ไม่พบผลการค้นหา
นักวิชาการนิติศาสตร์-ประธานมูลนิธิผสานวัฒนธรรม จี้ ‘ประยุทธ์-วิษณุ’ ขอโทษประชาชน ปม พ.ร.ก.เลื่อนใช้ พ.ร.บ.อุ้มหายฯ ถูกศาล รธน. ตีตก

วันที่ 25 พ.ค. ที่คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์นิติศาสตร์ จัดงานเสวนาพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) เลื่อนการบังคับใช้ พ.ร.บ.ป้องกันการอุ้มหายไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ มีผลอย่างไร และใครบ้างที่ต้องรับผิดชอบ โดยมี ผศ.ดร.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล ผู้อำนวยการศูนย์นิติศาสตร์ รณกรณ์ บุญมี ศูนย์กฎหมายอาญา คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และสุรพงษ์ กองจันทึก ประธานมูลนิธิผสานวัฒนธรรม เป็นผู้ร่วมเสวนา 

ผศ.ดร.ปริญญา เล่าถึงความเป็นมาว่า พ.ร.บ.ป้องกันการอุ้มหายทรมานผ่านมติเห็นชอบของทุกพรรคในสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ไปจนถึงสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) โดยไม่มีข้อโต้แย้ง เพราะสังคมตระหนักได้ว่า เราต้องการกฎหมายเพื่อป้องกันไม่ให้เรื่องนี้เกิดขึ้น แต่ปรากฎว่าเมื่อถึงเวลาที่กฎหมายต้องบังคับใช้ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) ก็ขอประวิงเวลาเนื่องจากต้องมีการเตรียมการ จึงให้เวลา 120 วัน หลังจากประกาศในราชกิจจานุเบกษา คือวันที่ 25 ต.ค. 2565 ซึ่งต้องมีผลบังคับใช้ในวันที่ 22 ก.พ. 2566 แต่ท้ายที่สุด สตช. ไม่เร่งรัดดำเนินการใดๆ และไปขอกับนายกรัฐมนตรีให้ตั้ง พ.ร.ก. เลื่อนการบังคับใช้ออกไปก่อน 

ผศ.ดร.ปริญญา กล่าวว่า เนื้อหาใหญ่ของ พ.ร.ก. เลื่อนการบังคับใช้คือ มีการแก้มาตราที่เกี่ยวกับเลื่อนการบังคับใช้ไปก่อน และมาตราที่เกี่ยวข้องกับการควบคุมตัวคือ เจ้าหน้าที่ต้องบันทึกภาพ และเสียงอย่างต่อเนื่อง ก่อนส่งตัวเข้าสู่เจ้าพนักงานสอบสวน ซึ่งถูกเลื่อนเวลาบังคับใช้มาตราดังกล่าวออกไปเป็น 1 ต.ค. แม้ว่า เรื่องนี้จะมีการทักท้วงกันแล้วว่า มันทำไม่ได้ มันไม่เข้าเงื่อนไขตามรัฐธรรมนูญที่ฝ่ายบริหารจะสามารถทำได้ 

โดยปกติแล้วการออก พ.ร.ก. ต้องรีบเสนอต่อสภาหรือฝ่ายนิติบัญญัติให้อนุมัติโดยไว แต่ขั้นตอนนั้น ฝ่ายบริหารอาจจะมองว่า สภาใกล้จะหมดวาระแล้ว แต่ในท้ายที่สุดก็สามารถบรรจุได้ทันในสมัยประชุมสุดท้าย แต่ พ.ร.ก.นั้นจะไม่สามารถผ่านสภาได้แน่นอน วิปรัฐบาลจึงทำการเตะออก แล้วส่งไปให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยแทน

แม้ศาลรัฐธรรมนูญยังไม่มีคำวินิจฉัยรายบุคคล 8 ต่อ 1 ออกมา และมีผลมติวินิจฉัยโดยไม่เป็นไปตาม ม.172 วรรค 1 ที่ชี้ว่า ไม่เป็นเรื่องรักษาความปลอดภัยของประเทศ ความปลอดภัยสาธารณะ ความมั่นคงในทางเศรษฐกิจ หรือป้องกันภัยพิบัติสาธารณะ จึงถือว่า พ.ร.ก.เลื่อนบังคับใช้ ดังกล่าวถูกตีตกไป ทำให้ พ.ร.บ.ป้องกันการซ้อมทรมานและอุ้มหาย มีผลตั้งแต่วันที่ 22 ก.พ. 2566 ดังเดิม 

ผศ.ดร.ปริญญา กล่าวว่า ในส่วนของการรับผิดชอบนั้น ในตามกฎหมาย สตช. เป็นส่วนราชการที่มีฐานะเป็นนิติบุคคลอยู่ในบังคับบัญชาของนายกรัฐมนตรี คนรับผิดชอบจึงไม่ได้มีแค่ผู้บัญชาการตำรวจ (ผบ.ตร.) แต่ยังรวมถึงนายกรัฐมนตรีอีกด้วย และการไม่ปฏิบัติตาม ม.22 ใน พ.ร.บ.อุ้มหายฯ คือ ต้องมีการบันทึกภาพระหว่างการจับกุมตัวนั้น ไม่ได้มีบทลงโทษ แปลว่า ไม่ได้เกิดปัญหาอะไรกับการใช้งาน จึงตั้งข้อสังเกตว่า สาเหตุที่เลื่อนการบังคับใช้ 4 มาตราที่ถูกเลื่อนไปเป็น 1 ต.ค. อาจเป็นเพราะ พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ ผบ.ตร. คนปัจจุบัน จะเกษียณในวันที่ 30 ก.ย. ถือเป็นการโยนภาระให้แก่ ผบ.ตร. คนใหม่หรือไม่


ออก พ.ร.ก. 31 ฉบับ มากที่สุดในทุกรัฐบาล

“9 ปีที่ผ่านมา พล.อ.ประยุทธ์ ออก พ.ร.ก.ทั้งสิ้น 31 ฉบับ มากที่สุดในทุกรัฐบาล อาจเป็นความเคยชินที่คิดว่าทำได้ แต่ไม่ตรวจสอบให้ดี เรื่องนี้ไม่ใช่ปัญหาเพียงแค่ไม่ตรวจสอบ หรือคนที่จะช่วยตรวจสอบคือ วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ฝ่ายกฎหมายก็ไม่ตรวจสอบ และผบ.ตร. ก็ไม่ทำหน้าที่ของท่าน โทษอย่างเบาสุดคือ การประมาทเลินเล่อ” ผศ.ดร.ปริญญา กล่าว 

ขณะที่ ผศ.ดร.รณกรณ์ กล่าวว่า สาเหตุที่รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ออก พ.ร.ก. มาเลื่อนใช้ พ.ร.บ. นั้นอาจเป็นเพราะในปี 2562 มีการออก พ.ร.ก.เพื่อชะลอการบังคับใช้ พ.ร.บ.ส่งเสริมการพัฒนาและคุ้มครองครอบครัว พ.ศ.2562 แต่ศาลรัฐธรรมนูญมีมติว่า สามารถทำได้ ซึ่งการที่ พ.ร.ก.เพื่อชะลอการบังคับใช้ พ.ร.บ.ครอบครัวไม่ขัดต่อรัฐธรรมนูญนั้น เป็นเพราะ พ.ร.บ.ครอบครัวฯ 2562 เป็นการแทนที่ด้วย พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว 2550 โดยเพิ่มกลไกการทำงานภาคส่วนต่างๆ ให้เข้มแข็งขึ้น หมายความว่า แม้จะชะลอกฎหมายใหม่ แต่ยังมีกฎหมายเก่าที่ให้การคุ้มครองสิทธิของประชาชนอยู่ 

แต่เมื่อเทียบกับการออก พ.ร.ก.เพื่อนเลื่อนการบังคับใช้ พ.ร.บ.อุ้มหายนั้น พบว่ามาตราที่ถูกเลื่อนออกไปมันไม่เคยปรากฎอยู่ในการคุ้มครองสิทธิของคนไทยมาตั้งแต่ต้น จึงทำให้สิทธิประชาชนในเรื่องดังกล่าว หายออกไปถึง 8 เดือน นับตั้งแต่วันที่ประกาศใช้วันที่ 22 ก.พ. 2566 ส่วนความสำคัญของมาตราที่ถูกเลื่อนออกไปนั้น ม.23 และ ม.24 คือการบันทึกข้อมูลรูปพรรณสัณฐานเป็นเงื่อนไขการเข้าร่วมอนุสัญญาอุ้มหายของสหประชาชาติ (UN) ซึ่งประเทศไทยเราเข้าร่วมตั้งแต่ปี 2555 แต่เมื่ออยู่ๆ รัฐบาลเลื่อนออกไป ทำให้สิทธิประชาชนไม่คุ้มครอง รวมถึงทำให้ประเทศไทยไม่สามารถเข้าร่วมอนุสัญญาดังกล่าวได้อีก 6-7 เดือน 

ผศ.ดร.รณกรณ์ กล่าวอีกว่า เชิงปฏิบัติใน พ.ร.บ.อุ้มหายนั้น เจ้าหน้าที่ต้องบันทึกวิดีโอ รวมถึงต้องมีการแจ้งนายอำเภอ และอัยการในท้องที่หากมีการเข้าจับกุมในคนละพื้นที่ระหว่างหมายจับและผู้ถูกจับกุม แต่เมื่อมีการออก พ.ร.ก.มาเลื่อนการบังคับใช้ ทำให้เจ้าหน้าที่ที่ไปจับกุมในช่วงเดือนกุมภาพันธ์-เมษายน ก่อนศาลรัฐธรรมนูญตีตกไปนั้นมีความผิดทางอาญาหรือไม่ 

สำหรับผลทางอาญา หากที่ผ่านมาเจ้าหน้าที่จับกุมแล้วไม่ได้ถ่ายวิดีโอ ไม่ได้แจ้งนายอำเภอและอัยการ ไม่ได้บันทึกรายละเอียดการจับกุม ถือว่าไม่มีความผิดทางอาญา เนื่องด้วยทำตามคำสั่งผู้บังคับบัญชา ไม่มีเจตนาที่กระทำโดยมิชอบตามกฎหมาย ส่วนคณะรัฐมนตรี ในฐานะผู้เสนอ พ.ร.ก.ต้องรับผิดทางอาญาด้วยหรือไม่นั้น รัฐบาลอาจมองว่าตนมีอำนาจ มีคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ ปี 2562 กรณีการออก พ.ร.ก.เพื่อชะลอการบังคับใช้ พ.ร.บ.ส่งเสริมการพัฒนาและคุ้มครองครอบครัาว พ.ศ.2562 เป็นแบ็คอัพ จึงอาจไม่เข้าข่ายความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ 

สำหรับเรื่องเร่งด่วนที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหายต้องทำ คือการพิจาณาระเบียบรองรับเรื่องติดกล้องและบันทึกภาพ รวมทั้งการวางกรอบตีความกฎหมาย และการเยียวยาผู้เสียหาย 

จี้ 'ประยุทธ์-วิษณุ' มีสำนึก ขอโทษประชาชน

ด้าน สุรพงษ์ กองจันทึก ประธานมลูนิธิผสานวัฒนธรรม กล่าวว่า การซ้อมทรมานและอุ้มหายเกิดขึ้นทั่วโลก ไม่สามารถเอาผิดได้เนื่องจากผู้กระทำคือ เจ้าหน้าที่รัฐจึงเกิดอนุสัญญาซ้อมทรมาน ซึ่งไทยเห็นด้วย ส่วนตัวแปลกใจที่มีการออก พ.ร.ก.เลื่อนการบังคับใช้ 4 มาตรา โดย ส.ส.ฝั่งรัฐบาล ทั้งยังเสนอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า พ.ร.ก.ฉบับนี้ขัดต่อรัฐธรรมนูญ

ซึ่งไม่เคยปรากฏเรื่องเช่นนี้มาก่อน ทั้งนี้การบันทึกภาพและเสียงในการตรวจค้น จับกุม มีการเตรียมการมาตั้งแต่ปี 2564 ซึ่งเป็นคำสั่งสำนักงานตำรวจแห่งชาติ การที่อ้างว่าไม่ได้เตรียมการมาก่อนถือเป็นความเท็จ ย้ำว่าการที่เจ้าหน้าที่ตำรวจติดกล้องประจำตัว มีการใช้ในหลายประเทศทั่วโลกเป็นเรื่องปกติ ทำให้เรื่องร้องเรียนน้อยลงอย่างมีนัยยะสำคัญด้วย

สุรพงษ์ ยังเสนอ 5 แนวทางที่รัฐบาล นายกรัฐมนตรี ต้องรับผิดชอบ ดังนี้

1.ต้องรู้ว่าสิ่งที่ทำมีความผิดตามรัฐธรรมนูญ ขัดต่อกฎหมาย 

2.ต้องสำนึกว่าสิ่งที่ทำไปผิดพลาด และจะไม่ทำอีก 

3.ต้องลงโทษ รับโทษ รับผิด อาจจะเริ่มจากการขอโทษประชาชนเสียก่อน

4.ต้องมีกระบวนการเยียวยาให้ผู้เสียหาย

5.ต้องสร้างบรรทัดฐานว่า ต่อไปจะต้องไม่ออก พ.ร.ก.ที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญอีก