ยกแรก : หลังจากที่ ผศ.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล รองอธิการบดีฝ่ายบริหารและความยั่งยืน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พูดถึงการกระทำที่ผิดกฎหมายเพื่อให้เกิดกระแสสังคม และการเปลี่ยนแปลง แต่อย่างไรก็ต้องยอมรับผิด
ทำให้ ใบตองแห้ง หรือ นายอธึกกิต แสวงสุข ระบุว่า “ผมก็นึกว่าอาจารย์ปริญญาจะพูดต่อ ว่าให้ยอมรับผิด เช่น ปิดทำเนียบฯ ปิดสนามบิน ขัดขวางเลือกตั้ง ปิดสถานที่ราชการ ปิดเมือง จะยอมรับผิดป่ะ เห็นออกมาพูดแต่ไม่มีใครยอมรับผิดสักคน”
นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ โต้กลับทันที “อย่างน้อยก็เข้าสู่กระบวนการยุติธรรมไม่หนีไปอยู่ต่างประเทศนะครับ”
ผศ.ปริญญา จึงสรุปว่า “ผมว่าอยากให้เห็น 22 พฤษภาคม 57 เป็นครั้งสุดท้าย ถ้าหากมีสติปัญญามากพอเรียนรู้ว่าผิดพลาดตรงไหนแล้วไม่ทำอีก มันก็จะไม่เกิด ถ้าไม่ทะเลาะกันขนาดนี้ ถ้าสภาของเราสามารถแก้ไขปัญหาความขัดแย้งในบ้านเมืองได้ คสช.ก็จะไม่เข้ามา แต่ทุกฝ่ายเชื่อมั่นว่าที่ทำมาถูกต้อง แม้ตัวเองจะทำผิดกฎหมาย เพราะฉะนั้นครั้งหน้าก็จะเกิดขึ้นอีก”
ยกที่สอง: ใบตองแห้ง แย้ง ผศ.ปริญญา ในสังคมมีความไม่เท่าเทียมกัน การใช้ Hate Speech เป็นสิ่งที่เลี่ยงไม่ได้ เพราะไม่ได้เกิดมาจากการทะเลาะและไม่ฟังกัน แต่รากเหง้าของปัญหาคือความไม่เท่ากัน กลุ่มหนึ่งเชื่อในหลักประชาธิปไตย อีกกลุ่มไม่เชื่อในหลักประชาธิปไตย และความยุติธรรมสองมาตรฐาน กลายเป็นปัญหาที่ไม่มีทางออกมาสิบกว่าปี ยกตัวอย่างเช่น การแข่งขันฟุตบอล หากกรรมการใช้กติกาเดียวกัน ก็จะไม่เกิดความขัดแย้งที่ร้าวลึกของกองเชียร์
ผศ.ปริญญา ระบุว่า คนก็ดูก็เรียกกรรมการด้วย เมื่อเห็นว่าฝ่ายตัวเองกำลังจะแพ้ หรือไม่ก็ปิดสนามไปเลย
'อภิสิทธิ์' รับทุกฝ่ายมีส่วนผิด ค้านเรียกทหารยึดอำนาจ
นายอภิสิทธิ์ จึงโต้แย้งขึ้นมาว่า การสรุปว่ากองเชียร์ปิดสนามเพราะเกรงว่าจะแพ้ไม่ถูกต้อง แต่เกิดจากฝั่งตรงข้ามไม่เล่นตามกติกา คือ รัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ไม่ทำตามที่ให้คำมั่นสัญญากับประชาชนไว้ จะเห็นได้ว่า แม้จะมีปัญหาเรื่องน้ำท่วม หรือจำนำข้าว รัฐบาลก็ยังอยู่ได้ แต่ปัญหามันเกิดจากการผิดคำพูด พยายามที่จะนิรโทษกรรม ในทางกลับกันตนถูกกล่าวหาว่าเป็นฆาตกรในคดีสลายการชุมนุม มีคนเสนอว่าจะนิรโทษกรรมให้ ตนก็ไม่รับ ส่วนตัวยอมรับว่ามีการคนไปเรียกทหารเข้ามารัฐประหารในปี 2557 จริงๆ แต่ตนก็ไม่ได้เห็นด้วย ทั้งพยายามเคยเตือนรัฐบาลแล้ว แต่รัฐบาลขณะนั้นเห็นว่ามีเสียงข้างมาก ไม่ยอมมาตกลงกันเพื่อหาทางออก ดังนั้นการปิดสนาม จึงไม่ใช่เรื่องของการเลือกตั้งแพ้แล้วพาล แต่เป็นการแสดงออกว่าไม่ยอมรับ พ.ร.บ.นิรโทษกรรม แล้วลุกลาม ต่อให้มีการเลือกตั้งก็ไม่สำเร็จอย่างที่เห็น ยอมรับว่าทุกฝ่ายมีส่วนผิด แต่ไม่ใช่แพ้การเลือกตั้งแล้วจึงมีม็อบ ดังนั้นถ้าเรากลับไปสู่ภาวะที่รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งไม่เอาอำนาจไปใช้เกินขอบเขต แล้วปล่อยให้กลไกที่ควรจะทำงาน เช่น องค์กรอิสระ ศาล แก้ไขปัญหาไปตามระบบ ก็จะไม่เกิดความขัดแย้งในลักษระนี้อีก
ใบตองแห้ง จี้สะสางผลพวงรัฐประหาร
จากนั้น ใบตองแห้ง ยังย้ำว่า สังคมไม่สามารถก้าวไปสู่สิ่งใหม่ได้ ตราบใดที่ไม่มีการสะสางผลพวงของรัฐประหาร เราไม่สามารถเคารพกฎหมายได้ ถ้าหากรัฐบาลยังสามารถออกคำสั่งที่ละเมิดกฎหมายได้ แม้จะมีการตั้งพรรคการเมืองใหม่ ตอบสนองความเรียกร้องของสังคมที่อยากเห็นสิ่งใหม่ แต่สิ่งใหม่เกิดไม่ได้ เพราะโครงสร้างเดิมๆเสื่อมถอย รัฐที่ทหารมีอำนาจและพยายามสืบทอดอำนาจต่อไปในการเลือกตั้งครั้งหน้า
ผศ.ปริญญา จึงกล่าวต่อว่า ในสังคมมีคนตรงกลางเป็นเสียงข้างมาก ที่ยังไม่รู้ว่าจะเลือกพรรคไหนข้างไหน เหมือนกับใน ประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งกลุ่มนี้จะเป็นตนตัดสินทางออกที่ไม่ใช่ทางตัน ขอให้ทุกคนมีความหวัง
ขณะที่ นายปราบ เลาหะโรจนพันธ์ ผู้ก่อตั้งโครงการ Rethink Thailand กล่าวปิดท้ายขณะที่เวลาใกล้หมดว่า "สะท้อนภาพการเมืองไทยได้ดีครับ คนรุ่นใหม่มีพื้นที่นิดเดียว" พร้อมเสนอทางออกว่า วิธีการแก้ปัญหาคือการให้คนรุ่นใหม่เข้ามาแก้ไขและเปลี่ยนแปลงทางการเมือง
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง