ผศ.ดร.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล รองอธิการบดีฝ่ายความยั่งยืนและบริหารศูนย์รังสิต มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับสมมติฐาน การคาดการณ์ และการวิจัยการเลือกตั้ง 2562 เรื่อง “การเลือกตั้งแบบทรีอินวัน กับผลทางการเมืองและการใช้สิทธิ์ของประชาชน” ในงานเสวนาทางวิชาการที่จัดขึ้น โดยคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ผศ.ดร.ปริญญา กล่าวว่า ระบบเลือกตั้งแบบจัดสรรปันส่วนผสม ถูกเรียกว่าการเลือกตั้งแบบทรีอินวัน คือการใช้สิทธิ์เลือกตั้งของประชาชนซึ่งมีเพียงคะแนนเดียว จะเลือกตั้งแบบแบ่งเขตเลือกตั้ง แบบบัญชีรายชื่อ และเลือกนายกรัฐมนตรีไปพร้อมกัน ซึ่งเกิดผลกระทบตามมาโดยเป็นปัญหาที่ผู้ร่างรัฐธรรมนูญไม่ได้คาดการณ์ไว้ โดยเฉพาะการที่พรรคการเมืองขนาดใหญ่ อย่างพรรคเพื่อไทยแยกตัวออกมาเป็นพรรคย่อยหลายพรรค ซึ่งเป็นครั้งแรกที่พรรคเพื่อไทยส่งผู้สมัครไม่ครบทั้ง 350 เขต โดยขาดส่งถึง 100 เขต ขณะที่พรรคการเมืองขนาดเล็กกลับส่งครบทุกเขต ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ประหลาดที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน
ผศ.ดร.ปริญญา คาดการณ์ผลทางการเมืองที่เกิดจากระบบจัดสรรปันส่วนผสมว่า จะไม่มีพรรคการเมืองใดได้ ส.ส. ถึงครึ่ง หรือ 250 เสียง โดยเฉพาะในการเลือกตั้งครั้งนี้มี first time vote หรือผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งครั้งแรกมากถึง 6.4 ล้านคน ซึ่งมีแนวโน้มจะเลือกพรรคใหม่อย่างพรรคอนาคตใหม่มากกว่าพรรคเก่า ซึ่งจะทำให้พรรคใหญ่ที่มีอยู่เดิมได้คะแนนเสียงน้อยลงไปอีก
ขณะเดียวกันจะเกิดการเมืองแบบสามก๊กในการจัดตั้งรัฐบาล โดยมีพรรคพลังประชารัฐเกิดเป็นขั้วที่ 3 มีพรรคการเมืองขนาดกลาง คือพรรคภูมิใจไทยและพรรคชาติไทยพัฒนาเป็นตัวแปรสำคัญ โดยโอกาสของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา จะได้เป็นนายกรัฐมนตรีมากที่สุด ต่อเมื่อพรรคพลังประชารัฐได้เสียงเป็นอันดับที่หนึ่ง อย่างไรก็ตามแม้จะมีพรรค ส.ว.ให้การสนับสนุน แต่การเป็นรัฐบาลที่อยู่ได้ จะต้องมีเสียง ส.ส.อย่างน้อยครึ่งหนึ่ง จึงทำให้พรรคพลังประชารัฐต้องตั้งรัฐบาลผสมกับพรรคประชาธิปัตย์ โดยอยู่ภายใต้เงื่อนไขที่ว่าพรรคพลังประชารัฐต้องมาเป็นที่หนึ่ง
ผศ.ดร.ปริญญา กล่าวว่า ก่อนที่จะมีการเลือกตั้งอีก 18 วัน ยังมีผู้ที่มีสิทธิ์เลือกตั้งกว่าร้อยละ 40 ที่ยังไม่ตัดสินใจ ซึ่งอาจทำให้พรรคพลังประชารัฐมีโอกาสที่จะได้เป็นพรรคอันดับหนึ่งได้ แต่ด้วยการที่กลุ่มคนเหล่านี้ที่เป็นกลุ่มคนตรงกลางๆ หรือที่เรียกว่า swing voters ยังไม่ตัดสินใจ การเลือกส.ว.ของ คสช. อาจกลายเป็นจุดอ่อนที่ทำให้เสียคะแนนนิยมจากคนกลุ่มนี้ได้ และในช่วงที่จะมีการเลือกนายกฯ คาดว่าจะมีกระแสให้ 250 ส.ว.ฟรีโหวตเลือกนายกฯเกิดขึ้น
ส่วนปัญหาเรื่องคุณสมบัติของพลเอกประยุทธ์ รัฐธรรมนูญยกเว้นแต่เพียงเจ้าหน้าที่รัฐที่เป็นข้าราชการการเมืองเท่านั้น ส่วนเจ้าหน้าที่รัฐอื่นไม่ได้รับการยกเว้น ประเด็นสำคัญที่จะต้องมีการพิจารณาต่อไป คือหัวหน้า คสช. เป็นเจ้าหน้าที่รัฐหรือไม่ ซึ่งเรื่องนี้จะกระทบต่อความนิยมของคนตรงกลางๆที่มีต่อพลเอกประยุทธ์ และจะมีผลทำให้พรรคพลังประชารัฐได้เสียงตรงกลางนี้ยากขึ้น
กังวลปมยุบทษช. กรรมการบริหารส่อถูกตัดสิทธิ์ตลอดชีวิต
ผศ.ดร.ปริญญา ยังกล่าวถึงเรื่องการยุบพรรคไทยรักษาชาติว่า ต่อให้มีการยุบพรรคเกิดขึ้นจริง จะไม่เกิดผลในเรื่องของจำนวนส.ส.ที่เลือกหรือไม่เลือกพลเอกประยุทธ์ เพราะพรรคการเมืองที่ประกาศไม่เอาพลเอกประยุทธ์ นอกจากพรรคไทยรักษาชาติแล้วยังมีพรรคอื่นอีกหลายพรรค ซึ่งผู้ที่เคยเลือกพรรคไทยรักษาชาติจะไปเลือกพรรคอื่นที่มีแนวทางเดียวกัน อย่างไรก็ตามยอมรับว่ามีความเป็นห่วงกรรมการบริหารพรรคที่อาจถูกตีความเรื่องของการตัดสิทธิ์ตลอดชีวิต รวมถึงสมาชิกพรรคที่ไม่มีส่วนรู้เห็นจะมีการเยียวยากันอย่างไร
ผศ.ดร.ปริญญา คาดการณ์พฤติกรรมการใช้สิทธิ์เลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นระบบทรีอินวันนี้ด้วยว่า จะเกิดมากที่สุดอย่างที่ไม่เคยปรากฏ และสุดท้ายเรื่องนายกรัฐมนตรีจะเป็นปัจจัยในการตัดสินใจของคนส่วนใหญ่ ส่วนกลุ่ม swing voters รวมถึง first time voters อาจจะไม่เลือกทั้งพลเอกประยุทธ์และกลุ่มของนายทักษิณ ชินวัตร แต่จะเลือกพรรคใหม่อย่างพรรคอนาคตใหม่แทน ซึ่งเรื่องนี้สะท้อนถึงการเมืองแบบที่ผู้ใหญ่เคยเลือกไว้ที่ขัดกับการเมืองของคนรุ่นใหม่ที่อยากเลือกในแบบที่แตกต่างไปจากเดิม ซึ่งเป็นความขัดแย้งที่แตกต่างไปจากความขัดแย้งของเสื้อเหลืองและเสื้อแดงเมื่อ 13 ปีที่แล้ว เพราะครั้งนี้เป็นความขัดแย้งระหว่าง generation
ส่วนประเด็นเรื่องอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการการเลือกตั้ง หรือ กกต.ที่มากกว่าเดิม โดยเฉพาะการมีอำนาจให้ใบส้มและใบดำนั้น อาจทำให้ กกต.ทำหน้าที่ได้ดีขึ้น แต่ก็ทำให้เกิดความซับซ้อนและเข้าใจยากมากกว่าเดิม ขณะที่ กกต.ทั้ง 7 คนได้รับการแต่งตั้งโดย สนช.ที่มาจาก คสช. หาก กกต.ไม่วางบทบาทให้ดี โดยเฉพาะการปฏิบัติต่อพรรคพลังประชารัฐและต่อพลเอกประยุทธ์ อาจเกิดปัญหาต่อความเชื่อมั่นในการเลือกตั้งทั้งหมดได้