ไม่พบผลการค้นหา
อดีตกัปตันฟุตบอลทีมชาติออสเตรเลียเยือนไทย จี้ ‘ประยุทธ์’ ปล่อยตัว ‘ฮาคีม อัล-อาไรบี’ อดีตนักเตะบาห์เรนซึ่งได้รับสถานะผู้ลี้ภัยในออสเตรเลีย แต่ถูกจับเมื่อเดินทางมาเที่ยวไทยปีที่แล้ว ด้านคนดังและนักบอลหลายรายร่วมรณรงค์ผ่านสื่อออนไลน์จี้ไทย ‘ปล่อยฮาคีม’ ด้วย

เครก ฟอสเตอร์ อดีตกัปตันฟุตบอลทีมชาติออสเตรเลีย เดินทางเยือนไทยเพื่อรณรงค์ให้ปล่อยตัว ‘ฮาคีม อัล-อาไรบี’ นักเตะสโมสรฟุตบอล PV FC ในออสเตรเลีย วัย 25 ปี ซึ่งได้รับสถานะผู้ลี้ภัยทางจากออสเตรเลียนับตั้งแต่ปี 2560 แต่ถูกจับกุมที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิของไทยเมื่อวันที่ 27 พ.ย. 2561 ขณะที่เขาเดินทางมาเยือนไทยเพื่อฮันนีมูนกับภรรยา

อดีตกัปตันฯ ออสเตรเลียเปิดเผยกับ ‘วอยซ์ออนไลน์’ เมื่อวันที่ 23 ม.ค. 2562 ว่า เขาต้องการเรียกร้องให้ทางการไทยและแฟนฟุตบอลชาวไทยได้ตระหนักว่าการจับกุมและควบคุมตัวฮาคีม เป็นการทำลายชีวิตนักฟุตบอลอาชีพ ทั้งยังเป็นการผิดคำสัญญาที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติและนายกรัฐมนตรีไทย เคยให้ไว้กับที่ประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติเมื่อปี 2559


“ออสเตรเลียกับไทยเป็นมิตรกันในเรื่องฟุตบอล คนออสเตรเลียรักคนไทย เรามาเที่ยวไทยช่วงวันหยุดเป็นประจำ และประเทศของเรามีความสัมพันธ์ที่ดีเยี่ยมต่อกัน แต่เรื่องฮาคีมนี้มันไม่ถูกต้อง”


ฟอสเตอร์ ระบุด้วยว่า ในนามของประธานสมาพันธ์นักฟุตบอลออสเตรเลียและอดีตกัปตันทีมชาติ เขาจำเป็นต้องมาเยือนไทย เพื่อเรียกร้องให้ปล่อยตัวฮาคีมกลับไปยังออสเตรเลีย ซึ่งเขาได้รับความคุ้มครองจากทางการออสเตรเลียในฐานะผู้ลี้ภัยทางการเมือง


“เขาควรได้รับการปล่อยตัวกลับบ้าน และการต่อสู้เรื่องนี้ยังไม่จบ คนออสเตรเลียไม่พอใจ เราต้องการเพื่อนของเรากลับไป เราจะส่งจดหมายถึงนายกฯ และรัฐบาลไทยไปเรื่อยๆ และจะส่งเสียงในนามของฮาคีม อัล-อาไรบี ไม่ว่าจะใช้เวลานานแค่ไหนก็ตาม ออสเตรเลียจะไม่ยอมแพ้ และเสียงเรียกร้องจะดังขึ้นและเข้มแข็งขึ้นเรื่อยๆ”


ก่อนหน้านี้ ทางการไทยชี้แจงกับสื่อต่างประเทศว่าฮาคีมเป็นผู้ถูกออกหมายแดงโดยองค์การตำรวจสากลอินเตอร์โพลในออสเตรเลีย เนื่องจากฮาคีมเป็นผู้หลบหนีคดีอาญาในบาห์เรน เพราะเขาไม่ไปรายงานตัวในคดีที่ถูกกล่าวหาว่าทำลายทรัพย์สินราชการ ในระหว่างที่มีการชุมนุมครั้งใหญ่เมื่อปี 2555 เพื่อประท้วงรัฐบาลบาห์เรน แต่ฮาคีมยืนกรานปฏิเสธ โดยย้ำว่าขณะเกิดเหตุเขากำลังแข่งฟุตบอลซึ่งมีการถ่ายทอดสด ก่อนที่เขาจะตัดสินใจหลบหนีออกนอกประเทศ ทำให้ถูกตัดสินจำคุก 10 ปี เพราะไม่ไปรายงานตัวต่อศาลเมื่อปี 2557

AFP-ตำรวจไทยพาฮาคีม อัล-อาไรบี-Hakeem Al Araibi-นักเตะบาห์เรนผู้ลี้ภัยการเมืองในออสเตรเลียขึ้นศาล.jpg
  • ฮาคีมถูกเบิกตัวขึ้นศาลไทยเมื่อวันที่ 11 ธ.ค.2561 และมีคำตัดสินขยายเวลากักตัวอีก 60 วัน

ออสเตรเลียรับรองสถานะผู้ลี้ภัยแก่ฮาคีม หลังจากที่เขาให้การว่าถูกคุมตัวและซ้อมทรมานโดยเจ้าหน้าที่หน่วยความมั่นคงของบาห์เรน ซึ่งต้องการให้เขารับสารภาพความผิดที่ตนไม่ได้ก่อ และการส่งตัวเขากลับไปบาห์เรนอาจจะเสี่ยงอันตรายถึงชีวิต


“พวกเขาพรากฟุตบอลไปจากผม แล้วผมจะเหลืออะไร”

ฟอสเตอร์ เดินทางเข้าเยี่ยมฮาคีมซึ่งถูกคุมขังอยู่ที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 22 ม.ค.ที่ผ่านมา โดยเขาระบุว่า ฮาคีมกำลังรู้สึก ‘สิ้นหวัง’ ทั้งยังบอกด้วยว่า เขารู้สึกหัวใจสลาย แม้จะได้รับโอกาสให้เล่นฟุตบอลกับทีมแชมป์เรือนจำ ซึ่งเขายอมรับว่าเป็นประสบการณ์ที่ดี แต่เขาไม่ต้องการเล่นฟุตบอลในกรงขัง ทั้งยังวอนให้ทางการไทยปล่อยตัวเขากลับไปที่ออสเตรเลีย ซึ่งเขานับเป็นบ้านมากกว่าบาห์เรน

นอกจากนี้ ฟอสเตอร์ยังระบุด้วยว่า หากฮาคีมต้องใช้เวลาในกระบวนการชั้นศาลของไทย ชีวิตนักฟุตบอลอาชีพของเขาก็ถือว่า ‘ตายไปแล้ว’ เพราะขณะนี้เขามีอายุ 25 ปี ตามปกติก็มีเวลาเหลืออีกไม่กี่ปีที่จะเล่นฟุตบอลอาชีพได้ และในขณะที่ได้พูดคุยกันสั้นๆ ที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพ ฮาคีมได้บอกกับฟอสเตอร์ว่า “พวกเขาพรากฟุตบอลไปจากผม แล้วผมจะเหลืออะไร”

“ผมบอกเขาว่า “อย่ากังวล อย่าหมดหวัง” ฟุตบอลกำลังสู้เพื่อเขา และนักเตะจำนวนมากกำลังสู้เพื่อเขาเช่นกัน” ฟอสเตอร์ เปิดเผยกับวอยซ์ออนไลน์

อย่างไรก็ตาม การรณรงค์ในสื่อสังคมออนไลน์เพื่อเรียกร้องให้ทางการไทยปล่อยตัวฮาคีมเริ่มมีคนพูดถึงมากขึ้น ผ่านแฮชแท็ก #SaveHakeem โดยบุคคลที่มีชื่อเสียงในหลายแวดวงทวีตข้อความรณรงค์ให้ปล่อยตัวฮาคีม เช่น ร็อบบี ฟาวเลอร์ อดีตนักฟุตบอลสโมรสรลิเวอร์พูล, แอนโทนี ลาพาเกลีย นักแสดงชาวออสเตรเลียที่มีผลงานเป็นที่รู้จักในฮอลลีวูด รวมถึงนักการเมืองออสเตรเลียทั้งฝั่งรัฐบาลและพรรคฝ่ายค้าน

ฟอสเตอร์ ย้ำว่า ไทยเป็นประเทศที่รักในกีฬาฟุตบอล และนักกีฬาของไทยก็มีความก้าวหน้าขึ้นเรื่อยๆ เห็นได้จากการที่ไทยเข้ารอบ 16 ทีมในการแข่งขันฟุตบอลเอเชี่ยนคัพ และมีแฟนบอลชาวไทยให้การสนับสนุนทีมฟุตบอลต่างชาติอีกเป็นจำนวนมาก ขณะที่ฮาคีมเองก็เป็นแฟนบอลทีมเรอัลมาดริด และชื่นชอบนักฟุตบอลดัง ‘เซอร์โจ รามอส’ เขาจึงอยากเรียกร้องให้แฟนบอลชาวไทยร่วมกันส่งเสียงให้ปล่อยตัวฮาคีมอีกแรงหนึ่ง ในฐานะที่ฮาคีมเป็นหนึ่งในแฟนคลับเรอัลมาดริดเช่นกัน

นอกจากนี้ ฟอสเตอร์ ยังเรียกร้องให้สมาพันธ์ฟีฬาฟุตบอลระหว่างประเทศ ทั้งฟีฟ่าและเอเอฟซี ทำหน้าที่เป็นปากเสียงให้แก่นักฟุตบอลอย่างฮาคีมให้มากกว่าที่เป็นอยู่ และต้องชี้แจงให้ไทยเข้าใจและปล่อยตัวฮาคีมโดยเร็ว


ไทยไม่ได้ลงนามในอนุสัญญาผู้ลี้ภัย แต่ลงนามต่อต้านการซ้อมทรมาน

ที่ผ่านมา ทางการไทยไม่ได้ชี้แจงเรื่องการจับกุมและคุมขังฮาคีม ผู้มีสถานะ ‘ผู้ลี้ภัยทางการเมือง’ นอกเหนือจากเคยมีการอธิบายว่า ฮาคีมเป็นผู้ถูกออกหมายจับโดยอินเตอร์โพล อย่างไรก็ตาม หมายจับของอินเตอร์โพลถูกยกเลิกในทันทีที่มีรายงานว่าเขาถูกจับกุมที่สุวรรณภูมิ

อย่างไรก็ตาม ศาลไทยยังมีคำตัดสินให้กักตัวเขาต่อ 60 วัน หลังจากถูกเบิกตัวขึ้นศาลเมื่อ 11 ธ.ค.2561 เพื่อดำเนินเรื่องส่งตัวเขากลับไปบาห์เรน ทำให้เกิดเสียงคัดค้านดังขึ้นจากองค์กรระหว่างประเทศด้านสิทธิมนุษยชนหลายแห่ง ทั้งแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล, ฮิวแมนไรท์วอทช์ และเครือข่ายสิทธิผู้ลี้ภัย ซึ่งมองว่าเรื่องดังกล่าว 'ไม่ถูกต้อง'

เอเว่น โจนส์ ผู้ประสานงานเครือข่ายสิทธิผู้ลี้ภัยในเอเชียแปซิฟิก (APRRN) เปิดเผยกับ ‘วอยซ์ออนไลน์’ ว่า ผู้ลี้ภัยต่างชาติที่อยู่ในไทยปัจจุบัน มีจำนวนมากกว่า 106,000 ราย แบ่งเป็นผู้ลี้ภัยสงครามจากเมียนมาที่หลบหนีมาแถบชายแดนไทย-เมียนมา จำนวนกว่า 100,000 ราย และผู้ลี้ภัยในเมืองอีกราว 6,000 ราย ซึ่งในจำนวนนี้มีทั้งผู้ที่ถูกกักตัวในห้องกักของสำนักงานตำรวจตรวจคนเข้าเมืองและกระจายหลบซ่อนตัวในพื้นที่ต่างๆ ทั่วกรุงเทพฯ

เอเว่น โจนส์-Evan Jones-ผู้ประสานงาน APRRN องค์กรช่วยเหลือผู้ลี้ภัยในไทย-sarawut
  • เอเว่น โจนส์ ผู้ประสานงานเครือข่าย APRRN

อย่างไรก็ตาม กรณีของฮาคีมเป็นเรื่องที่ไม่ควรเกิดขึ้น เนื่องจากเขาเป็นผู้ได้รับสถานะผู้ลี้ภัยในออสเตรเลียอย่างเป็นทางการแล้ว ถือเป็นผู้ได้รับความคุ้มครองจากทางการออสเตรเลียตามกฎหมาย ส่วนกรณีหมายจับของอินเตอร์โพล เมื่อมีการตรวจสอบและพบว่าเป็นการออกหมายโดยขัดต่อหลักการ ‘ไม่ส่งกลับ’ หรือ non-refoulement ซึ่งมีไว้เพื่อคุ้มครองผู้ลี้ภัยในด้านต่างๆ หมายดังกล่าวก็ไม่มีผลบังคับใช้อีกต่อไป


“ความสัมพันธ์ระหว่างบาห์เรน-ไทยนั้นแน่นแฟ้น แต่ถ้าเราพักเรื่องความสัมพันธ์ไว้ก่อน แล้วมองกรณีฮาคีมผ่านหลักกฎหมายอย่างเดียว หรือมองในแง่สิทธิผู้ลี้ภัยตามหลักการสากล กรณีของเขาเป็นเรื่องที่ไม่ควรจะถูกขัดขวางเลย”


โจนส์ระบุว่า ที่ผ่านมา รัฐบาลไทยค่อนข้างยึดมั่นในหลักการไม่ส่งกลับผู้ลี้ภัย หรือผู้ที่มีเหตุให้เชื่อได้ว่าจะตกอยู่ในอันตรายหากถูกส่งกลับไปยังประเทศต้นทาง ยกเว้นบางกรณี เช่น กลุ่มชาวอุยกูร์ซึ่งถูกส่งกลับไปจีน รวมถึงผู้ลี้ภัยชาวลาว กัมพูช่า และเวียดนามบางส่วน แต่รัฐบาลไทยเพิ่งมีความคืบหน้าเกิดขึ้นเมื่อต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา เพราะมีการลงนามในบันทึกความเข้าใจระหว่างหน่วยงานราชการ 7 แห่งที่ดำเนินการเรื่องผู้ลี้ภัยและตรวจคนเข้าเมือง ซึ่งระบุว่าจะไม่มีการกักตัวเด็กผู้ลี้ภัยแยกจากมารดา

กรณีดังกล่าวถือว่าเป็น 'ก้าวแรก' ที่ทางการไทยจะทบทวนหรือมุุ่งสู่แนวทางที่ถูกต้องตามหลักการสากล โดยเฉพาะการลงนามในอนุสัญญาต่อต้านการซ้อมทรมานและการระบุว่าจะยึดมั่นในหลักการ 'ไม่ส่งกลับ' อย่างเคร่งครัด


“ไทยอาจจะไม่ได้ลงนามในอนุสัญญาผู้ลี้ภัย แต่ไทยลงนามต่อต้านการซ้อมทรมาน ฮาคีมถูกทำร้ายร่างกายในบาห์เรน เขาควรจะถูกส่งกลับไปเพื่อเจอซ้อมอีกครั้งอย่างนั้นหรือ?”

ข่าวที่เกี่ยวข้อง: