ไม่พบผลการค้นหา
‘สุทิน’ สรุปปิดศึกซักฟอกภาคสุดท้ายราว 3 ชั่วโมง เฉ่ง รมต. เรียงคน สรุปยุทธการเด็ดหัวสอยนั่งร้าน มองแก้ตัวฟังไม่ขึ้น-น่าผิดหวัง จนมุมก็อ้าง ‘จำนำข้าว’ ปิดปากฝ่ายค้าน ประจานผลงานทำประเทศย่อยยับ ทุจริตอื้อ จวก ‘ประยุทธ์’ 8 ปี เอาไปทิ้ง คนไทยขาดใจตายถึงค่อยเก่งขึ้น เตือนอย่าหมิ่นฝ่ายค้าน มวยถึงไม่น็อกก็คะแนนนำ ระวังปิดฉากที่สนามเลือกตั้ง ด้าน ‘ภูมิใจไทย’ ข้องใจจะประท้วงป้อง 'กัญชา' เจอ 'เพื่อไทย' รุมประท้วง

เมื่อเวลา 19.40 น. วันที่ 22 ก.ค. 2565 ที่รัฐสภา ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร พิจารณาญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีเป็นรายบุคคล จำนวน 11 คน วันที่สี่ ซึ่งเป็นวันสุดท้าย หลังจากพรรคร่วมฝ่ายค้านได้อภิปรายกันครบทุกคน และคณะรัฐมนตรี (ครม.)ได้ชี้แจงเสร็จสิ้น จากนั้น สุทิน คลังแสง ส.ส.มหาสารคาม พรรคเพื่อไทย ในฐานะประธานวิปฝ่ายค้าน อภิปรายสรุปญัตติทั้งหมดของฝ่ายค้าน โดยก่อนอภิปรายได้รายงานผลสำรวจการลงมติไม่ไว้วางใจของภาคประชาชนควบคู่กับรัฐสภาเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ ที่เริ่มเห็นผลเบื้องต้นว่า ไม่ไว้วางใจ 89% ไว้วางใจ 11% ยังไม่รวมผลโหวตของกลุ่ม ราษฎร ที่กำลังนับอยู่ด้านนอกสภาในขณะนี้

สุทิน ระบุว่า จากการจับสังเกตในการอภิปรายครั้งนี้ แม้ฝ่ายค้านจะทำหน้าที่ได้ดี แต่รัฐมนตรีแต่ละท่านก็เป็นนักดีเบตระดับบรมครู จะต้อนให้จนมุมคงยาก แต่ควรสังเกตภาษากายและอากัปกิริยาควบคู่ไปด้วย เท่าที่เห็นมีรัฐมนตรี 2 กลุ่ม คือประเภทที่ถอยไปตั้งหลักก่อน เรียกอย่างตลกคือ หอบหัววิ่งก่อน แล้วค่อยมาใหม่ อีกกลุ่มคือ มักใช้ตัวช่วย คือพอจะจนมุมก็เอาเรื่องอื่นขึ้นมากลบ ปิดปากให้ฝ่ายค้านพูดต่อไม่ได้

“กรณีที่ชอบเอาขึ้นมากลบแล้วดูเหมือนจะได้ผลสำหรับคนจนมุม คือมุกจำนำข้าว ถ้าไปไม่รอดก็งัดจำนำข้าวขึ้นมา ฝ่ายค้านก็หยุดเลย สังเกตดูดีๆ ใครที่มีมุกแบบนี้ นั่นแหละคือการเริ่มจะจนมุม หาตัวช่วย”

สุทิน อภิปรายไม่ไว้วางใจ ฝ่ายค้าน 878C-3E897F600DE7.jpeg

ฉะ ‘อนุทิน’ กัญชาเสรีขัดอนุสัญญายูเอ็น

จากนั้น สุทิน จึงได้สรุปข้อกล่าวหาของรัฐมนตรีทั้ง 11 ราย เรียงตามญัตติ เริ่มจาก อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ถูกกล่าวหาประเด็นนโยบายกัญชาเสรี เป็นปฐมเหตุของการผิดพลาด เสมือนติดกระดุมเม็ดแรกผิด และไปสัญญาประชาคมไว้ตอนหาเสียงว่า จะแจกจ่ายต้นกัญชาให้ครอบครัวละ 6 ต้น และสามารถพี้กัญชาได้นั้น เป็นการละเมิดอนุสัญญาเดี่ยวว่าด้วยยาเสพติดให้โทษปี 1961 ขององค์การสหประชาชาติ ซึ่งเป็นกฎหมายระหว่างประเทศที่ยังคงระบุให้กัญชาเป็นยาเสพติดให้โทษร้ายแรง แต่อนุโลมให้ใช้ในทางการแพทย์เท่านั้น แต่ต้องใช้ตามข้อบังคับที่ควบคุม 

แต่ อนุทิน ยังดื้อตาใส กล่าวว่า ทำไมต้องไปทำเหมือนประเทศอื่น แสดงชัดเจนว่าเป็นการละเมิดกติกาสากล นำมาสู่ประเด็นที่ยังติดใจเชื่อว่าจะดึงดันต่อไป ด้านพรรคเพื่อไทยไม่ขัดข้อง ถ้าใช้กัญชาในทางการแพทย์จริงๆ รวมถึงยังไม่มีการให้ความรู้แก่ชาวบ้าน แต่ให้ทีม สธ. มาแถลงเรื่องการใช้ในทางการแพทย์ แต่เขาใช้ในทางการแพทย์มาตั้งแต่ปี 2562 แล้ว ไม่จำเป็นต้องปลดล็อคเพื่อทางการแพทย์ ต่อไปนี้กัญชาเต็มบ้านเมือง ลูกหลานเราจะอยู่อย่างไร

ศุภชัย อภิปรายไม่ไว้วางใจ 6B0-7ADE1A72A95F.jpegศุภชัย อภิปรายไม่ไว้วางใจ  ประชุมสภา 8-4023-9662-2BA9CAE6BA77.jpegวิสาร เพื่อไทย อภิปรายไม่ไว้วางใจ -B62E-4017-99A5-6796D218360E.jpeg

‘ศุภชัย’ เดือดลุกป้องกัญชา ขู่ให้มีดฝ่ายค้าน

โดยระหว่างที่ สุทินกำลังอภิปรายในประเด็นข้อกล่าวหาของ อนุทิน เสร็จสิ้น ศุภชัย ใจสมุทร ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคภูมิใจไทย ประท้วงขอใช้สิทธิที่ถูกพาดพิง ทำให้วิสาร เตชะธีราวัฒน์ ส.ส.เชียงราย พรรคเพื่อไทย ลุกขึ้นประท้วง ศุภชัย โพธิ์สุ รองประธานสภาฯ คนที่สอง ซึ่งทำหน้าที่ประธานการประชุม โดยระบุว่า "แม้นายกฯ สรุปยังไม่มีสิทธิตอบโต้ ไม่ได้ประธานต้องควบคุม" ทำให้ ศุภชัย ใจสมุทร ชี้แจงว่าตัวเองถูกพาดพิงต้องใช้สิทธิพาดพิง พร้อมบอกท่านวิสารว่าท่านคุมสติให้ดี ใจเย็นๆ

ทันใดนั้นก็มีเสียงของ วิสาร พูดขึ้นว่า “โอ้โฮ ประธานฝ่ายกฎหมาย” ทำให้ ศุภชัย ใจสมุทร กล่าวว่า “ใช้ถ้อยคำแบบนี้ ส่งมีดไปสักเล่มไหม”

จากนั้น จุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ ส.ส.เชียงใหม่ พรรคเพื่อไทย ประท้วงว่า มีกระบวนการขัดขวางการสรุปญัตติ จะใช้เหตุสนิทสนมพรรคเดียวกันไม่ได้ แม้ประธานจะไม่ได้คิด แต่คนข้างนอกอาจคิดได้ ถ้าเลยเที่ยงคืน 1 นาที พวกตนจะอภิปรายต่อ ไม่มีปัญหาเจอกันวันอาทิตย์นี้ได้ และย้ำว่าจะปล่อยให้ ศุภชัย ใจสมุทร ใช้สิทธิชี้แจงไม่ได้ และอธิบายแทนรัฐมนตรีไม่ได้

ทั้งนี้ ประธานฯ ไกล่เกลี่ยโดยให้ ศุภชัย ใช้สิทธิพาดพิง ซึ่ง ศุภชัย ใจสมุทร ระบุว่า สิ่งที่สุทินสรุปนั้นไม่เป็นความจริง ทำให้ จุลพันธ์ ประท้วงอย่างมีอารมณ์ว่า "นี่ไง มาสรุปอย่างนี้ได้ไง" จากนั้น ซูการ์โน มะทา ส.ส.ยะลา พรรคประชาชาติ ได้ประท้วงว่า แม้การสรุปจะพาดพิงนายกฯ หรือรัฐมนตรี แต่ไม่มีใครมีสิทธิใช้สิทธิพาดพิงได้

ทำให้ ศุภชัย ตอบโต้ว่า ไม่มีข้อบังคับฯ ไหนถูกพาดพิงไม่ให้ใช้สิทธิแก้ต่าง ท่านเขียนข้อบังคับใหม่หรือ พร้อมยีนยันว่า นโยบายกัญชาเสรีไม่ได้ผิดข้อตกลงยูเอ็น จากนั้น ประธานฯ ได้ขอให้ ศุภชัย สรุปสั้นๆเท่านั้น แต่ยังมี ส.ส.ซีกฝ่ายค้านประท้วงอยู่ว่าใช้ข้อบังคับฯ ข้อไหน 

สุทิน จึงอภิปรายต่อ และกล่าวว่า ท่านประธานฯ เองพูดเสมอตลอด 4 วันนี้ ว่าการอภิปรายจะมาบังคับให้พูดถูกใจรัฐบาลไม่ได้ ตนก็พูดไปตามความเชื่อความมั่นใจของตน ถ้าบอกว่าตนพูดผิด ก็ให้ไปลงมติตรงข้ามกับตน

DBEC48AD-2DFF-4FAB-850B-5DAE568F657B.jpegC1842458-CDDA-4CD7-BEB9-F5C88CF5E649.jpeg

‘ศักดิ์สยาม-สุชาติ-นิพนธ์’ ชี้แจงฟังไม่ขึ้น

สำหรับ ศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวหาเรื่องที่ดินเขากระโดง ซึ่งสมาชิกฯ ติดใจว่าอาจใช้ตำแหน่งรัฐมนตรีแทรกแซงการตัดสินคดีที่ดินเขากระโดงหรือไม่ ซึ่งท่านได้ปฏิเสธ ก็สุดแต่คนจะเชื่อหรือไม่เชื่อ อีกประเด็นคือกรณีมีผลประโยชน์ทับซ้อน ซุกหุ้นบริษัท บุรีเจริญ ซึ่งท่านหายไป 1 วัน ก่อนจะกลับมาตอบ ยอมรับว่ามีการขายหุ้นไปจริง โดยมีหลักฐานเป็นเอกสารการโอนจากธนาคารธนชาติ

อย่างไรก็ตาม คณะทำงานของวิปฝ่ายตั้งข้อสังเกตว่ามีพิรุธหลายประการ คือไม่มีสัญลักษณ์ตราธนาคารที่หัวกระดาษเหมือนปกติ ลายเซ็นตกขอบเหมือนตัดแปะ และโอนเงินก่อนหน้าวันซื้อขายหุ้น 5-6 เดือน เมื่อสำรวจเชื่อมโยงหลักฐานแล้วได้ข้อสรุปว่า ยังไม่ได้มีการซื้อขายหุ้นจริง แปลว่า บ.บุรีเจริญ ยังเป็นของท่าน เมื่อมีผลประโยชน์ทับซ้อนก็ต้องพ้นจากตำแหน่งรัฐมนตรี

ส่วน สุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ฝ่ายค้านเชื่อว่า ใช้กองทุนประกันสังคมซื้อหุ้นของบริษัทเอกชน และปั่นหุ้นนำเงินเอื้อพวกพ้อง ซึ่งทุกข้อกล่าวหาท่านได้ปฏิเสธ พร้อมย้ำว่าตนไม่มีความรู้เรื่องหุ้น แต่สมาชิกวิปฝ่ายค้านยังไม่ปักใจเชื่อถือในคำชี้แจง

ขณะที่ นิพนธ์ บุญญามณี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย กล่าวหาว่ามีส่วนเกี่ยวข้องรู้เห็นกับการออกเอกสารสิทธิที่ดินในเกาะภาคใต้ แต่เป็นที่สาธารณะไม่อาจออกเอกสารสิทธิได้ โดยผู้ออกเอกสารสิทธิมีความใกล้ชิดกับ นิพนธ์ จึงเชื่อได้ว่ามีส่วนเกี่ยวข้อง เรียกได้ว่าเป็น สปก. ภาค 2 โดย นิพนธ์ ปฏิเสธว่า ไม่รู้จักคนเหล่านั้น แต่เป็นการตอบแบบหลักลอยยังไม่น่าเชื่อถือ


โต้ ’ชัยวุฒิ’ จวกพูดเรื่องต่ำ มีคนทำตัวต่ำก่อน จึงต้องพูด 

ชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) ถูกกล่าวหาว่าไร้ประสิทธิภาพในการปฏิบัติหน้าที่ เนื่องจากแก๊งคอลเซนเตอร์ซึ่งเป็นภัยแบบใหม่คุกคามสังคม สร้างความสูญเสียมากมาย เป็นหน้าที่ของกระทรวงดีอีเอสต้องรับผิดชอบ ต้องหวังพึ่งรัฐมนตรี ถ้าท่านฝีมือไม่ถึง ความเดือดร้อนจะปกคลุมชาวบ้าน ซึ่งท่านบอกว่าทำสุดความสามารถสุดชีวิตแล้ว แต่ในเมื่อทำขนาดนี้แล้วยังแก้ไม่ตก ก็ไม่ควรให้ทำงานต่อไป

สุทิน กล่าวว่า ประการต่อมาคือขาดจริยธรรมของรัฐมนตรี ซึ่งวิปฝ่ายค้านก็คิดหนักว่าจะอภิปรายดีหรือไม่ จนสุดท้ายให้ ส.ส.หญิง เสียสละอภิปรายด้วยความระมัดระวัง เพราะเชื่อว่าเพศหญิงจะมีความเห็นใจ ซึ่งหลายท่านทัดทานว่าเป็นเรื่องไม่ควรพูด ตำหนิติติงมามากว่าเป็นเรื่องต่ำ

“ผมเลยคิดว่า ถ้าเราว่าเรื่องนี้ไม่ควรพูด ไม่ควรหยิบยกมาคุยกันเป็นสาระของสภา ก็ไปแก้กฏหมายประมวลจริยธรรมเสีย ยกเลิกข้อนี้ออก ก็จบ ไม่ต้องมาพูดกัน แต่ตราบใดยังอยู่ในประมวลจริยธรรม ก็ต้องมีการบังคับใช้ ถ้าผิดจริยธรรมก็ต้องพูดกัน ซึ่ง ชนก ก็พูดอย่างพองาม แต่ก็โดนพอสมควร หาว่าพูดเรื่องต่ำ แต่ต้องให้ความเป็นธรรมกับเขา ถ้าไม่มีคนทำเรื่องต่ำ เขาจะพูดเรื่องต่ำหรือ”

“เรื่องนี้อาจมีกันทั่วบ้านทั่วเมือง แต่ต่างตรงที่ว่า ทำแล้ว ถ้ามีความละอายต่อบาปอยู่ระดับหนึ่ง ก็อาจจะปกปิด งุบงิบ ก็ต้องเก็บทางภรรยาไว้ แต่ถ้าเราไม่ไว้หน้าไว้เกียรติภรรยา ไปเชิดชูอย่างนั้น ก็เท่ากับเราไม่ละอายต่อบาป เท่านั้นเอง ถ้าเห็นกับเด็ก เราต้องจัดการกับพ่อ ไม่ใช่จัดการกับคนอื่น”


’จุรินทร์’ จนมุม อ้างจำนำข้าว

สำหรับ จุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เป็นข้อกล่าวหาเดิมและต่อเนื่องคือการทุจริตสั่งซื้อถุงมือยาง มีการตอบโต้กันไปมา สุดท้ายมีการยื่น ป.ป.ช. ก็ได้จัดการดำเนินคดี แต่ 2 พันล้านบาท ที่สูญไปแล้วเป็นค่ามัดจำยังต้องติดตาม จึงนำมาสู่การอภิปรายครั้งนี้ ว่า จุรินทร์ อาจมีส่วนเกี่ยวข้อง คือการให้ประธาน อคส. ลอยนวลอยู่ พร้อมเปิดเผยเส้นทางการฟอกเงิน

โดย จุรินทร์ ตอบได้ตามขั้นตอนหมด มีการติดตามความคืบหน้า ทว่ายังไม่ได้เรื่องเส้นทางการฟอกเงิน และการติดตามสอบสวนผู้ทุจริต ก็ดูจะคร่อมเวลากับช่วงที่โอนย้ายถ่ายเทเงิน เหมือนจับกันไม่ได้ ไล่กันไม่ทันอยู่อย่างนั้น จึงเกิดเป็นข้อพิรุธ พอวกกลับมาเรื่องจำนำข้าวยิ่งแล้วใหญ่

“ถ้าใครไปไหนไม่รอด มาลงที่จำนำข้าวนี่ ก็สันนิษฐานว่าหาตัวช่วย พิรุธมันบอก อาการมันชัด เราจึงคิดว่าท่านจุรินทร์ ไม่สุจริตจริงตามที่เรากล่าวหา”


’จุติ-สันติ’ ร่อแร่ ไม่น่าไว้ใจ

จุติ ไกรฤกษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ มีข้อกล่าวหาทุจริตหน่วยงานการเคหะ คือการนำบริษัทเอกชนมารับงาน แต่ดูแล้วคุณภาพไม่ตอบโจทย์ เงินในบัญชีก็น้อย แต่กลับรับงานเยอะ จุติ ก็เผ่นวันแรก แล้วกลับมาชี้แจง โดยระบุว่า เป็นบริษัทลูกของการเคหะฯ เมื่อตอบโต้ไปมา ดูแล้วสูสี แต่พิจารณาแล้วยังมีพิรุธเยอะ ทางคณะทำงานจึงลงความเห็นว่ายังไม่น่าไว้วางใจ

สันติ พร้อมพัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ถูกตั้งข้อกล่าวหาทุจริต โครงการท่อส่งน้ำอีอีซี ซึ่งกำลังจะเป็นสุสานการลงทุนของรัฐบาลนี้ เดิมเป็นความรับผิดชอบของบริษัท อีสต์ วอเตอร์ แต่ใกล้ถึงช่วงหมดสัญญา จึงเปิดช่องให้มีการทุจริต มีการคัดเลือกบริษัทผู้มารับช่วงต่อที่มีพิรุธ จนบริษัทใหม่ที่ประมูลได้ดูมีความเกี่ยวโยงกับรัฐมนตรี จึงได้ทักท้วง โดยรัฐมนตรีตอบว่า หากให้อีสต์ วอเตอร์ ทำต่อ ก็จะได้ประโยชน์แค่ 600 ล้านบาท ยิ่งฟังการตอบของรัฐมนตรีแล้วยิ่งเชื่อได้ว่าต้องมีความไม่ชอบมาพากลแน่

สุทิน เพื่อไทย ฝ่ายค้าน อภิปรายไม่ไว้วางใจ 8A87-C3ECDEEBC138.jpeg

เตือน ‘3 ป.’ อย่าหมิ่นฝ่ายค้าน ระวังน็อกคาสนามเลือกตั้ง

จากนั้น สุทิน ได้กล่าวถึง พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ซึ่งได้รับแต่งตั้งจากนายกรัฐมนตรี ให้เป็นประธานคณะกรรมการประสานงานป้องกันและปราบปรามยาเสพติดคนใหม่ ในปี 2565 แต่ขาดประสิทธิภาพ เพราะก่อปัญหาความเดือดร้อนต่อประชาชน ซึ่ง พล.อ.ประวิตร อ้างว่ากำลังทำอยู่ และมีแนวโน้มจะดีขึ้น แต่สวนทางกับผลการศึกษาของวงเสวนา ที่สะท้อนว่ายาเสพติดกำลังแพร่หลายมากขึ้น และสูงขึ้นโดยเฉพาะในเยาวชน หากท่านไม่ทำ เราให้อภัยท่านไม่ได้

“พล.อ.ประวิตร ท่านเป็นคนมีบารมีคนหนึ่ง วันก่อนเขาอภิปรายท่าน กว่าจะอภิปรายไปได้ ก็คนปกป้องเยอะ เราก็อยากเห็นท่านใช้อิทธิพลของท่าน นักประสานสิบทิศ สั่งคนได้ทั้งประเทศ ช่วยสั่งปราบยาเสพติดให้หน่อย แก้ให้หน่อย”

ส่วน พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย มีเจตนาไม่สุจริตเรื่องการประปาภูมิภาคปทุมธานี-รังสิต ซึ่งกำลังจะหมดสัญญากับบริษัทที่รับผิดชอบ ซึ่งผลการศึกษาชี้ว่าให้การประปาทำเอง ไม่ต้องจ้างเอกชนจะคุ้มกว่า ซึ่ง ครม. ก็เห็นชอบ แต่ท้ายสุดมีความพยายามล้มผลการศึกษาให้เอกชนทำต่อ ซึ่งส่อแววทุจริต โดยรัฐมนตรี กลับตอบยืนยันอย่างเหนือความคาดหมาย คือรับปากว่าจะทำตามผลการศึกษา ไม่เอาเอกชนทำ

“ต้องปรบมือให้ทั้งสองคนนะ แต่จะปรบเต็มมือหรือไม่ให้ พล.อ.อนุพงษ์ ปรบให้ฝ่ายค้านบ้างสิ ใครบอกว่าอภิปรายไม่ได้ประโยชน์ การอภิปรายเที่ยวนี้อย่างน้อยที่สุด ผมคิดว่าได้ยับยั้งบางเรื่องที่กำลังจะเกิดผลเสียได้ทัน คิดว่าถ้าหากเราไม่อภิปราย ทักท้วง ก็อาจจะเซ็น จบ เผาไปแล้ว แต่พูดแบบนี้ก็เหมือนจะประมาทน้ำใจท่านอนุพงษ์ ก็คิดได้ แต่ที่ชัดเจนแน่นอนที่สุด คือพอเราชี้แจง ฝ่ายค้านทำงาน เอาเรื่องนี้เข้าสภาแล้ว วันนี้ท่านหยุด ก็ต้องขอบคุณ จะหยุดด้วยจำนน หรือด้วยสุจริตใจ ก็ต้องขอบคุณ ต้องถือว่าประโยชน์จากการอภิปรายครั้งนี้”

จากนั้น สุทิน กล่าวถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม มีข้อหามากมายอภิปรายไม่หมด เกือบ 30 คน ใน 30 ชั่วโมง พอจะจัดกลุ่มสรุปความเลวร้ายของท่านได้ คือผิดพลาดในการบริหารราชการแผ่นดิน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องเศรษฐกิจ ล้มเหลวทั้งระดับมหภาคและจุลภาค มาตลอด 8 ปี ความบกพร่องอ่อนแอเดิม ถูกซ้ำเติมเข้าไปด้วยความเสียหายจากโควิด-19 จนเกิดปรากฏการณ์ที่โลกฟื้น แต่ไทยไม่ฟื้น เช่นเดียวกับค่าครองชีพที่สูงขึ้น แต่นายกฯ และรัฐมนตรี กลับชี้แจงด้วยตัวเลขที่เป็นมายา ภาพความจริงคือความทุกข์ร้อนของชาวบ้าน

สุทิน ระบุว่า ความผิดอีกข้อหา เป็นการทุจริตอย่างกระจอกไร้รูปแบบ คือการเอื้อพวกพ้อง นำงบกลางมาอนุมัติ 2 พันล้านบาทให้กระทรวง อว. จัดตั้งโครงการอบรบให้มหาวิทยาลัยต่าง ซึ่งมากอย่างผิดสังเกต ผิดวัตถุประสงค์ และงบที่ตั้งเบิกไว้มากเกินกว่าสภาพความจริง ปัจจัยที่มอบให้ชาวบ้านได้แค่ค่าแรง 400 บาท กับข้าวกล่อง ทั้งที่เบิกไปกว่า 9,000 บาทต่อหัว ถือเป็นการกินส่วนต่าง พร้อมยังแฉว่า ส.ปากเสีย คนสนิทนายกฯ เป็นผู้ประสานงาน 

ตนขอเตือน เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ว่าให้ถอยห่างจากเรื่องนี้ เพราะอาจจะโดยหางเลขความผิดด้วย เนื่องจากผู้อภิปรายเป็น ส.ส. ที่ใกล้ชิดกับชาวบ้าน รู้เรื่องราวทุจริตเป็นอย่างดี นอกจากนี้ ยังเอื้อพวกพ้อง จากการมีเจ้าหน้าที่ตำรวจ 2 นาย ที่นามสกุล อัตถาวงศ์ เหมือนกับคนสนิทของนายกฯ ราวกับเป็นเรื่องบังเอิญ จนสงสัยว่ามีนอกมีใน แต่นายกฯ ไม่ยอมตอบ จึงปักใจเชื่อว่าทุจริตไม่ตรงไปตรงมา เช่นเดียวกับการทุจริตในกองทัพ ใช้งบกลางกลบหนี้ของกองบินตำรวจช่วยลูกน้อง เช่นเดียวกับการทุจริตจัดซื้อเรือดำน้ำและยานบิน ซึ่งผู้แทนมาตอบชี้แจงก็ท่องตามบท

“หลายวันมานี้เพื่อนๆ เปรียบประเทศไทยเป็นรถยนต์ ผมจะเปรียบว่า วันนี้นายกฯ เป็นโชเฟอร์พารถมาติดหล่ม ติดหล่มมาหลายปีแล้ว โชเฟอร์โดดลงรถ บอกให้คนในรถช่วยเข็นหน่อย ชาวบ้านก็เข็นตลอด โควิด-19 ชาวบ้านก็ออกมาช่วย บอกว่าเศรษฐกิจจำเป็นจริงๆ บอกให้ช่วยก็ช่วย วันนี้เข็นจนหมดแรงขาอ่อนแรงแล้ว เข็นไปคนขับพวงมาลัยก็จะเลี้ยวลงเหวเรื่อย วันนี้เขาจึงถึงจุดที่อยากเปลี่ยนโชเฟอร์ เพราะเขารู้ว่าโชเฟอร์คนก่อนๆ เขาไม่ต้องเข็นรถหรอก เขานั่งอยู่บนรถสบาย เขาลงมาเข็น เหลือแต่กระดูก ซี่โครง”

“8 ปีเอาไปทิ้ง 2 สมัย วันนี้นายกฯ บอกจะขออีก จะทำ 3 แกนให้สำเร็จ แกนทำไมมาช้าอย่างนี้ วันที่นายกฯ จะแสดงความเก่งออกมาให้เห็น คือวันที่ชาวบ้านขาดใจตายหรือ ที่ว่ากันมาทั้งหมด ก็ขอเพื่อนสมาชิกทุกท่าน ได้โปรดนำเอาความรู้สึกนึกคิดของพวกเราไปพิจารณา และที่สำคัญที่สุด เอาความรู้สึกนึกคิดของชาวบ้าน ที่สะท้อนผ่านโพล ผ่านหีบบัตร ที่เขาอุตส่าห์ตากฟ้าตากฝนมาทำ แล้วเสนอมาที่นี่”

“ท้ายที่สุด สิ่งซึ่งทุกท่านประเมินผิด และดูแคลนเราตลอด ฝ่ายค้านอภิปรายมากี่รอบกี่หนไม่เห็นทำอะไรได้ ถ้าท่านคิดไม่เป็น ผมจะบอก ถ้าคิดไม่เป็นอย่าคิดแทน วันนี้โพลของท่านตกมาตลอด เลือกตั้งซ่อมแพ้มาตลอด นั่นแหละ ส่วนหนึ่งมาจากผลการทำงานของฝ่ายค้าน ถ้าเป็นมวยแม้นเราน็อกไม่ได้ก็คะแนนขาดลอย แล้วท้ายสุด พวกผมน็อกไม่ได้ ท่านก็ระวังประชาชนที่สนามเลือกตั้ง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ท่านนายกรัฐมนตรี ขอได้ตระหนัก และฟังเสียงประชาชนด้วย” สุทิน กล่าวทิ้งท้าย

จากนั้น ชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร ปฏิบัติหน้าที่ประธานการประชุม แจ้งต่อที่ประชุมว่า การอภิปรายไม่ไว้วางใจได้สิ้นสุดลง ตามมาตรา 151 วรรคสาม กำหนดให้การลงมติ ไม่อาจกระทำในวันเดียวกับวันที่การอภิปรายสิ้นสุดลง และได้นัดประชุมเพื่อลงมติในวันพรุ่งนี้ (23 ก.ค.) เวลา 10.00 น. ก่อนจะสั่งปิดการประชุมเมื่อเวลา 23.33 น.

ข่าวที่เกี่ยวข้อง