เครก ฟอสเตอร์ อดีตกัปตันฟุตบอลทีมชาติออสเตรเลีย จัดแถลงข่าวที่เมืองเมลเบิร์นในวันที่ 22 ธ.ค. 2561 พร้อมด้วยตัวแทนสโมสรฟุตบอลพาสโค เวล ในรัฐวิกตอเรีย และองค์กรด้านสิทธิมนุษยชน เรียกร้องให้รัฐบาลไทยปล่อยตัว 'ฮาคีม อัล-อาไรบี' นักฟุตบอลของสโมสรพาสโค เวล ซึ่งถูกจับกุมที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิเมื่อวันที่ 27 พ.ย.ที่ผ่านมา โดยเขาตั้งใจว่าจะเดินทางมาพักผ่อนกับภรรยาที่เมืองไทย หลังถูกจับกุม ฮาคีมถูกส่งไปกักตัวที่ห้องกักของสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง (สตม.) สวนพลู
ทางการไทยชี้แจงว่าจำเป็นต้องจับกุมฮาคีม เนื่องจากเขาเป็นผู้ถูกออกหมายจับโดยตำรวจสากลอินเตอร์โพล ซึ่งได้รับคำร้องจากรัฐบาลบาห์เรนว่าเขาเป็นผู้ต้องหาที่ถูกตัดสินจำคุก 10 ปี เพราะไม่ไปรายงานตัวต่อศาลในคดีที่เขาถูกกล่าวหาว่าทำลายทรัพย์สินราชการในขณะที่มีการชุมนุมใหญ่ในปี 2555 เพื่อประท้วงรัฐบาลบาห์เรน แต่หมายจับฮาคีมไม่ปรากฏในเว็บไซต์ของอินเตอร์โพลแล้ว หลังจากที่กระทรวงการต่างประเทศออสเตรเลียแถลงยืนยันว่า ฮาคีมได้รับสถานะผู้ลี้ภัยทางการเมืองและได้รับสิทธิพำนักอาศัยถาวรในออสเตรเลียตั้งแต่ปี 2560
นอกจากนี้ องค์กรสิทธิมนุษยชนในบาห์เรนและองค์กรสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ ฮิวแมนไรท์วอทช์ ยืนยันการตรวจสอบข้อมูลและพบหลักฐานบ่งชี้ว่าฮาคีมถูกเจ้าหน้าที่บาห์เรนทำร้ายร่างกายขณะที่เขาถูกควบคุมตัวในข้อหาต่อต้านรัฐบาลจริง และฮาคีมยังยืนยันด้วยว่าขณะเกิดเหตุประท้วงตามที่กล่าวหา เขากำลังแข่งขันฟุตบอลอยู่
การจัดแถลงข่าวของอดีตกัปตันฟุตบอลทีมชาติออสเตรเลีย เป็นความเคลื่อนไหวล่าสุดจากต่างประเทศที่เรียกร้องให้รัฐบาลไทยพิจารณาทบทวนการกักตัวฮาคีม โดยก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 21 ธ.ค.ที่ผ่านมา สโมสรพาสโค เวล ได้เผยแพร่จดหมายเปิดผนึกถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในฐานะนายกรัฐมนตรีไทย ให้พิจารณารับคำร้องของกลุ่มผู้เกี่ยวข้องในแวดวงฟุตบอลและนักสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ เพื่อนำไปสู่การปล่อยตัวฮาคีมโดยเร็วที่สุด
สโมสรพาสโค เวล ระบุว่า ฮาคีมได้รับสถานะผู้ลี้ภัยทางการเมือง ซึ่งจะต้องได้รับการคุ้มครองตามกฎกติการะหว่างประเทศซึ่งสมาชิกสหประชาชาติแต่ละประเทศต้องเคารพยึดถือ พร้อมทั้งคัดค้านการส่งตัวฮาคีมกลับไปยังประเทศบ้านเกิดตามคำร้องของรัฐบาลบาห์เรน เพราะจะทำให้เขาตกอยู่ในอันตราย
นอกจากนี้ พอล สไครเฟน สมาชิกสภาขุนนางแห่งสหราชอาณาจักร เป็นบุคคลสำคัญอีกรายหนึ่งที่ร่วมเรียกร้องให้ทางการไทยปล่อยตัวฮาคีม อัล-อาไรบี โดยสไครเฟนส่งจดหมายเปิดผนึกไปยังสถานเอกอัครราชทูตอังกฤษประจำประเทศไทยตั้งแต่วันที่ 14 ธ.ค.ที่ผ่านมา เรียกร้องให้ทูตอังกฤษร่วมสู้เพื่อหลักการสิทธิมนุษยชน และให้ความเป็นธรรมแก่ฮาคีมโดยการกดดันให้มีการปล่อยตัวเขาโดยเร็วที่สุด
อย่างไรก็ตาม เมื่อวันที่ 11 ธ.ค.ที่ผ่านมา ฮาคีมถูกเบิกตัวขึ้นศาลกรุงเทพ และศาลมีคำสั่งให้ขยายเวลากักตัวฮาคีมต่อไปอีก 60 วัน เพราะต้องพิจารณาเอกสารและประสานงานกับทั้งฝ่ายรัฐบาลบาห์เรนและรัฐบาลออสเตรเลียที่มีข้อเรียกร้องต่อทางการไทยแตกต่างกัน
ทั้งนี้ รัฐบาลบาห์เรนต้องการให้ไทยส่งตัวฮาคีมกลับไปเข้าสู่กระบวนการทางกฎหมายในประเทศบ้านเกิด ขณะที่ออสเตรเลียยืนยันว่าฮาคีมได้รับสถานะผู้ลี้ภัยในออสเตรเลียแล้ว ไม่จำเป็นต้องกลับไปยังบาห์เรน และหากถูกส่งกลับไปจริง จะทำให้เขาต้องเผชิญกับภัยคุกคามและการละเมิดสิทธิ ขณะที่ตัวแทนฝ่ายกฎหมายที่ให้การช่วยเหลือฮาคีม เสนอให้รัฐบาลออสเตรเลียเร่งพิจารณามอบสัญชาติให้แก่ฮาคีม ซึ่งน่าจะช่วยยับยั้งการพิจารณาส่งตัวฮาคีมกลับไปยังบาห์เรนได้