มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จับมืออาสาสมัครแต่ละจังหวัดใกล้แม่น้ำสายใหญ่ ร่วมภารกิจ ‘พายเรือเพื่อเจ้าพระยา’ วัตถุประสงค์เพื่อต้องการรณรงค์ให้คนไทยเลิกทิ้งขยะลงแหล่งน้ำ พร้อมสำรวจสถานการณ์ขยะในแต่ละพื้นที่ ผ่านวิธีการพายเรือคายัคเก็บขยะบริเวณกลางแม่น้ำและริมตลิ่งเป็นระยะทาง ยาวนาน 14 วัน ตั้งแต่ปากน้ำโพ จ.นครสวรรค์ จนถึงอ่าวไทย ระยะทางรวม 400 กิโลเมตร
ภารกิจเริ่มตั้นมาตั้งแต่วันที่ 10 ธ.ค. 2561 และจะสิ้นสุดที่การพายเรือเก็บขยะถึงอ่าวไทยในวันที่ 23 ธันวาคม 2561 วันนี้(18 ธ.ค.) ภารกิจดำเนินไปเกินครึ่งทาง จังหวัดล่าสุดที่คณะพายเรือเพื่อเจ้าพระยาเพิ่งเคลื่อนผ่านคือ จ.พระนครศรีอยุธยา (เมื่อวันที่ 16-17 ธ.ค.) พบแม่น้ำรอบเกาะเมือง มีปริมาณขยะมากกว่าทุกจังหวัดที่ทางคณะผู้จัดพายเรือผ่านมา
ผศ.ดร.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และผู้นำคณะฯ เปิดเผยว่า ขยะในแม่น้ำที่ จ.พระนครศรีอยุธยามีปริมาณใกล้เคียงกรุงเทพฯ เมื่อเทียบปริมาณต่อระยะทาง กล่าวคือ ในระยะทาง 13 กิโลเมตร กลุ่มอาสาสมัครเพียงราว 15 คน สามารถเก็บขยะได้มากถึง 318 กิโลกรัม โดยมีขยะโฟมแทบทุกชนิด และที่พบมากกว่าที่อื่นคือขยะแบบอัดแน่นในถุง โดยมัดปากถุงแล้วทิ้งลงแม่น้ำโดยตรง
“ความที่อยุธยาคงจะมีแม่น้ำหลายสาย จะไปโทษคนอยุธยาก็ยังไม่ได้ เพราะว่าอาจจะเป็นคนที่มาเที่ยวก็ได้”
ทั้งนี้ ผศ.ดร.ปริญญา ยังบอกอีกว่า ระยะเวลา 8 วันที่ผ่านมา ทางคณะฯ เก็บขยะได้ถึง 1 ตัน หรือเกือบหนึ่งแสนชิ้น ซึ่งนับว่าเป็นปริมาณที่ม��ก เมื่อเทียบกับสถิติแต่ละปีที่มีปริมาณขยะจากเฉพาะ 5 แม่น้ำสายหลัก(เจ้าพระยา ท่าจีน แม่กลอง บางปะกง บางตะบูน) ไหลลงอ่าวไทยกว่า 2,100 ตัน หรือกว่า 170 ล้านชิ้น และหากนับเฉพาะแม่น้ำเจ้าพระยาซึ่งมีปริมาณขยะมากที่สุด ก็มีปริมาณมากถึง 1,425 ตันต่อปี เข้าไปแล้ว
“เราพูดถึงแต่การแยกขยะ แต่การแยกขยะเป็นเรื่องสุดท้ายนะ ความจริงคนไทยจำนวนมากยังทิ้งขยะไม่ลงถังเลย ยังทิ้งลงแม่น้ำ ทิ้งลงข้างถนนอยู่เลย”
แม้ ผศ.ดร.ปริญญา จะเป็นนักกฎหมาย แต่เขากลับเชื่อว่าจิตสำนึกของคนสามารถเปลี่ยนได้โดยวิธีอื่นๆ ที่ไม่ใช่มาตราการเชิงกฎหมาย หากแต่เป็นกิจกรรมเชิงบวกที่สามารถสื่อสารประเด็นทางสังคมอย่างง่าย ซึ่งจากประสบการณ์ เขาเชื่อว่ามันสามารถส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมได้มากที่สุด
“จริงๆ มาตรา 33 ใน พ.ร.บ.รักษาความสะอาดฯ มีโทษหนักอยู่แล้ว แต่เจ้าหน้าที่จะไปคอยไล่จับได้อย่างไร เราสื่อสารกับจิตสำนึกของคนโดยตรงดีกว่า”
อย่างไรก็ตาม ภารกิจ ‘พายเรือเพื่อเจ้าพระยา’ ยังดำเนินต่อไปถึงวันที่ 23 ธ.ค. 2561 หากใครสนใจร่วมกิจกรรม หรือร่วมเป็นอาสาสมัครพายเรือเก็บขยะ ตั้งแต่วันที่ 19-23 ธ.ค.ซึ่งคณะฯ จะพายเรือผ่านจังหวัด ปทุมธานี นนทบุรี กรุงเทพฯ และสมุทรปราการ สามารถติดต่อสอบถามได้ที่เฟสบุ๊ค ‘พายเรือเพื่อเจ้าพระยา’ หรือร่วมลงชื่อแสดงเจตนารมณ์ในแคมเปญหยุดทิ้งขยะลงแม่น้ำ หรือ ‘Don’t River Dump’ สามารถลงชื่อได้ที่ https://www.trashriver.live/
ภาพ - Thammasat Smart City