ไม่พบผลการค้นหา
สื่อนอกสงสัยกระบวนการออกหมายจับของอินเตอร์โพลมีชื่อ 'นักเตะผู้ลี้ภัยการเมือง' ทำให้ถูกจับกุมที่ไทย แต่เมื่อมีผู้ทักท้วง หมายจับจึงหายไปจากเว็บอินเตอร์โพล ส่วนหมายจับ 'บอส วรยุทธ อยู่วิทยา' ทายาทกระทิงแดง หายไปตั้งแต่ มี.ค. แต่ สตช.ระบุ "เป็นการดำเนินการภายใน"

'ฮาคีม อัล-อาไรบี' นักฟุตบอลผู้ลี้ภัยทางการเมือง ซึ่งได้รับสิทธิพำนักอาศัยถาวรในออสเตรเลีย ถูกจับกุมขณะเดินทางมาถึงประเทศไทยเมื่อวันที่ 27 พ.ย. โดยทางการไทยระบุว่าเป็นการดำเนินเรื่องตามหมายจับ หรือ 'หมายแดง' ซึ่งออกโดยองค์การตำรวจอาชญากรรมระหว่างประเทศ หรือ 'อินเตอร์โพล' ซึ่งไทยเป็น 1 ใน 194 ประเทศสมาชิก โดยเดอะการ์เดียนรายงานอ้างอิงข้อมูลจากกระทรวงการต่างประเทศของไทย ที่ระบุว่าหมายจับของอินเตอร์โพลเป็นการอ้างอิงคำร้องของ 'หน่วยงานรัฐบาลออสเตรเลีย' แต่ทนายความของฮาคีมระบุว่า เป็นเรื่องน่าประหลาดใจ เพราะทางการออสตรเลียเป็นผู้รับรองสถานะผู้ลี้ภัยและให้สิทธิพำนักอาศัยถาวรแก่ฮาคีมเอง 

ฮาคีมเป็นชาวบาห์เรนที่ลี้ภัยไปยังออสเตรเลีย หลังจากที่เขาถูกรัฐบาลบาห์เรนจับกุมและตั้งข้อหาทำลายทรัพย์สินราชการในระหว่างที่เกิดการประท้วงรัฐบาลครั้งใหญ่ในปี 2555 แต่ฮาคีมปฏิเสธข้อกล่าวหา พร้อมย้ำว่าขณะเกิดเหตุเขากำลังแข่งฟุตบอลที่มีการถ่ายทอดสดทางโทรทัศน์ แต่เขากลับถูกตำรวจจับกุมและทำร้ายร่างกาย รวมถึงคุกคามสมาชิกครอบครัวคนอื่นๆ จึงตัดสินใจขอลี้ภัยไปยังออสเตรเลีย เขาจึงถูกศาลบาห์เรนตัดสินว่ามีความผิดเพราะไม่ไปรายงานตัวต่อศาล และถูกพิพากษาจำคุก 10 ปี แต่ทางการออสเตรเลียมองว่าข้อกล่าวหาของฮาคีมเกิดจากแรงจูงใจทางการเมือง และตัดสินใจอนุมัติสถานะผู้พำนักอาศัยถาวรให้เขาเมื่อปี 2560 ที่ผ่านมา

เมื่อฮาคีมถูกจับกุมและกักตัวขณะเดินทางมาไทย ตัวแทนกระทรวงการต่างประเทศออสเตรเลียและองค์กรด้านสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศหลายแห่งพร้อมใจกันเรียกร้องให้รัฐบาลไทยปล่อยตัวฮาคีม ส่วนหมายแดงของอินเตอร์โพลที่มีชื่อของฮาคีมปรากฏอยู่ ก็ถูกเพิกถอนไปเมื่อวันที่ 3 ธ.ค.ที่ผ่านมา แต่ทางการไทยยังยืนยันที่จะคุมตัวฮาคีมที่ห้องกักของสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองต่อไป และเมื่อวันที่ 11 ธ.ค. ศาลไทยมีคำตัดสินขยายเวลาคุมตัวฮาคีมต่อไปอีก 60 วัน ทำให้เรื่องของฮาคีมกลายเป็นประเด็นใหญ่ด้านสิทธิมนุษยชนระดับโลก

AFP-ตำรวจไทยพาฮาคีม อัล-อาไรบี-Hakeem Al Araibi-นักเตะบาห์เรนผู้ลี้ภัยการเมืองในออสเตรเลียขึ้นศาล.jpg
  • ฮาคีม อัล-อาไรบี ถูกคุมตัวมาขึ้นศาลเมื่อ 11 ธ.ค. และถูกปฏิเสธไม่ให้ประกันตัว

สโมสรฟุตบอลพาสโค เวล ในออสเตรเลีย ซึ่งเป็นทีมที่ฮาคีมเซ็นสัญญาเป็นนักเตะให้จนถึงปัจจุบัน รวมถึงสมาชิกสภาขุนนางอังกฤษ ต่างแสดงท่าทีกดดันและส่งจดหมายเปิดผนึกถึงรัฐบาลไทย เพื่อคัดค้านการจับกุมและคุมขังฮาคีม เพราะเขาได้รับสถานะผู้ลี้ภัยแล้ว ทั้งยังคัดค้านข้อเรียกร้องของรัฐบาลบาห์เรนที่ต้องการให้ไทยส่งตัวฮาคีมกลับไปดำเนินคดีที่ประเทศบ้านเกิดด้วย

การออกจากหมายจับของอินเตอร์โพลกลายเป็นประเด็นหนึ่งที่สื่อต่างประเทศตั้งคำถาม โดยเดอะการ์เดียนรายงานว่า การออกหมายแดงเพื่อจับกุมผู้ลี้ภัยหรือผู้ที่กำลังยื่นเรื่องขอลี้ภัยทางการเมือง เป็นเรื่องที่ขัดต่อหลักการของอินเตอร์โพล แต่เพราะเหตุใดจึงเกิดกรณีของฮาคีมขึ้นมา ซึ่งสำนักข่าวต่างประเทศ ทั้งการ์เดียนออสเตรเลียและเอเอฟพี พยายามติดต่ออินเตอร์โพลออสเตรเลียเพื่อขอข้อมูลที่ชัดเจนว่า เพราะเหตุใดทางการไทยจึงระบุว่าได้รับเอกสารจากออสเตรเลียให้จับกุมตัวฮาคีมในตอนแรก แต่ไม่ได้รับคำตอบกลับมา


หมายแดงอินเตอร์โพลถูกใช้เป็นเครื่องมือทางการเมือง?

Foreign Policy หรือ FP สื่อวิเคราะห์ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ รายงานว่า กระบวนการออกหมายแดงของอินเตอร์โพล ถูกตั้งคำถามเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ว่ายังดำเนินการได้อย่างโปร่งใส เป็นอิสระ และปราศจากการแทรกแซงจากประเทศสมาชิกบางส่วนหรือไม่ เนื่องจากช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา มีการออกหมายจับกุมผู้วิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลที่เป็นประเทศสมาชิกอินเตอร์โพล เช่น สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (UAE) เวเนซุเอลา ตุรกี รัสเซีย และประเทศต่างๆ ที่เคยเป็นสมาชิกสหภาพโซเวียตในอดีต 

เอฟพียกตัวอย่างคดีที่ 'ปันโช กัมโป' ผู้เชี่ยวชาญด้านไวน์ที่เป็นบุคคลสองสัญชาติ คือ สเปนและชิลี เคยลงทุนในยูเออีเมื่อปี 2545 และต้องเซ็นเช็คเพื่อเป็นหลักประกันการกู้เงินตามเงื่อนไขของกฎหมายยูเออี แต่กิ���การไม่ทำกำไรจึงตัดสินใจยุบทิ้งไป และเขามองว่าเป็นเพราะบรรยากาศหลังเหตุการณ์วินาศกรรม 9/11 ในสหรัฐฯ ทำให้ทั่วโลกหวาดระแวงประเทศอาหรับ หลังจากนั้น หุ้นส่วนชาวเลบานอนได้ยื่นฟ้องศาลยูเออีให้ดำเนินคดีกัมโปในข้อหาฉ้อโกง แต่เขาระบุว่าไม่เคยได้รับแจ้งข้อมูลเรื่องคดีเลย จนกระทั่งศาลยูเออีตัดสินว่าเขามีความผิด ฐานไม่ไปรายงานตัว เป็นเหตุให้ศาลยูเออีออกหมายจับกุมเขาในฐานะอาชญากรทางการเงิน 

'กัมโป' เปิดเผยกับเอฟพีว่า เขาเพิ่งทราบว่าตัวเองมีชื่ออยู่ในหมายแดงของอินเตอร์โพลเมื่อเขาพยายามเดินทางเข้าสหรัฐฯ ในปี 2552 แต่ถูกเจ้าหน้าที่สหรัฐฯ แจ้งว่าไม่มีสิทธิเข้าประเทศ เนื่องจากเขาเป็นบุคคลที่ยูเออีต้องการตัว แต่เจ้าหน้าที่สหัรฐฯ ไม่ได้จับกุมหรือดำเนินเรื่องส่งตัวเขาไปยูเออี เนื่องจากข้อกล่าวหาในคดีที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินธุรกิจไม่ใช่ความผิดทางอาญาในกฎหมายสหรัฐฯ 

AFP-โลโก้อินเตอร์โพล-ตำรวจสากล.jpg
  • สื่อต่างชาติตั้งข้อสังเกตว่ากระบวนการออกหมายแดงของอินเตอร์โพลอาจถูกประเทศสมาชิกแทรกแซง

หลังจากนั้น กัมโปได้พยายามเจรจาไกล่เกลี่ยและจ่ายค่าปรับเป็นเงิน 280,000 ดอลลาร์แก่คู่กรณี ทำให้หมายแดงอินเตอร์โพลถูกเพิกถอนไป ซึ่งกัมโประบุว่า หลายประเทศไม่ได้พิจารณาจับกุมหรือส่งตัวบุคคลที่มีรายชื่อตามหมายแดงของอินเตอร์โพลไปยังประเทศที่ออกหมายจับเสมอไป แต่จะพิจารณาว่าความผิดที่ถูกกล่าวหานั้นเข้าขั้นร้ายแรงจริงหรือไม่ แต่ถึงกระนั้นก็ถือว่าส่งผลกระทบในการดำเนินธุรกิจและสร้างความยุ่งยากในการใช้ชีวิตของผู้ที่มีชื่ออยู่ในหมายแดงของอินเตอร์โพล โดยเขาระบุถึงสิ่งที่ตัวเองต้องเผชิญอยู่หลายปีว่ามีผลต่อความเชื่อมั่นของผู้ที่จะมาร่วมลงทุนด้วยอย่างมาก


'หมายแดงหาย' แต่อาจจะไม่ได้ถูก 'เพิกถอน' 

เอฟพีรายงานอ้างอิงข้อมูลในเว็บไซต์ของอินเตอร์โพล ระบุว่า 'หมายแดง' ไม่ใช่หมายจับนานาชาติ แต่เป็นหมายที่ใช้สำหรับแจ้งเตือนสำนักงานตำรวจของแต่ละประเทศสมาชิกอินเตอร์โพลให้ได้รับทราบว่า บุคคลที่มีชื่ออยู่ในหมายแดง 'เป็นที่ต้องการตัว' ของประเทศต้นทางที่มีการออกหมายจับตามกระบวนการในชั้นศาล แต่อินเตอร์โพลไม่มีอำนาจบังคับให้ประเทศสมาชิกอื่นๆ ดำเนินการจับกุมหรือส่งตัวผู้ถูกออกหมายจับ ยกเว้นในกรณีที่สองประเทศที่เกี่ยวข้องมีข้อตกลงส่งผู้ร้ายข้ามแดนร่วมกัน ส่วนหน้าที่ของอินเตอร์โพลคือการสืบสวนสอบสวน รวมรวมข้อมูล และแจ้งเบาะแสของบุคคลที่ถูกออกหมายจับให้แก่ประเทศต้นทางรับทราบ 

อย่างไรก็ตาม การออกหมายแดงของอินเตอร์โพลมีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัดเมื่อเทียบกับสถิติหมายแดง 1,418 หมายในปี 2544 และ 13,048 หมายในปี 2560 ส่วนหนึ่งเป็นผลจากกระบวนการยื่นเรื่องและประสานงานระหว่างอินเตอร์โพลแต่ละประเทศสะดวกรวดเร็วขึ้นมาก เพราะดำเนินการผ่านระบบออนไลน์ แต่ขณะเดียวกันก็เป็นเพราะหน่วยงานที่เป็นสมาชิกอินเตอร์โพลถูกรัฐบาลของตัวเองกดดันให้ออกหมายจับกุมบุคคลที่เป็นปฏิปักษ์หรือผู้วิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล 

กรณีของ 'ฮาคีม อัล-อาไรบี' เป็นหนึ่งในตัวอย่างที่บ่งชี้ว่าผู้วิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลอาจตกเป็นเป้าของการออกหมายแดงอินเตอร์โพลได้ ซึ่งแม้ว่าขณะนี้หมายจะถูกเพิกถอนไป และชื่อของฮาคีมไม่ปรากฏในหน้าเว็บไซต์ของอินเตอร์โพลแล้ว แต่เขาก็ยังไม่ได้รับการปล่อยตัว เพราะทางการบาห์เรนได้ยื่นหนังสือเรียกร้องถึงไทยให้ส่งตัวฮาคีมกลับไปรับโทษในประเทศบ้านเกิด อย่างไรก็ตาม เอบีซีนิวส์ระบุว่า ถ้าหากออสเตรเลียเป็นผู้ดำเนินการออกหมายจับและส่งเรื่องให้อินเตอร์โพลออกหมายแดงในชื่อฮาคีมตามที่ฝ่ายไทยเปิดเผยมาก่อนหน้านี้ ก็น่าจะต้องส่งตัวเขากลับไปยังออสเตรเลีย แทนที่จะส่งกลับไปยังบาห์เรน 

