ไม่พบผลการค้นหา
อียูบรรลุข้อตกลงลดการปล่อยก๊าซ CO2 ลงร้อยละ 37 ภายใน 2573 บางส่วนมองว่ายังไม่เพียงพอ ในขณะที่จีนคาดการณ์อนาคตคนใช้รถยนต์ร่วมกันเพิ่มขึ้น

สมาชิกประเทศสหภาพยุโรป หรือ อียู ได้บรรลุข้อตกลงในการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากรถยนต์ร้อยละ 37 ภายในอีก 10 ปีข้างหน้า (พ.ศ.2573) โดยความตกลงนี้ถือเป็นการหาข้อยุติให้กับความเห็นที่แตกต่างระหว่างประเทศผู้ผลิตรถยนต์และนักกฏหมายที่แสดงความเป็นห่วงต่อชั้นบรรยากาศของโลก

หลังจากได้หารือจนก่อเป็นความแตกแยกร่วมเดือนในประเด็นความเข้มงวดด้านการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากรถยนต์ เนื่องจากมีบางประเทศเรียกร้องให้ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกโดยรวมมากถึงร้อยละ 40 ภายในปี 2573

เยอรมนีติงตั้งเป้าหมายสูงเกินไป

โดยเฉพาะเยอรมนี ประเทศผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่ที่สุดในโลกด้วยมูลค่ารวมถึง 4.8 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 15.7 ล้านล้านบาทในปี 2560 ออกมาเตือนว่าการตั้งเป้าที่ยากเกินไปและการมุ่งเน้นไปที่การใช้รถยนต์ไฟฟ้าจะเป็นการทำร้ายอุตสาหกรรมรถยนต์โดยรวมและก่อให้เกิดการว่างงานจำนวนมาก

สมาพันธ์อุตสาหกรรมรถยนต์เยอรมัน หรือ German automobile association (VDA) กล่าวว่า กฏหมายใหม่นี้จะก่อให้เกิดอุปสงค์ในรถยนต์ไฟฟ้าเป็นจำนวนมาก แต่กลับไม่มีการประชาสัมพันธ์หรือสร้างแรงจูงใจให้ประชาชนหันมาใช้รถยนต์ไฟฟ้า

อย่างไรก็ตาม หลังมีการหารือนานกว่า 9 ชั่วโมง ตัวแทนของรัฐสภายุโรปและประเทศสมาชิกของอียูเห็นพ้องในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากรถยนต์ร้อยละ 37.5 และรถตู้ร้อยละ 31 ภายในปี 2573 เมื่อเทียบกับปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในปี 2565 นอกจากนี้ยังมีเป้าหมายชั่วคราวในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากทั้งรถยนต์และรถตู้ลงร้อยละ 15 ภายในปี 2568


“นี่เป็นสัญญาณสำคัญในการต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงทางภูมิอากาศของเรา” เอลิซาเบธ โคซทิงเกอร์ รัฐมนตรีกระทรวงความยั่งยืนของออสเตรีย ปัจจุบันดำรงตำแหน่งประธานอียู กล่าว

มีกฏแต่ไม่พอ

อย่างไรก็ตาม กลุ่มผู้รณรงค์สนับสนุนให้การคมนาคมและสิ่งแวดล้อมเป็นสีเขียวในกรุงบรัสเซลล์ ประเทศเบลเยียม มองว่าข้อตกลงนี้ขาดความทะเยอทะยานเกินไป

“ยุโรปกำลังเปลี่ยนเกียร์ในการแข่งขันมาใช้การปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้เป็นศูนย์ จากกฏหมายใหม่หมายความว่า ภายในปี 2573 รถยนต์ 1 ใน 3 ที่ผลิตใหม่จะเป็นรถยนต์ไฟฟ้า ไม่ก็เป็นรถยนต์ที่ได้พลังงานจากก๊าซไฮโดรเจน มันก็ถือว่ามีความคืบหน้า แต่มันไม่รวดเร็วเพียงพอต่อการบรรลุเป้าหมายทางสภาพอากาศ” ผู้อำนวยการของกลุ่มรณรงค์ เกร็ก อาช์เชอร์ กล่าว

อนาคตของอุตสาหกรรมรถยนต์โลก

ขณะนี้เหล่าผู้นำในอุตสาหกรรมรถยนต์ของจีนต่างมองไปในทางเดียวกันว่า เทรนด์การใช้รถยนต์ในอนาคตคือการใช้ร่วมกัน ไม่ใช่การเป็นเจ้าของเดี่ยวๆ อีกต่อไป



ศาลอียูเตรียมตัดสิน'อูเบอร์'เป็นบริษัทแท็กซี่หรือไม่
“เด็กรุ่นใหม่ไม่ได้สนใจการเป็นเจ้าของ แต่สนใจไปที่การเข้าถึงได้มากกว่า” ฟรีแมน เชน ซีอีโอของดับเบิลยูเอ็ม มอร์เตอร์ บริษัทผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้าสัญชาติจีนกล่าว

ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีในช่วงเวลาหลายปีที่ผ่านมาก่อให้เกิดธุรกิจมูลค่าหลายล้านล้านบาท อย่าง อูเบอร์ (Uber) นายเชนมองว่า สุดท้ายแล้วความเปลี่ยนแปลงคงเป็นในทางที่ผู้คนหันมาจับจองที่นั่งมากกว่าตัวรถยนต์ นำไปสู่การมีรถยนต์ที่น้อยลงบนท้องถนนในที่สุด

หากในอนาคตประชาชนเลือกที่จะใช้รถยนต์ร่วมกัน การรักษาสภาพภูมิอากาศของโลกไว้คงไม่ใช่เรื่องไกลเกินความเป็นจริง คำถามที่สำคัญคือ เรามีเทคโนโลยีที่เอื้อให้คนหันมาใช้รถร่วมกันหรือรถสาธารณะได้จริงหรือยัง โดยเฉพาะในประเทศไทย ที่ยังมีปัญหาคนขับรถทะเลาะกันทุกวัน

อ้างอิง; Reuters, CNBC