รายงานฉบับใหม่ของสมาคมอุตุนิยมวิทยาสหรัฐฯระบุว่า ก๊าซเรือนกระจกทั้งก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ก๊าซมีเทน ก๊าซไนตรัสออกไซด์ในปี 2018 ถูกปล่อยมากที่สุดเป็นประวัติการณ์นับตั้งแต่มีการบันทึกมา ส่งผลให้สภาพอากาศของโลกร้อนขึ้นถึง 43 เปอร์เซ็นต์นับจากปี 1990
ขณะที่รายงานของสหรัฐฯระบุว่า ภาคการคมนาคมขนส่งในสหรัฐฯมีอัตราส่วนการปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากที่สุด โดยคิดเป็นอัตราเฉลี่ยถึง 29 เปอร์เซ็นต์ ขณะที่ในสหภาพยุโรปภาคการคมนาคมขนส่งปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากถึง 27 เปอร์เซ็นต์ และอุตสาหกรรมการบินระหว่างประเทศนั้นเป็นภาคส่วนที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกมาที่สุด ซึ่งนับตั้งแต่ปี 1990 เป็นต้นมามีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเพิ่มขึ้นถึง 114 เปอร์เซ็นต์
รายงานของกลุ่มปฏิบัติการการขนส่งทางอากาศระบุว่า ในปี 2018 ไฟล์ทบินทั่วโลกปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์มากถึง 895 ล้านตัน หรือประมาณ 2.4 เปอร์เซ็นต์ของการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากน้ำมือมนุษย์ที่มีมากกว่า 42,000 ล้านตัน
แม้ตัวเลข 2.4 เปอร์เซ็นต์จะเป็นตัวเลขที่น้อยนิดเมื่อเทียบผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่มนุษย์สร้างขึ้น แต่ที่ผ่านมาอุตสาหกรรมการบินเป็นภาคส่วนที่เติบโตอย่างรวดเร็ว ซึ่งนับตั้งแต่ปี 2013-2018 อุตสาหกรรมการบินมีการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เพิ่มขึ้นถึง 26 เปอร์เซ็นต์ และด้วยการเติบโตอย่างรวดเร็วของอุตสาหกรรมการบิน มีการคาดการณ์ว่า ภายในปี 2050 อุตสาหกรรมดังกล่าวจะปล่อยก๊าซคาร์บอนฯถึง 1 ใน 4 ของปริมาณก๊าซคาร์บอนทั่วโลก ซึ่งจะส่งผลให้อุณภูมิของโลกเพิ่มขึ้น 1.5 องศาเซลเซียส
เที่ยวบิน 1 ไฟล์ท ปล่อยก๊าซคาร์บอนฯนับหมื่นกิโลกรัม
กว่า 80 เปอร์เซ็นต์ของการปล่อยก๊าซคาร์บอนฯในอุตสาหกรรมการบินเกิดจากไฟล์ทบินที่มีระยะทางมากกว่า 1,500 กิโลเมตร ซึ่งการใช้น้ำมัน 1 กิโลกรัม จะมีการเผาผลาญและปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศประมาณ 3.15 กรัม แม้ตัวเลขดังกล่าวอาจจะดูน้อยนิด แต่เนื่องจากระยะทางของการบินและการใช้น้ำมันในแต่ละเที่ยวบินส่งผลให้เกิดการเผาผลาญและปล่อยก๊าซคาร์บอนฯออกมาเป็นจำนวนมาก เป็นต้นว่า เส้นทางภายในประเทศระหว่างดอนเมืองและเชียงใหม่จะใช้น้ำมันอย่างน้อย 2,500 ตัน ซึ่งจะปล่อยก๊าซคาร์บอนฯ ออกมาถึง 7,800 - 7,900 กรัม
และยิ่งระยะทางในการบินยิ่งยาวนานขึ้นอัตราการปล่อยก๊าซคาร์บอนฯขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศยิ่งมากขึ้นตามลำดับ นอกจากนี้ขนาดของเครื่องบินก็มีผลต่อการปล่อยก๊าซคาร์บอนฯ เช่นกัน อย่างเช่นเครื่องบินขนาดใหญ่อย่างแอร์บัส เอ380 นั้นมีอัตราการใช้น้ำมันมากกว่า 9,000 กิโลกรัมต่อชั่วโมง ซึ่งเมื่อคิดอัตราการปล่อยก๊าซคาร์บอนฯ พบว่า เครื่องบินรุ่นแอร์บัสเอ 380 นั้นจะปล่อยก๊าซตาร์บอนฯถึง 500 กิโลกรัม ต่อ นาที
มาตรการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนฯ
ทางองค์การสหประชาชาติได้จัดตั้งหน่วยงาน 'Corsia' เพื่อดูแลการปล่อยก๊าซคาร์บอนฯของภาคอุตสาหกรรมการบิน โดยจะมีผลบังคับใช้กฎระเบียบการชดเชยสำหรับการปล่อยก๊าซคาร์บอนฯ จากภาคอุตสาหกรรมการบินในปี 2020 ซึ่งมีการลงนามจากประเทศสมาชิกทั้งหมด 192 ประเทศ
ในปัจจุบันหลายประเทศในสหภาพยุโรป (อียู) มีการเก็บภาษีการบิน เพื่อชดเชยการปล่อยคาร์บอนฯ จากอุตสาหกรรมการบินโดยมีประเทศเยอรมนีเป็นแระเทศแรกที่มีการเก็บภาษีสิ่งแวดล้อมจากการบินมาตั้งแต่ปี 2011 ซึ่งจะทำการเก็บภาษีประเภทดังกล่าวในทุกที่นั่งของชั้นโดยสาร โดยมีอัตราภาษี 8 ยูโรสำหรับประเทศในกลุ่มEU ประเทศที่เป็นแคนดิเดตEU ประเทศที่เป็นพันธมิตรทางการค้ากับ EU ขณะที่ประเทศอื่นๆที่มีระยะทางน้อยกว่า 6,000 กิโลเมตรจะเก็บภาษีในอัตรา 25 ยูโร และ 42 ยูโรสำหรับประเทศที่มีระยะทางมากกว่า 6,000 กิโลเมตรที่ทำการบินออกจากประเทศเยอรมนี
ส่วนประเทศสวีเดน เก็บภาษีดังกล่าวมาตั้งแต่ปี 2018 โดยจะเก็บภาษีสูงถึง 25 ยูโรต่อที่นั่งในเที่ยวบินที่ทำการบินออกจากประเทศสวีเดนไปยังประเทศนอกสหภาพยุโรป ขณะที่หากเป็นเที่ยวบินจากสวีเดนไปยังประเทศในสหภาพยุโรปจะมีการเก็บภาษีในอัตราเพียง 6 ยูโรต่อที่นั่ง
ทางด้านฝรั่งเศส ระบุว่าในปี 2020 จะเก็บภาษีสิ่งแวดล้อมจากสายการบินที่บินออกจากฝรั่งเศส โดยคาดว่าจะสามารถเก็บรายได้มากถึง 180 ล้านยูโร ซึ่งราคาของภาษีนั้นจะขึ้นอยู่กับระยะทางของเที่ยวบินและชั้นที่นั่งของผู้โดยสาร
สำหรับการเดินทางในฝรั่งเศสหรือในประเทศสหภาพยุโรปอัตราภาษในชั้นประหยัดจะถูกบวกเพิ่ม 1.5 ยูโร และหาบินออกนอกประเทศกลุ่มสหภาพยุโรปจะมีอัตราภาษี 3 ยูโร ขณะที่ในชั้นธุรกิจจะเก็บภาษีสิ่งแวดล้อมเพิ่มขึ้น 9 ยูโร สำหรับไฟล์ทในประเทศและในกลุ่มสหภาพยุโรป และ 18 ยูโร สำหรับไฟล์ทบินออกนอกEU
ขณะที่ทางประเทศเนเธอร์แลนด์จะมีการบังคับใช้ร่างกฎหมายเก็บภาษีสิ่งแวดล้อมจากผู้โดยสาร ซึ่งจะมีอัตราภาษีสิ่งแวดล้อม 7 ยูโรในทุกที่นั่งของแต่ละเที่ยวบินที่ทำการบินออกจากประเทศเนเธอร์แลนด์ นอกจากนี้สำหรับการขนส่งสินค้าทางอากาศจะมีการเก็บภาษีสิ่งแวดล้อม 3.85 ยูโรต่อสินค้า 1,000 กิโลกรัม