจุบัน และคนยังไม่ลืมกันง่ายๆ นอกจากนี้ ยังมีปัญหาเรื่องฝุ่นละอองขนาดเล็กที่เป็นสาเหตุให้มีผู้เสียชีวิตด้วยโรคระบบทางเดินหายใจเพิ่มขึ้น ทำให้หลายคนรณรงค์มองว่าจะต้องรณรงค์เรื่องนี้กันอย่างจริงจัง
ผู้ร่วมขบวนประท้วงจำนวนหนึ่งบอกว่า การหันไปใช้ระบบขนส่งมวลชนหรือใช้จักรยานแทนยานพาหนะที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจำ เป็นสิ่งที่คนในสังคมช่วยได้ ส่วนบริษัทผลิตรถยนต์ก็จะต้องจริงจังกับการพัฒนาเทคโนโลยีที่จะลดการปล่อยก๊าซทำลายสิ่งแวดล้อมให้น้อยลง และต้องจริงใจ-ไม่บิดเบือนข้อเท็จจริงต่อผู้บริโภค
สื่อในยุโรปรายงานว่า กระแสรณรงค์ด้านสิ่งแวดล้อมก่อตัวขึ้นในหลายๆ ประเทศ และได้รับแรงสนับสนุนเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ โดยยกตัวอย่างกรณีเครือข่าย Extinction Rebellion ที่รวมตัวกันเคลื่อนไหวในประเทศสมาชิกสหภาพยุโรป (EU) เพื่อต่อต้านเหมืองถ่านหิน ซึ่งเป็นหนึ่งในตัวการปล่อยก๊าซคาร์บอนสู่ชั้นบรรยากาศ และการเคลื่อนไหวของกลุ่มดังกล่าวประสบความสำเร็จในหลายประเทศ นำไปสู่การปิดเหมืองถ่านหินหลายแห่ง
ในกรณีของเยอรมนีก็เพิ่งมีการปิดเหมืองถ่านหินเก่าแก่ที่มีขนาดใหญ่แห่งหนึ่งของประเทศไปเมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา และกลุ่มเคลื่อนไหวเหล่านี้ก็ได้พยายามขับเคลื่อนประเด็นสิ่งแวดล้อมอื่นๆ ต่อมา โดยล่าสุดพุ่งเป้าไปยังการรณรงค์ลดการใช้รถยนตร์น้ำมันเชื้อเพลิง ซึ่งอาจจะยังไม่สำเร็จง่ายๆ เพราะบริษัทยนตรกรรมเป็นกลุ่มทุนที่มีอิทธิพลต่อระบบเศรษฐกิจเยอรมนีอย่างมาก การปรับเปลี่ยนในด้านต่างๆ อาจกระทบต่อการจ้างงานหรือการเติบโตทางเศรษฐกิจได้
ที่มา: AFP/ The Local
ข่าวที่เกี่ยวข้อง: