ไม่พบผลการค้นหา
วันสตรีสากลที่ทั่วโลกต่างเฉลิมฉลองให้แก่ผู้หญิง แต่ในจีนเองกลับยังกีดกันผู้หญิงที่แต่งงานแล้วและมีอายุมากออกจาการเป็นผู้หญิงในสังคม และการเฉลิมฉลองวันสตรีสากลยังถูกแทนที่ด้วยวันเด็กผู้หญิงเพื่อฉลองให้แก่ผู้หญิงที่ยังไม่แต่งงานเท่านั้นอีกด้วย

เมื่อวานนี้ (8 มี.ค.) เป็นวันที่ทั่วโลกต่างเฉลิมฉลองวันสตรีสากล แต่สำหรับในประเทศจีนเองไม่ได้มีวันดังกล่าวอย่างแท้จริง แต่มีการเฉลิมฉลองให้แก่ผู้หญิงในวันเด็กผู้หญิงแทน ซึ่งเป็นวันก่อนหน้าวันสตรีสากลที่ทั่วโลกกล่าวถึง

วันเด็กผู้หญิง หรือในภาษาจีนที่เรียกว่า Nusheng Jie 女生节 (อ่านว่า นู๋เซิงเจี๋ย) แนวคิดของคำว่า นู๋เซิง หมายถึง เด็กนักเรียนผู้หญิงในภาษาจีน และคำที่หมายถึงผู้หญิง คือ 服女 (อ่านว่า ฟู่นู๋) ซึ่งมีความหมายในเชิงที่กล่าวถึงผู้หญิงที่มีอายุ หรือผู้หญิงที่แต่งงานแล้ว

วันเด็กผู้หญิง หรือ Girls'Day เกิดขึ้นครั้งแรกในมหาวิทยาลัยชานตง มณฑลชานตง เมื่อปี ค.ศ.1986 ซึ่งจุดเริ่มต้นจากการต้องการเฉลิมฉลองที่แตกต่างจากวันผู้หญิงสากล นักเรียนกลุ่มนี้กล่าวว่า นิยามของวันสตรีสากลนั้นไม่สอดคล้องกับวัฒนธรรมของจีน เป็นเรื่องเสื่อมเสียที่มีการนับเอาผู้หญิงที่แต่งงานและและผู้หญิงที่มีอายุมาก มาเป็นส่วนหนึ่งในการเฉลิมฉลองวันสตรีด้วย ซึ่งแตกต่างจากวันสตรีสากลที่เป็นการเฉลิมฉลองให้แก่สตรีทั่วโลกที่ประสบความสำเร็จในด้านเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรมและการเมืองโดยไม่แบ่งอายุและสถานะทางครอบครัวและสังคม นอกจากนี้วันเด็กผู้หญิงยังจะเป็นการแสดงออกของพวกผู้ชายต่อผู้หญิงที่ตนชื่นชอบด้วย

วันเด็กผู้หญิงในจีนเป็นการแสดงอำนาจของผู้ชายมากกว่าการยกย่องผู้หญิง

การเฉลิมฉลองวันเด็กผู้หญิงในจีนตามธรรมเนียมเดิมนั้น เพื่อนร่วมชั้นที่เป็นผู้ชายจะเขียนป้ายสีแดงและร้องเพลงเพื่อเป็นการฉลองให้แก่เพื่อนร่วมชั้นที่เป็นผู้หญิง ทั้งนี้ถ้าเดินไปรอบๆ มหาวิทยาลัยในวันที่ 7 มีนาคมซึ่งเป็นวันที่มีการเฉลิมฉลองกันจะพบว่า จะมีป้ายผ้ารวมไปถึงคำขวัญต่างๆมที่กล่าวถึงผู้หญิงในฐานะเป็นคนที่แข็งแกร่งและอ่อนหวาน แต่อย่างไรก็ตามข้อความในป้ายส่วนใหญ่ก็ยังกล่าวว่าถึงการที่ผู้หญิงยังต้องได้รับการปกป้องดูแลจากผู้ชาย

แม้ว่าวันเด็กผู้หญิงสากลจะเป็นวันที่ผู้ชายหันมาเฉลิมฉลองให้แก่เด็กผู้หญิง แต่ข้อความที่ปรากฎบนป้ายผ้า หรือการกระทำต่างๆที่เหล่านักเรียนหรือเยาวชนแสดงออกมานั้น ต่างยังแสดงถึงความเหลื่อมล้ำระหว่างเพศอยู่มาก

นักรณรงค์สิทธิสตรีในจีน หลายกลุ่มต่างเห็นว่า วันเด็กผู้หญิงในจีนเป็นการแสดงอำนาจของผู้ชายมากกว่าการยกย่องผู้หญิงอย่างแท้จริง

ในปี 2016 กลุ่มนักเคลื่อนไหวสิทธิสตรีในจีนออกแคมเปญต่อต้านวันเด็กผู้หญิงและให้สังคมจีนหันกลับมาเฉลิมฉลองในวันสตรีสากลที่ทั่วโลกฉลองในวันที่ 8 มีนาคมแทน ทั้งนี้เพื่อเรียกร้องให้ผู้หญิงจีนหันมาสนใจในเรื่องความเท่าเทียมทางเพศที่แท้จริง

ลู่ ม่านม่าน บรรณาธิการของกลุ่มเคลื่อนไหวสตรีของปักกิ่งกล่าวว่า เธอปฏิเสธที่จะเฉลิมฉลองวันเด็กผู้หญิงนี้ เนื่องจากมันเป็นการกีดกันผู้หญิงที่แต่งงานแล้ว และผู้หญิงที่มีอายุมากออกไปจากการเฉลิมฉลอง เพราะว่าในวัฒนธรรมจีนยังมีความเชื่อในเรื่องของอายุเป็นสำคัญ รวมไปถึงผู้หญิงที่แต่งงานและมีลูกแล้วจะถูกกีดกันออกจากความเป็นผู้หญิง

'ถ้ากล่าวว่าผู้หญิง คือ เด็กผู้หญิง ดังนั้นแล้ว สังคมจีนกำลังจะบอกว่าผู้หญิง ควรจะต้องเป็นเด็กตลอดไปใช่หรือไม่ และจะถูกเอาใจประคบประหงมจากสังคมรอบข้าง แทนที่ผู้หญิงจะได้เติบโตอย่างเป็นอิสระและแข็งแกร่งด้วยตนเอง'

สถานการณ์การเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิผู้หญิงในสังคมจีน

ท่ามกลางกระแส MeToo ที่ลุกลามไปทั่วโลก ในสังคมจีนเองกระแสนี้ก็ได้รับการตอบรับจากกลุ่มนักเคลื่อนไหวสตรีในจีนเช่นกัน เริ่มจากการเปิดเผยของ ลัว เฉียนเฉียนในช่วงต้นปี 2018 ที่ผ่านมา ว่าเธอเคยถูกอาจารย์ที่ปรึกษาล่วงละเมิดทางเพศในช่วงที่เธอเป็นนักศึกษาปริญญาเอกที่มหาวิทยาลัยเป่ยหาง ในปักกิ่ง และกระแสดังกล่าวได้ลุลามไปในสังคมออนไลน์ของจีนอย่างเว่ยป๋อ อย่างรวดเร็วในช่วงครึ่งเดือนแรกของเดือนมกราคม 2018 อย่างไรก็ตามกระแสดังกล่าวดูจะเงีย��หายไปอย่างรวดเร็วเช่นกัน

ตามรายงานของเซาท์ไชน่ามอร์นิ่งโพสต์ กล่าวว่า แฮชแทค #MeToo在中国 หรือ #我也是 ในภาษาจีน รวมไปถึง แฮชแทคอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับการต่อต้านการล่วงละเมิดทางเพศนั้นถูกปิดกั้นและถูกบล็อกโดยรัฐบาลจีน รวมไปถึงมีการลบข้อความที่โพสตืและติดแฮชแทคเหล่านี้ด้วยเช่นกัน แต่ทั้งนี้ผู้ใช้งานในสังคมออนไลน์ของจีนได้หาคำอื่นมาแทนที่แฮชแทคที่ถูกปิดกั้นไป เช่น การใช้คำว่า #米兔(mitu) ที่อ่านว่า หมี่ทู่ ซึ่งพ้องเสียงกับคำว่า Metoo ในภาษาอังกฤษ หรือแฮชแทค #RiceBunny ซึ่งเป็นความหมายของคำว่า米兔ในภาษาจีนแทน

อย่างไรก็ตามกระแสของ MeToo ในจีนยังเคลื่อนไหวอยู่ในสังคมแคบๆ เท่านั้นอย่างสังคมมหาวิทยาลัย แต่ในสังคมการทำงานยังไม่ได้มีการกล่าวถึงหรือการเคลื่อนไหวในเรื่องดังกล่าวมากนัก