วันที่ 22 ม.ค. ที่คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผศ.ดร.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล ผู้อำนวยการศูนย์นิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นำเสนอแนวทางการปฏิรูปตำรวจ และกระบวนการยุติธรรมไทย แบบทำน้อยได้มาก และเห็นผลเร็ว กรณีศึกษา ‘ลุงเปี๊ยก‘ จากการตกเป็นแพะรับบาป และถูกทรมานบังคับให้สารภาพคดีฆ่าป้าบัวผัน
ผศ.ดร.ปริญญา กล่าวว่า ที่ผ่านมาการปฏิรูปตำรวจ และกระบวนการยุติธรรมไทยเราทำกันมามาก ทั้งการแก้กฎหมาย และออกระเบียบต่างๆ แต่กลับไม่เห็นผล ตัวอย่างสิ่งที่ทำน้อย แต่ได้มากคือ ’ทะเบียนประวัติอาชญากร’ เพราะก่อนหน้านี้ทุกสถานีตำรวจเป็นสถานที่ผลิตอาชญากร เพราะแม้ว่า ผู้ต้องหาจะไม่ถูกอัยการสั่งฟ้อง หรือศาลยกฟ้องก็จะไม่มีการลบทะเบียนประวัติอาชญากร จึงทำให้ปัจจุบันเรามีอาชญากรทั้งประเทศ 13,500,000 คน
ขณะที่กรณีของ ‘ลุงเปี๊ยก’ ที่ท้ายที่สุดตำรวจยอมรับว่า จำผิดตัว และไม่ได้เป็นคนลงมือฆ่าป้าบัวผัน แต่กลับมีการทำแผนประกอบคำรับสารภาพไปแล้ว นั่นแสดงให้เห็นว่า ตำรวจไม่ได้เอาประชาชนเป็นศูนย์กลาง ตามที่รัฐธรรมนูญ ม.29 วรรค 2 ระบุว่า ในคดีอาญาให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้ต้องหาหรือจำเลยไม่มีความผิด ก่อนมีคำพิพากษาอันถึงที่สุดจะปฏิบัติต่อบุคคลนั้นเสมือนว่ากระทำความผิดไม่ได้
แต่การสอบสวน ลุงเปี๊ยก นั้น ตำรวจกลับใช้กระบวนการยุติธรรมมุ่งเป้าไปสู่การยอมรับให้สารภาพ เพราะตำรวจเชื่อไปแล้วว่า ลุงเปี๊ยกผิด และทำทุกอย่างให้สารภาพว่า เป็นคนฆ่าป้าบัวผัน นั่นจึงเป็นการละเมิดกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา รวมถึงพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ป้องกันการซ้อมทรมาน และการอุ้มหาย ซึ่งมีผลบังคับใช้ไปแล้ว
อีกทั้งกระบวนการฝากขังผู้ต้องหาอย่าง ลุงเปี๊ยก ในวันเสาร์ที่ 13 ม.ค. แต่ได้รับการปล่อยตัวในวันจันทร์ ทั้งที่ตอนบ่ายของวันที่ 13 ม.ค. ตำรวจะแจ้งแล้วว่า จับผิดตัว ตลอดจนศาลไม่มีการตรวจสอบการใช้อำนาจของตำรวจ ออกหมายขังโดยไม่ตั้งคำถาม หรือตรวจสอบการทำงานของตำรวจที่ไม่เป็นไปตาม ม.29 วรรค 2 และการละเมิด พ.ร.บ.อุ้มหายฯ
ขณะที่ตำรวจ อัยการ ผู้พิพากษา และกรมราชทัณฑ์ ต่างคนต่างทำงาน ทั้งที่มีกระทรวงยุติธรรม ทำให้ไม่มีการบูรณาการ และไม่มีการประเมินผลกระบวนการยุติธรรมที่เห็นเป็นรูปธรรมชัดเจน จนก่อให้เกิดการละเมิดกฎหมายโดยตำรวจอยู่เรื่อยมา
ผศ.ดร.ปริญญา เสนอ 4 แนวทางในการปฏิรูปตำรวจ และกระบวนการยุติธรรมไทย ดังนี้
(1) เปลี่ยนตำรวจไทยให้มีแนวคิดยึดโยงประชาชน และเคารพกฎหมาย โดยอาจจะมีการฝึกอบรมหลักสูตร Citizen Oriented เป็นหลักสูตรระยะสั้น
(2) เปลี่ยนวิธีการวัดประเมินผลจากเดิม เอาผลงานการจับกุมเปลี่ยนเป็น ตามหลักการ Citizen Oriented ให้เป็นเป้าหมายลดอาชญากรรมในพื้นที่ให้มาก มีจำนวนการจับกุมที่น้อยลง เพราะระบบการประเมินวัดจากปริมาณการจับกุม และจำนวนคดีได้สร้างความคลาดเคลื่อนทางกฎหมายทำให้เกิดการล่อซื้อ
(3) ปรับหลักเกณฑ์พิจารณาเลื่อนตำแหน่ง ต้องนำหลักการ Citizen Oriented และการลดอาชญากรรมในพื้นที่มาเป็นข้อพิจารณา ซึ่งข้อนี้สามารถทำได้ทันที ป้องกันเจ้าหน้าที่ละเมิดกฎหมายได้จริงจัง
(4) ยกเลิกการนำผู้ต้องหา และจำเลยขังไว้ในเรือนจำ เนื่องจากปัจจุบัน จากรายงานสถิติของกรมราชทัณฑ์พบว่า มีนักโทษอยู่ในเรือนจำทั้งสิ้น 276,000 คน ถือเป็นอันดับ 8 ของโลก แต่ถ้าหากคิดตามสัดส่วนประชากรจะถือเป็นอันดับประมาณ 3-4 ของโลก อีกทั้งในจำนวนทั้งหมดนั้น มีผู้ต้องหาที่ยังอยู่ในกระบวนการพิจารณายังไม่สิ้นสุดกว่า 54,530 คน ดังนั้นหากยึดตาม ม.89/1 ของประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา เพื่อร้องขอให้คุมขังที่อื่นได้ เพื่อแก้ปัญหานักโทษล้นคุก
ขณะเดียวกันในจำนวน 276,000 ราย ยังมี ‘ผู้ต้องกักขัง’ ซึ่งหมายถึง ผู้ที่ศาลมีคำพิพากษาให้จ่ายค่าปรับ แต่ไม่มีเงินจ่าย จำนวนกว่า 6,099 คน เลยต้องถูกนำไปกักขังแทน นั่นหมายความว่า คุกมีไว้ขังคนจน ดังนั้นจึงสามารถให้ผู้ต้องกักขังเหล่านั้นไปทำงานบริการสังคมแทนการจ่ายค่าปรับตาม ม.30/1 ของประมวลกฎหมายอาญาฯ ได้
(5) ปรับกระบวนการยุติธรรมไทยให้สามารถตรวจสอบได้ มีหลักการบูรณาการร่วมกัน และสามารถประเมินผล ด้วยการบังคับใช้ พ.ร.บ.พัฒนาการบริหารงานยุติธรรม พ.ศ. 2559 อย่างจริงจัง