วันที่ 19 ก.ค. 2565 ที่รัฐสภา ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 13 (สมัยสามัญประจำปีครั้งที่หนึ่ง) เป็นพิเศษ วาระพิจารณาญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีเป็นรายบุคคล หลังรับฟังการอภิปรายของสมาชิกของฝ่ายค้านอภิปรายไม่ไว้วางใจเกี่ยวกับประเด็นวัคซีนโควิด-19 และนโยบายกัญชาเสรี เสร็จสิ้น อนุทิน ชาญวีรกุล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ลุกขึ้นชี้แจงต่อที่ประชุมเป็นครั้งแรก โดยระบุถึงประเด็นการบริหารสถานการณ์โควิด-19 ซึ่งเป็นประเด็นที่ตนโดนพุ่งเป้ามาทุกครั้งในการอภิปรายฯ และตนได้ชี้แจงตลอดมา พร้อมนำความเห็นต่างๆ มาปรับใช้เพื่อประโยชน์ของประชาชนโดยไม่ได้ปิดกั้น
“ว่ากันไปแล้ว ปีนี้เป็นปีที่ 3 ของสถานการณ์โควิด-19 แล้ว ผลก็ปรากฏชัดเจนว่าสถานการณ์เราดีขึ้นเรื่อยๆ ระบบสาธารณสุขเราก็ไม่ได้ล้มเหลวดังที่ท่านทั้งหลายได้กล่าวมา ผมต้องขอเรียนว่าในช่วงแรกของสถานการณ์โควิด-19 ท่านอาจจะลืมไปแล้ว ว่าไทยได้เตรียมรับการระบาดของโรคนี้ ตั้งแต่ก่อนองค์กรอนามัยโลกจะประกาศให้เป็นโรคระบาดที่ต้องเฝ้าระวังทั่วโลกถึง 6 สัปดาห์”
เตือนฝ่ายค้านโหดร้ายมาก ด้อยค่าวัคซีนจากจีน
อนุทิน เผยว่า ประเทศไทยได้เตรียมการรับมือทุกองคาพยพทางสาธารณสุขที่มีอยู่ เพื่อความพร้อมในการคัดกรองผู้ป่วย และยารักษาโรคเพื่อป้องกัน การสูญเสียชีวิตของผู้ป่วย บุคลากรสาธารณสุข นายกรัฐมนตรี ตลอดจนคณะรัฐมนตรี (ครม.) ล้วนมีความ ไทยเป็นหนึ่งในไม่กี่ประเทศบนโลกที่ให้การรักษาพยาบาลผู้ป่วยโควิด-19 จนหาย นายกฯ กำชับให้รับผิดชอบดูแลเรื่องค่าใช้จ่าย โดยมอบหมาย สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เป็นผู้จัดการ พร้อมเร่งสนับสนุนให้จัดหาวัคซีนทุกชนิดที่ได้มาตรฐาน จนขณะนี้ได้ฉีดวัคซีนไปแล้วมากกว่า 70% ของจำนวนประชากร และ 90% ของประชากรที่มีความเสี่ยง
“ท่านผู้อภิปรายเมื่อครู่ พยายามด้อยค่าทั้งวัคซีนที่ผลิตจากจีน ซึ่งสนับสนุนด้านเวชภัณฑ์แก่เราเป็นจำนวนมาก ด้อยค่าวัคซีนแอสตราเซเนกา ซึ่งไว้วางใจมาตั้งฐานการผลิตที่ประเทศไทย เพื่อให้เราสามารถเข้าถึงวัคซีนได้ง่ายยิ่งขึ้น ผมต้องขอเรียนว่า ท่านอย่าไปฟังมาเฉยๆ มีคนทำสไลด์ให้แล้วก็มาพูด ท่านเป็นแพทย์ อยู่กระทรวงสาธารณสุขมาด้วย เราทำงานร่วมกัน เข้าใจซึ่งกันและกัน ไม่เข้าใจว่าทำไมวันนี้ทัศนคติของท่านถึงได้เปลี่ยนแปลงไป”
อนุทิน เน้นย้ำว่า ไม่ควรด้อยค่าวัคซีน เพราะไทยสามารถจัดหาวัคซีนสำหรับประชาชนทุกช่วงวัย นำหน้าหลายประเทศ ไม่มีวัคซีนหมดอายุหรือเหลือทิ้ง ประเทศใดที่ทิ้งวัคซีน ขอให้ นพ.สุรวิทย์ คนสมบูรณ์ ส.ส.ชัยภูมิ พรรคเพื่อไทย แจ้งมา ตนจะทำหนังสือขอบริจาควัคซีนมามอบให้ประชาชนไทย เพื่อฉีดแก่บุคลากรที่มีความเสี่ยง ประชาชนแถบชายแดน หรือประเทศอื่นๆ ที่ไม่มีกำลังต่อรองจัดหาวัคซีน สิ่งที่ควรทำในฐานะผู้แทนฯ คือขอร้องและส่งเสริมให้ประชาชนออกมาฉีดวัคซีน เพื่อให้ชีวิตของเราคืนสู่สภาวะปกติในที่สุด
“ข้อมูลที่ท่านนำมาเสนอเป็นเท็จ ท่านไม่ได้กรอง แต่พวกผมหน้างานกรอง ก่อนจะมาพูดให้ท่านฟัง ต้องถามแล้วถามอีก เพื่อเป็นการตรวจซ้ำ การเผยแพร่ข้อมูลแบบนี้ไปสู่การรับรู้ของประชาชน โดยเฉพาะเรื่องที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพและชีวิตของพวกเขา เช่น การดูถูกหลักการแพทย์ การด้อยค่าวัคซีน ด้อยค่ายา ด้อยค่าเวชภัณฑ์ ท่านโหดร้ายมาก ท่านแลกแม้กระทั่งชีวิตของประชาชน เพียงเพื่อตอบสนองเป้าหมายทางการเมือง มันไม่คุ้มค่า ไม่ควรทำ เพราะเราเป็นผู้แทนของพวกเขา ขอให้ท่านเว้นสาธารณสุขไว้สักเรื่อง”
“ถ้าจะขับเคี่ยวทางการเมือง ยังมีอีกหลายประเด็น ถ้าท่านมองว่านี่เป็นความบาดหมางทางการเมืองระหว่างท่านกับพวกผม ก็ขอให้เป็นเรื่องของพวกเรา อย่าไปเอาคนอื่น โดยเฉพาะประชาชนในประเทศมาเกี่ยวข้อง”
กัญชาเสรีเชื่อควบคุมได้ มีมาตรฐาน ย้ำเสพกัญชาเพื่อสันทนาการไม่ได้
สำหรับการดำเนินนโยบายกัญชาเสรีทางการแพทย์ ที่มีผู้อภิปรายพาดพิงถึง อนุทิน เผยว่า นายกรัฐมนตรีได้ยืนยันไว้ เมื่อปี 2562 ว่า นโยบายดังกล่าวนี้ ไม่ขัดหรือแย้งกับอนุสัญญาเดี่ยวว่าด้วยยาเสพติดให้โทษขององค์การสหประชาชาชาติ และให้นำกัญชา กัญชง ศึกษาวิจัยให้เกิดประโยชน์ทางเศรษฐกิจ โดยเน้นประโยชน์ทางการแพทย์ ไม่มีคำว่าสันทนาการในแนวนโยบายที่นายกฯ แถลงเลย และกระทรวงสาธารณสุขก็ไม่ได้ปฏิบัตินอกเหนือไปจากนั้น หากยังมีการใช้โดยไม่เกี่ยวข้องกับการแพทย์ นั่นคือการใช้อย่างผิดเจตนารมณ์ และผิดกฏหมาย ขัดต่อประกาศของกระทรวงสาธารณสุข
อนุทิน ย้ำว่า ไม่ว่าวันนี้จะมี พ.ร.บ.กัญชา กัญชง หรือไม่ แต่ประกาศของกระทรวงสาธารณสุขได้ครอบคลุมไว้แล้ว ผู้เสพกัญชาเพื่อสันทนาการถือว่าผิดกฏหมายและมีบทลงโทษ ดังนั้น คำว่ามีช่องว่างช่องโหว่ จึงไม่จริงในทางปฏิบัติ โดยกรรมาธิการฯ ก็พิจารณาร่าง พ.ร.บ.กันอย่างต่อเนื่อง มีความเห็นจากผู้เชี่ยวชาญหลายฝ่าย เชือได้ว่าจะเป็นโอกาสดีที่ประเทศไทยจะมี พ.ร.บ. ควบคุมการใช้กัญชาอย่างมีประสิทธิภาพ และได้ขอขอบคุณผู้อภิปรายทุกท่านที่เสนอแนะ ให้สมาชิกกรรมาธิการได้รับประโยชน์
สำหรับกัญชา มีคุณสมบัติทางการแพทย์หลายประการ สามารถใช้กับผู้ป่วยที่ดูแลแบบประคับประคอง มีผลการศึกษาจากกรมการแพทย์ ไม่ใช่การเดา ทั้งยังสามารถผลักดันให้ยาที่มีส่วนผสมของกัญชาอยู่ในบัญชีรายชื่อตำรับยาการแพทย์แผนไทยได้ถึง 8 รายการ สามารถใช้รักษาโรคและวิจัยได้อย่างมีประสิทธิผล ครอบคลุมอยู่ใน สปสช. การรักษาโรคด้วยกัญชานี้มีมาตรฐานรองรับ และได้รับความสนใจมากมาย มีทั้งแพทย์แผนไทยและแพทย์แผนปัจจุบันที่ได้รับการอบรม
“ผมได้ยืนยันทุกครั้งว่านี่คือนโยบายของรัฐบาลชุดนี้ ไม่มีการใช้เพื่อการสันทนาการ หรือนันทนาการ ในร่าง พ.ร.บ.ควบคุมกัญชง กัญชา (ฉบับที่ ...) พ.ศ. ... ที่กำลังอยู่ในขั้นแปรญัติติ ไม่มีการใช้เพื่อนันทนาการ ในร่าง พ.ร.บ.ของพรรคของท่านผู้อภิปราย คือพรรคก้าวไกล ยังมีเรื่องนี้อยู่ ท่านมีการอนุญาตให้ใช้ในเรื่องนันทนาการ แต่ก็ยังมีการควบคุม กำหนดโซนนิง มีความแตกต่างกัน เป็นเครื่องยืนยันได้อย่างชัดเจนว่าผมเองไม่เคยมีการสนับสนุนให้ใช้เพื่อความบันเทิงแต่อย่างใด”
นอกจากนี้ ในความเป็นห่วงเรื่องการใช้ช่อดอกของกัญชาในการประกอบอาหาร ซึ่งอาจเป็นอันตรายนั้น อนุทิน ยืนยันว่า ในประกาศกระทรวงสาธารณสุขได้ระบุข้อห้ามไว้ชัดเจน พร้อมบทลงโทษ เข้าใจว่าประชาชนมีความกังวลเรื่องสุญญากาศของกฏหมาย จึงขอให้สมาชิกของทั้ง 2 สภา เร่งรัดผลักดันกฏหมายควบคุมกัญชาโดยเร็ว เพื่อให้ประกาศใช้ได้ทันสมัยประชุมนี้ หากถอยกลับไปให้กัญชากลายเป็นยาเสพติด อาจส่งผลกระทบต่อผู้ป่วยที่เดือดร้อน เพราะใช้ในการรักษาอยู่ สิ่งสำคัญจึงควรเป็นการบังคับควบคุมให้อยู่ภายใต้กฏหมาย
‘เพื่อไทย’ ลุกบี้ ‘อนุทิน’ เคลียร์คลิปเสียงชวนพี้กัญชา
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ธีรรัตน์ สำเร็จวาณิชย์ ส.ส.กทม พรรคเพื่อไทย ใช้สิทธิลุกขึ้นสอบถาม อนุทิน ถึงกรณีที่พรรคฝ่ายค้านได้เปิดคลิปวิดีโอตอนหนึ่งที่ อนุทิน กล่าวว่า “เราสามารถพี้กัญชากันได้อย่างสบาย” จึงขอสอบถามให้รัฐมนตรีชี้แจงให้กระจ่างว่าคำพูดนั้นจริงเท็จอย่างไร เพื่อดูว่าย้อนแย้งต่อสิ่งที่ได้กล่าวไปหรือไม่
โดย อนุทิน ได้ชี้แจงว่า ต้องดูทั้งคลิป ดูสั้นๆ ไม่ได้ เพราะคลิปตัดต่อกันได้ และการที่ตนพูดคือเพื่อให้เห็นว่าการใช้กัญชาในบ้าน ถือว่าไม่มีปัญหา ไม่มีเจตนารมณ์ที่เป็นลบ และอาจมีการพูดติดตลกบ้าง ซึ่งอนาคตตนจะปรับปรุง
จากนั้น ภราดร ปริศนานันทุกล ส.ส.อ่างทอง พรรคภูมิใจไทย จึงสอบถาม สุชาติ ตันเจริญ รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ปฏิบัติหน้าที่ประธานการประชุมขณะนั้น ว่า สมาชิกที่ลุกขึ้นถามนั้น ถามในฐานะอะไร เพราะทำให้การอภิปรายไม่ไว้วางใจเหมือนการถามกระทู้ ที่จะลุกขึ้นถามได้แม้ไม่มีรายชื่ออภิปราย จึงขอให้ประธานฯ วินิจฉัย
สุชาติ กล่าวว่า บางครั้งหากการชี้แจงของรัฐมนตรียังไม่ชัดเจน ส.ส.ก็มีสิทธิจะถามอีกครั้ง เพื่อนำคำตอบไปประกอบการตัดสินใจลงมติว่าจะไว้วางใจหรือไม่ และรัฐมนตรีก็มีสิทธิจะตอบหรือไม่ตอบก็ได้ ถ้าเห็นว่าคำตอบไม่ชัดเจน ก็ยกมือไม่ไว้วางใจไป นี่คือการอภิปรายไม่ไว้วางใจ ตราบใดที่คำถามยังไม่ออกนอกประเด็นอภิปรายก็สามารถถามได้ เป็นการให้โอกาสรัฐมนตรีด้วยซ้ำไป แล้วจึงเชิญให้สมาชิกฯ อภิปรายต่อ
ข่าวที่เกี่ยวข้อง