ศาลอาญากรุงเทพมีคำตัดสินขยายเวลากักตัว ฮาคีม อัลอาไรบี อดีตนักฟุตบอลทีมชาติบาห์เรน วัย 25 ปี ออกไปอีก 60 วัน หลังจากที่เขาถูกจับกุมเมื่อวันที่ 27 พ.ย.ที่ผ่านมา และถูกส่งไปยังห้องกักของสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง (สตม.) สวนพลู จนกระทั่งศาลฯ มีคำสั่งเบิกตัววันนี้ (11 ธ.ค.) และมีคำสั่งให้เจ้าหน้าที่ดำเนินเรื่องส่งตัวฮาคีมกลับประเทศบาห์เรนต่อไป ท่ามกลางเสียงคัดค้านขององค์กรสิทธิมนุษยชนและตัวแทนรัฐบาลออสเตรเลีย
สำนักข่าวต่างประเทศ ทั้งเอเอฟพี, ดอยเชอเวลเลอ และซิดนีย์ มอร์นิง เฮรัลด์ (SMH) รายงานว่า ฮาคีมถูกตำรวจไทยควบคุมตัวมายังศาลอาญากรุงเทพเมื่อช่วงสาย และเขาได้ตะโกนบอกกับสื่อซึ่งมารอทำข่าวว่า เขาไม่เกี่ยวข้องกับบาห์เรน และเขาอยากกลับไปที่ออสเตรเลีย ขณะที่ก่อนหน้านี้ สื่อหลายสำนักรายงานว่า ฮาคีมลี้ภัยจากบาห์เรนหลังถูกจับกุมและทำร้ายร่างกาย เพราะถูกกล่าวหาว่าเข้าร่วมการชุมนุมประท้วงรัฐบาลบาห์เรนเมื่อปี 2555 แต่ในปัจจุบันเขาได้รับสถานะผู้พำนักอาศัยถาวรในออสเตรเลีย ตลอดจนได้รับการยืนยันสถานะผู้ลี้ภัยทางการเมืองจากสำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (UNHCR)
ก่อนหน้านี้เพียง 1 วัน มารีส เพย์น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศออสเตรเลีย เรียกร้องให้รัฐบาลไทยปล่อยตัวฮาคีมเร็วที่สุด โดยให้เหตุผลว่าฮาคีมอยู่ในการดูแลของออสเตรเลียแล้ว หากทางการไทยส่งตัวฮาคีมกลับไปยังบาห์เรน อาจทำให้เขาตกอยู่ในอันตราย ทั้งยังเข้าข่ายละเมิดกฎหมายระหว่างประเทศด้านสิทธิมนุษยชน โดยเพย์นระบุว่า ตนได้พูดคุยเรื่องดังกล่าวกับนายดอน ปรมัตถ์วินัย รมว.ต่างประเทศของไทย จึงหวังว่าทางการไทยจะพิจารณาปล่อยตัวฮาคีมในที่สุด
นอกเหนือจากรัฐบาลออสเตรเลียที่เรียกร้องปล่อยตัวฮาคีม ยังมีความเคลื่อนไหวจากสหพันธ์ฟุตบอลนานาชาติ (ฟีฟ่า) และสโมสรฟุตบอลพาสโค เวล ในเมืองเมลเบิร์นของออสเตรเลีย ซึ่งฮาคีมเป็นหนึ่งในนักเตะให้กับทีมดังกล่าว ต่างก็ออกแถลงการณ์เรียกร้องให้ทางการไทยปล่อยตัวฮาคีมและระงับเรื่องส่งตัวฮาคีมกลับไปยังบาห์เรน โดยย้ำว่าการส่งตัวเขากลับประเทศบ้านเกิดจะทำให้สถานการณ์ยิ่งเลวร้าย
ทั้งนี้ ณัฐาศิริ เบิร์กแมน ทนายความด้านสิทธิมนุษยชน เป็นผู้รับผิดชอบคดีของฮาคีม หลังจากที่เคยมีข่าวออกมาเมื่อสัปดาห์ที่แล้วว่า เขาไม่ได้รับอนุญาตให้พบทนาย แต่ณัฐาศิริกล่าวกับเอเอฟพีว่าตนจะดำเนินการยื่นประกันตัวฮาคีมต่อไป แม้ว่าศาลจะพิพากษาให้กระบวนการดำเนินเรื่องส่งตัวเขากลับบาห์เรนดำเนินต่อไปก็ตาม แต่ยืนยันว่าหลักฐานประกอบคำร้องขอประกันตัวจะพิสูจน์ได้ว่าการส่งตัวฮาคีมกลับบาห์เรนจะทำให้เขาตกอยู่ในอันตราย
ขณะที่มิงกี เวิร์ดเดน ผู้อำนวยการโครงการ Global Initiative ขององค์กรระหว่างประเทศด้านสิทธิมนุษยชน ฮิวแมนไรท์วอทช์ หรือ HRW เปิดเผยกับดอยเชอเวลเลอ สื่อเยอรมนี ว่าคำให้การของฮาคีมเรื่องที่เขาถูกเจ้าหน้าที่รัฐบาลบาห์เรนซ้อมเมื่อปี 2555 มีการบันทึกปากคำและตรวจสอบหลักฐาน ทั้งยังปรากฏในรายงานสถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนของ HRW ที่เกี่ยวกับประเทศบาห์เรน
โดยตัวแทน HRW ย้ำว่า หลายปีที่ผ่านมา ผู้เคลื่อนไหวโดยใช้แนวทางสันติวิธีเพื่อวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลบาห์เรนและบทบาทของราชวงศ์บาห์เรนในทางการเมืองถูกจับกุมและควบคุมตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยกรณีของฮาคีมพบว่าครอบครัวของเขาตกเป็นเป้าหมายการจับกุมและปราบปรามของเจ้าหน้าที่รัฐบาลบาห์เรนด้วยเช่นกัน
อย่างไรก็ตาม เวิร์ดเดนระบุว่า ท่าทีของฟีฟ่าที่ออกแถลงการณ์เรียกร้องให้ปล่อยตัวฮาคีมเป็นเรื่องที่ดี แต่ชีค ซัลมาน บิน เอบรอฮิม อัล-คาลิฟะ รองประธานฟีฟ่า เป็นสมาชิกคนหนึ่งของราชวงศ์บาห์เรน ซึ่งมีส่วนสำคัญในการกดดันรัฐบาลบาห์เรนให้นำตัวฮาคีมกลับไปดำเนินคดี ทำให้สถานการณ์ในเรื่องนี้ดูจะค่อนข้างสิ้นหวัง
ส่วนซิดนีย์ มอร์นิง เฮรัลด์ สื่อออสเตรเลีย รายงานว่า ฮาคีมถูกกล่าวหาว่าเข้าร่วมการชุมนุมประท้วงรัฐบาลเมื่อปี 2555 และทำลายทรัพย์สินราชการ แต่เขาปฏิเสธข้อกล่าวหา โดยย้ำว่าขณะเกิดเหตุเขากำลังแข่งขันฟุตบอลในนัดที่มีการถ่ายทอดสด แต่เขากลับถูกตำรวจจับกุมและควบคุมตัว ทั้งยังมีการทำร้ายร่างกายพร้อมข่มขู่ว่าเขาอาจจะบาดเจ็บหนักจนไม่อาจกลับไปเตะฟุตบอลได้อีก
เมื่อได้รับการประกันตัว ฮาคีมนำเรื่องที่เขาถูกซ้อมระหว่างถูกควบคุมตัวไปเปิดเผยต่อสื่อต่างประเทศ รวมถึงดำเนินเรื่องขอลี้ภัยทางการเมือง จนกระทั่งได้รับสถานะผู้ลี้ภัยเมื่อปี 2557 และได้รับสถานะผู้พำนักอาศัยถาวรจากรัฐบาลออสเตรเลีย หลังจากนั้นจึงได้รับการทาบทามให้เซ็นสัญญาเป็นนักฟุตบอลให้กับสโมสรพาสโค เวล เมื่อปี 2560
ฮาคีมและภรรยาเดินทางมายังประเทศไทยเมื่อวันที่ 27 พ.ย.ที่ผ่านมา โดยตั้งใจว่าจะมาท่องเที่ยวพักผ่อน แต่กลับถูกตำรวจไทยจับกุมที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ และมีรายงานว่าหมายจับกุมฮาคีมที่ออกโดยตำรวจสากลอินเตอร์โพล ระบุว่าเขาเป็นที่ต้องการตัวของรัฐบาลบาห์เรน เพราะถูกศาลพิพากษาจำคุก 10 ปีเนื่องจากไม่ไปรายงานตัวในคดีที่เขาถูกกล่าวหาว่าทำลายทรัพย์สินราชการในการประท้วงเมื่อปี 2555
ที่มา: AFP/ D-W/ Sydney Morning Herald
ข่าวที่เกี่ยวข้อง: