สถานการณ์หมอกควันพื้นที่ภาคเหนือรวมทั้งจังหวัดเชียงใหม่ยังเข้าขั้นวิกฤตหนักที่สุดในรอบกว่า 5 ปี เช้านี้ยังพบว่ามีหมอกควันหนาทึบปกคลุมตัวเมืองเชียงใหม่ และอำเภอรอบนอก เช้านี้มีรายงานข้อมูลจากดาวเทียมพบว่า จุดฮอตสปอตหรือจุดความร้อนจากการเผา และไฟป่าในพื้นที่ภาคเหนือ 1,151 จุด หนักสุดที่จังหวัดแม่ฮ่องสอนมีมากกว่า 400 จุด รองลงมาเป็นเชียงใหม่ เชียงราย ลำปาง และน่าน
นอกจากนี้ยังพบว่า บริเวณประเทศพม่าที่อยู่โดยรอบจังหวัดแม่ฮ่องสอน เชียงใหม่และเชียงรายนั้นมีจุดความร้อนจากการเผาเพิ่มขึ้นมากกว่าไทยหลายเท่าตัวด้วยกัน คาดเป็นอีกสาเหตุหลักที่ทำให้ภาคเหนือประสบปัญหาหมอกควันในขณะนี้
อย่างไรก็ตาม การรายงานค่ามลพิษจากฝุ่นละอองขนาดเล็กที่มีอานุภาคต่ำกว่า 2.5 ไมครอน มีหลายหน่วยงานที่ให้ข้อมูลแบบรายชั่วโมง อย่างเช่น เช้านี้ (31 มี.ค.) จากข้อมูลของกรมควบคุมมลพิษ เมื่อเวลา 7.00 น. ค่ามลพิษจากฝุ่นละอองขนาดเล็กที่มีอนุภาคต่ำกว่า 2.5 ไมครอน หรือค่า PM2.5 มีค่าฝุ่นละอองเกินค่ามาตรฐานที่ 50 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ณ สถานีตรวจวัดคุณภาพอากาศ ต.ช้างเผือก อ.เมือง วัดได้ 192 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ที่ ต.ศรีภูมิ อ.เมือง วัดได้ 182 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร
จากข้อมูลของ เว็บไซต์ www.airvisual.com ซึ่งเป็นเว็บไซต์วัดคุณภาพอากาศของทั่วโลก พบว่าจากการเปรียบเทียบดัชนีคุณภาพอากาศหรือค่า US AQI จากหัวเมืองใหญ่จากประเทศต่างๆ ทั่วโลกพบว่าค่ามลพิษในอากาศของจังหวัดเชียงใหม่ เมื่อเวลา 09.00 น. ค่ามลพิษในอากาศของจังหวัดเชียงใหม่พุ่งสูงเป็นอันดับ 1 ของโลกอยู่ในระดับผลกระทบหนักที่สุดกับร่างกายมนุษย์ ซึ่งดัชนีคุณภาพอากาศของจังหวัดเชียงใหม่ วัดได้ 237 US AQI ส่วนอันดับ 2 เป็นของเมืองลาฮอร์ ,ปากีสถาน วัดได้ 202 US AQI อันดับ 2 เป็นของเมืองกรากุฟ, โปแลนด์ 190 US AQI
ขณะเดียวกันข้อมูลของ CMU CCDC หรือ ศูนย์ข้อมูลการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (Climate Change Data Center Chiang Mai University) ซึ่งรายงานผลการตรวจวัดคุณภาพอากาศจากทั่วประเทศพบว่า ที่เชียงใหม่เช้านี้ ใตัวเมือง ณ สถานีตรวจวัดคุณภาพอากาศโรงเรียนยุพราชวิทยาลัย ต.ศรีภูมิ อำเภอเมือง วัดค่า PM 2.5 ได้ 327 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร และเช้าวันนี้ของจังหวัดเชียงใหม่สูงสุดที่ โรงพยาบาลเวียงแหง อ.เวียงแหง วัดได้ถึง 542 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร
ส่วนแพทย์จากคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ แนะประชาชนในในพื้นที่ประสบวิกฤตหมอกควัน ในจังหวัดเชียงใหม่และเขตภาคเหนือ ให้นํามาตรการฉุกเฉินด้านผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนทั่วไป ปฏิบัติดังนี้ 1. ขอให้ประชาชนอยู่แต่ในบ้านหรืออาคารที่มีระบบฟอกอากาศ 2. ควรงดกิจกรรรมนอกอาคารทุกชนิด จนกว่าคุณภาพอากาศจะดีขึ้น
3. กรณีที่พักอาศัยไม่มีระบบฟอกอากาศ ควรไปอยู่ในสถานที่ที่ภาครัฐจัดหา ที่สาธารณะที่มีระบบฟอกอากาศ และ 4. หากมีความจำเป็น ไม่สามารถปฎิบัติข้อ 1-3 ได้ ควรออกนอกพื้นที่เสี่ยง หรือใช้หน้ากาก N95 โดยขอให้ใส่ตลอดเวลา จนกว่าคุณภาพอากาศจะเข้าสู่ภาวะปกติ
ด้านศูนย์อุตุนิยมวิทยาภาคเหนือ บอกข่าวดีว่าพื้นที่ภาคเหนือ ในช่วงวันที่ 31 มี.ค. - 3 เม.ย. 2562 จะมีมวลอากาศเย็นจากจีนลงมาปะทะกับหย่อมความกดอากาศต่ำเนื่องจากความร้อน ซึ่งในช่วงดังกล่าวจะทำให้เกิดพายุฤดูร้อน มีพายุฝนฟ้าคะนอง ลมกระโชกแรง และพายุลูกเห็บได้ในพื้นที่ซึ่งจะเริ่มจากทางภาคอีสานตอนล่างก่อนไล่ขึ้นมาถึงภาคเหนือ จากสภาพอากาศแปรปรวนนี้เองอาจช่วยส่งผลให้สถานการณ์วิกฤติหมอกควันภาคเหนือจะได้บรรเทาลงได้