ส่วนกรณีของประเทศไทย มีบุคคลสัญชาติไทยถูกออกหมายแดงอินเตอร์โพล 13 ราย ส่วนใหญ่เกี่ยวข้องกับการลักลอบนำผู้อพยพเข้าเมืองและพัวพันการค้ามนุษย์ ส่วนหมายแดงของ 'บอส' หรือ 'วรยุทธ อยู่วิทยา' หลานของนายเฉลียว อยู่วิทยา ผู้ก่อตั้งบริษัท 'กระทิงแดง' กิจการเครื่องดื่มชูกำลัง มหาเศรษฐีผู้ร่ำรวยอันดับต้นๆ ของไทย หายไปจากเว็บไซต์ของอินเตอร์โพลตั้งแต่เดือน มี.ค.2561 ที่ผ่านมา แต่โฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติของไทยยืนยันว่า ทางการไทยไม่ได้เพิกถอนหมายจับนายวรยุทธแต่อย่างใด เพียงแต่อินเตอร์โพลต้องการดำเนินเรื่องนี้เป็นการภายใน

https://images.voicetv.co.th/media/640/0/storage0/1326519.jpg
  • ผู้สิื่อข่าว AP ตามไปพบ 'บอส กระทิงแดง' ที่บ้านพักในกรุงลอนดอนของอังกฤษเมื่อเดือน เม.ย. 2560

ทั้งนี้ นายวรยุทธ เป็นผู้ต้องหาในคดีขับรถชนตำรวจเสียชีวิตเมื่อเดือน ก.ย. 2555 แต่ลอยนวลหลบหนีไปได้เป็นเวลานานหลายปี ซึ่งก่อนหน้านี้สื่อต่างประเทศอย่างเอพีและแชนแนลนิวส์เอเชียเคยรายงานว่านายวรยุทธได้ทิ้งเบาะแสไว้มากมาย เพราะเขายังใช้ชีวิตอย่างหรูหราและโพสต์ภาพต่างๆ ลงในสื่อสังคมออนไลน์ส่วนตัวเหมือนกับไม่ได้เป็นผู้หลบหนีคดี แต่เมื่อผู้สื่อข่าวของเอพีตามไปเจอตัวนายวรยุทธที่กรุงลอนดอนของอังกฤษ หลังจากนั้นก็ไม่มีการเคลื่อนไหวในสื่อออนไลน์เดิมที่เคยใช้งาน และทางการไทยยืนยันว่าไม่ทราบข้อมูลเพิ่มเติม ทั้งยังไม่ได้รับแจ้งจากประเทศอื่นๆ ที่เป็นสมาชิกอินเตอร์โพลว่านายวรยุทธเดินทางไปยังประเทศใดหรือไม่

อย่างไรก็ตาม คดีของทายาทกระทิงแดงเป็นเรื่องที่คนในประเทศไทยจำนวนมากสนใจติดตาม เพราะถูกมองว่าเป็นภาพสะท้อนของความเหลื่อมล้ำและการเลือกปฏิบัติในกระบวนการยุติธรรมของไทย เนื่องจากผู้มีฐานะร่ำรวยมักจะลอยนวลหลบหนีคดีไปได้

  • เฟซบุ๊ก Vorayuth Yoovidhya อัปเดตข้อมูลที่เปิดเผยต่อสาธารณะครั้งสุดท้ายเมื่อเดือน มี.ค.2560

นอกจากนี้ยังมีกรณีอดีตนายกรัฐมนตรีทักษิณ และยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ซึ่งรัฐบาลทหารชุดปัจจุบันเผยว่าได้ติดต่อประสานงานไปยังอินเตอร์โพลให้ออกหมายแดงในชื่อของอดีตนายกฯ ทั้งสองรายในฐานะผู้หลบหนีคดีตามหมายจับของศาลไทย แต่ยังไม่มีความคืบหน้าที่ชัดเจน และไม่เคยปรากฏชื่ออดีตนายกฯ ในเว็บไซต์ของอินเตอร์โพลมาก่อน แม้ว่าทั้งคู่จะเดินทางไปยังประเทศต่างๆ อย่างเปิดเผยในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา

ข่าวที่เกี่ยวข้อง: