ไม่พบผลการค้นหา
พื้นที่ภาคเหนือเผชิญปัญหาหมอกควันหนักสุดในรอบปี ทั้งเชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน และตาก ขณะที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่จับมือทีมวิจัยจากสถาบันศึกษาในภาคเหนือเปิดตัวโครงการ PEOPLE AQI สร้างเครือข่ายเฝ้าระวังและเตือนภัยมลพิษทางอากาศ

พื้นที่ภาคเหนือเข้าสู่ช่วงวิกฤติหนักที่สุดของปัญหาเรื่องหมอกควัน ไฟป่า ส่งผลให้ค่ามลพิษพุ่งสูงที่สุดในรอบปีนี้แล้ว ทั้งเชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน และตาก ขณะที่เชียงใหม่แม้เมื่อคืนที่ผ่านมาฝนตก แต่แค่บรรเทายังไม่ได้ช่วยให้สถานการณ์ดีขึ้น ทางจังหวัดแจ้งรับบริจาคน้ำ อาหาร และสิ่งของจำเป็นช่วยเหลืออาสาสมัครดับไฟป่าที่ต้องทำงานหนักในพื้นที่เพื่อช่วยลมหายใจคนทั้งเมือง

สถานการณ์หมอกควัน และไฟป่าในพื้นที่ภาคเหนือเข้าสู่ช่วงที่วิกฤติหนักที่สุดของปีนี้แล้ว เนื่องจากสภาพอากาศที่เอื้อต่อการสะสมตัวของหมอกควัน ทั้งอากาศร้อนที่กดทับชั้นบรรยากาศให้ฝุ่นควันสะสมในพื้นที่ สภาพภูมิประเทศ ที่เป็นหุบเขาและแอ่งกระทะ รวมทั้งปัญหาการเกิดไฟป่าในพื้นที่ ที่ยังรุนแรงแม้จะระดมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรวมทั้งขอความร่วมมือกับประชาชนกัยอย่างหนักแล้วก็ตาม

ข้อมูลล่าสุดของกรมควบคุมมลพิษ รายงานสถานการณ์หมอกควันภาคเหนือ ประจำวันที่ 31 มีนาคม 2561 ณ เวลา 9.00 น. พบว่า ปริมาณฝุ่นละออง ขนาดไม่เกิน 10 ไมครอน (PM 10) เฉลี่ย 24 ชั่วโมง พบว่ามี 3 จังหวัดที่ค่ามลพิษเกินค่ามาตรฐาน ที่ 120 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร 

โดยที่สถานนีตรวจวัดคุณภาพอากาศ ต.จองคำ อ.เมือง จ.แม่ฮ่องสอน วัดได้ 185 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ที่ ต.แม่ปะ อ.แม่สอด จ.ตาก วัดได้ 124 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร 

ขณะที่จังหวัดเชียงใหม่ แม้จะเกิดฝนตกในพื้นที่อำเภอแม่ริม จ.เชียงใหม่ เมื่อคืนที่ผ่านมา แต่ก็ช่วยบรรเทาหมอกควันลงมาได้เพียงเล็กน้อยเท่านั้น โดยที่ สถานีตรวจวัดคุณภาพอากาศ ต.ช้างเผือก อ.เมือง จ.เชียงใหม่ 135 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร สถานี ต.สุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่ 122 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร 

อย่างไรก็ตามในส่วนของจังหวัดเชียงใหม่ ยังคงเร่งดำเนินการควบคุมการเผาอย่างเข้มข้นโดยเฉพาะเจ้าหน้าที่ดับไฟป่า และอาสาสมัครดับไฟป่าที่ปฏิบัติงานในพื้นที่ที่ต้องทำงานกันอย่างหนักท่ามกลางอากาศที่ร้อนจัด ซึ่งมีความยากลำบาก

ล่าสุดทางจังหวัดได้แจ้งประชาสัมพันธ์ขอเปิดรับบริจาคสิ่งของจากผู้มีจิตศรัทธาช่วยเหลือและแบ่งปันน้ำใจทีมอาสาสมัครดับไฟป่าในทุกพื้นที่ของจังหวัดเชียงใหม่ เพราะถือว่าบุคคลเหล่านี้เป็นผู้เสียสละ ทุ่มเทแรงกายแรงใจ เข้าดับไฟป่าในพื้นที่ภูเขาสูงชันและยากลำบาก ด้วยสภาพอากาศที่ร้อนจัด ซึ่งมีความต้องการน้ำดื่มบรรจุขวด อาหารแห้ง และอุปกรณ์ในการดับไฟ หากผู้ที่ประสงค์จะนำสิ่งของมาบริจาค สามารถแจ้งได้ที่ ศูนย์อำนวยการสั่งการแก้ไขปัญหาหมอกควันไฟป่า จังหวัดเชียงใหม่ โทรศัพท์ 053 – 112236 ได้ทุกวัน

ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 29 มี.ค. ที่ผ่านมา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และทีมวิจัยจากสถาบันทางการศึกษาในภาคเหนือ จับมือกับหอการค้าจังหวัดเชียงใหม่ จัดทำโครงการ PEOPLE AQI หรือการใช้ดัชนีคุณภาพอากาศภาคประชาชน สร้างเครือข่ายเฝ้าระวังและเตือนภัยมลพิษทางอากาศในพื้นที่ต่างๆ ของเชียงใหม่ จุดเด่นคือ Dust Boy อุปกรณ์ตรวจวัดคุณภาพและรายงายผลด้วย PM2.5 AQI และ PM10 แบบเรียลไทม์ เพื่อให้ทุกคนเตรียมพร้อมรับมือกับมลพิษทางอากาศได้อย่างถูกต้อง

31-3-2561 11-50-08.jpg

จาก : www.cmuccdc.org

โดยนางวิภาวัลย์ วรพุฒิพงศ์ ประธานหอการค้าจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่า ปัญหาหมอกควันในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ ส่งผลประทบเป็นอย่างมากทั้งด้านสุขภาพ และด้านเศรษฐกิจ ซึ่งผู้เจ็บป่วยต้องรีบเข้ารับการรักษา สูญเสียเม็ดเงินที่ใช้ในการรักษาเป็นจำนวนมาก และจากการวิจัยของ นพ.พงศ์เทพ วิวรรธนะเดช คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ พบว่า เฉพาะจังหวัดเชียงใหม่มีอัตราผู้ป่วยโรคมะเร็งปอดประมาณ 40 คนต่อประชากร 100,000 คน 

ขณะที่ในภาคอื่นๆ มีอัตราผู้ป่วยโรคมะเร็งปอดเฉลี่ยประมาณ 20 คนต่อประชากร 100,000 คน หากปัญหามลพิษทางอากาศยังไม่ได้รับการแก้ไขอย่างมีประสิทธิผลแล้ว น่าเป็นห่วงว่าในอีก 10 ปีข้างหน้า จะมีผู้ป่วยโรคมะเร็งปอดเพิ่มขึ้นอีกเป็นจำนวนมาก และยังผลกระทบด้านการท่องเที่ยวของจังหวัดเชียงใหม่ด้วย ซึ่งขณะนี้ใกล้ช่วงไฮซีซั่น ท่องเที่ยวสงกรานต์กันแล้ว ดังนั้นทุกฝ่ายต้องร่วมมือกันในการงดเผา และตระหนักถึงมลพิษที่เข้ามาทำร้ายตัวเราให้มากขึ้น 

ด้าน รศ.ดร.เศรษฐ์ สัมภัตตะกุล หัวหน้าโครงการติดตามและประเมินภาวะหมอกควันเพื่อการบริหารจัดการ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เปิดเผยว่า ปัญหาหมอกควันในปัจจุบันได้มีความเชื่อมโยงถึงปัญหาการทำลายป่าต้นน้ำและภาวะภัยแล้ง ทั้งในภาคเหนือและภาคกลาง อย่างไรก็ตามขณะนี้ถือว่าสภาพปัญหาเราแก้ไขได้ส่วนหนึ่ง แต่มีปัจจัยปัญหาที่นอกเหนือการควบคุม ได้แก่ การเผาพื้นที่ผ่านจากประเทศเพื่อนบ้าน รวมถึงในพื้นที่ของภาคเหนือบางส่วน การแก้ไขปัญหาระยะยาวและมีความยั่งยืนต้องเน้นกระบวนการมีส่วนร่วมของภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาชน หรือทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และทำการเก็บรวบรวมข้อมูล การวิเคราะห์ข้อมูล สรุปผลและการสร้างการรับรู้ การตระหนักถึงปัญหาของประชาชน

31-3-2561 11-43-57.jpg


ด้วยสถานการณ์หมอกควันที่เป็นมาอย่างยาวนาน ทางมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้คิดค้นเครื่องตรวจวัดคุณภาพอากาศแบบพกพา (Dustboy) เพื่อก่อให้เกิดความตระหนักรู้ถึงความสำคัญในปัญหาหมอกควัน เพื่อให้เกิดการเฝ้าระวังและเตือนภัยแก่สาธารณะชนอย่างทันท่วงทีโดยเฉพาะในช่วงวิกฤตหมอกควัน โดยมีวัตถุประสงค์ที่สำคัญคือ 

1. เพื่อตรวจวัดและติดตามสถานการณ์คุณภาพอากาศของปริมาณฝุ่น PM10 และ PM2.5 โดยเครื่องตรวจวัดคุณภาพอากาศแบบพกพา  

2. เพื่อสื่อสารข้อมูลและเตือนภัยถึงสภาวะความรุนแรงของปัญหาหมอกควันที่เกิดขึ้นในพื้นที่ให้แก่เครือข่ายและสาธารณะชน 

3. เพื่อพัฒนาระบบฐานข้อมูลและการเชื่อมโยงข้อมูลด้านปัญหาหมอกควันในพื้นที่ภาคเหนือ อันจะนำไปสู่การร่วมมือกันในการแก้ไขปัญหาอย่างเป็นรูปธรรมและเหมาะสม