หลังจากที่การประชุมของกรมการเมืองพรรคคอมมิวนิสต์จีนได้มีมติเสนอการแก้ไขวาระการดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีและรองประธานาธิบดีเมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา ทำให้หลายฝ่ายคาดการณ์ว่า การขยายเวลาการดำรงตำแหน่งนี้จะทำให้ประธานาบดีสีจิ้นผิงสามารถอยู่ในตำแหน่งดังกล่าวต่อไปจนถึงปี 2030
ปัจจุบันตำแหน่งประธานาธิบดีและรองประธานาธิบดีของจีนมีวาระครั้งละ 5 ปี จากการเลือกของที่ประชุมสมัชชาใหญ่สภาประชาชนพรรคคอมมิวนิสต์ และสามารถดำรงวาระสูงสุดได้ไม่เกิน 2 สมัย หรือ 10 ปี และสำหรับการดำรงตำแหน่งของสีจิ้นผิงจะหมดวาระลงในปี 2022 ซึ่งเป็นวาระสมัยที่ 2 ที่ได้รับเลือกขึ้นมาดำรงตำแหน่งนี้
เรื่องดังกล่าวผู้เชี่ยวชาญและสื่อต่างแสดงความเห็นที่ทั้งเห็นด้วยและไม่เห็นด้วยต่อการขยายวาระการดำรงตำแหน่งของสีจิ้นผิงออกไป ‘เติ้งอวี๋เหวิน’ อดีตบรรณาธิการของหนังสือพิมพ์การศึกษาของพรรคคอมมิวนิสต์กล่าวว่า “นี่เป็นการส่งสัญญาณที่ชัดเจนที่จะขยายการดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีออกไปอย่างไม่จำกัด”
ขณะที่ ‘แคร์รี่ บราวน์’ ผู้อำนวยการสถาบันจีนศึกษา วิทยาลัยคิงส์คอลเลจ ลอนดอน กล่าวว่า “ถ้าการพัฒนาประชาธิปไตยแบบตะวันตกได้หาวิธีการที่จะรักษาความเป็นประชาธิปไตยและให้ความยุติธรรมแก่พรรคการเมืองต่างๆ แล้ว การเมืองแบบจีน วิธีขยายวาระการดำรงตำแหน่งก็อาจเป็นวิธีการหนึ่งที่รักษาความมั่งคงและการลดความเสี่ยงในการบริหารประเทศของจีนเช่นกัน ซึ่งปัจจุบันสีจิ้นผิงเป็นเสมือนสัญลักษณ์ของอำนาจทั้งหมดในจีน”
พวกเราเห็นการกลับมาของยุคสมัยของเหมาเจ๋อตุง ผู้ซึ่งเป็นทุกอย่างที่สามารถตัดสินในทุกเรื่องแทนคนหลายร้อยล้านคนได้ ซึ่งเป็นการทำลายหลักตรวจสอบและถ่วงดุล และเป็นอันตรายต่อตัวระบบเป็นอย่างมาก
ศาสตราจารย์ด้านรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเหรินหมินในปักกิ่งกล่าวว่า “มันไม่สำคัญว่าสีจิ้นผิงจะเป็นประธานพรรค หรือเป็นเลขาธิการพรรค แต่สิ่งสำคัญคือเขาได้ครองอำนาจทั้งหมด และสถานะนี้สำหรับจีนไม่เหมือนกับในตะวันตก ที่นี้คุณ คือ จักรพรรดิ และตอนนี้ประชาชนได้ตัดสินว่า สีจิ้นผิง คือจักรพรรดิคนใหม่ของประเทศไปแล้ว”
ทั้งนี้ ผู้เชี่ยวชาญรวมถึงนักวิเคราะห์หลายคนออกมากล่าวว่า "การแก้กฎหมายการดำรงตำแหน่งในครั้งนี้ ไม่มีใครสามารถทำนายได้ว่าสีจิ้นผิงจะอยู่ในตำแหน่งอีกนานแค่ไหน หรืออาจจะอยู่ถึงปี 2049 ซึ่งจะเป็นปีที่ครบ 100 ปี ของการก่อตั้งสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนจีน และถ้าเป็นอย่างนั้น สีจิ้นผิงจะมีอายุ 96 ปี" จาง หลี่ฟาน นักวิเคราะห์การเมืองจีนกล่าว
ปัจจุบันสีจิ้นผิงดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีจีน ผู้นำสูงสุดของกองทัพจีน และเป็นคณะกรรมการชั้นสูงในกรมการเมืองของพรรคคอมมิวนิสต์ที่มีอำนาจในการตัดใจเชิงนโยบายและยุทธศาสตร์การบริหารประเทศ เรียกว่าทุกวันนี้ สีจิ้นผิงได้รวบอำนาจเบ็ดเสร็จ จนมีฉายาว่า “ผู้เป็นประธานของทุกอย่าง”
เมื่อการประชุมสมัชชาใหญ่ของพรรคคอมมิวนิสต์เมื่อเดือนตุลาคม 2016 ที่ผ่านมา ที่ประชุมได้มีมติให้บัญญัติแนวคิดของสีจิ้นผิง เรื่องบทบาทของสังคมนิยมสำหรับยุคใหม่ลงในรัฐธรรมนูญ ซึ่งการกระทำดังกล่าวเทียบเท่ากับเหมาเจ๋อตุง และเติ้งเสี่ยวผิง ที่แนวคิดของทั้ง 2 ได้บัญญัติลงในรัฐธรรมนูญเพื่อเป็นแม่แบบในการดำเนินประเทศของจีนตลอดมา
“พวกเราเห็นการกลับมาของยุคสมัยของเหมาเจ๋อตุง ผู้ซึ่งเป็นทุกอย่างที่สามารถตัดสินในทุกเรื่องแทนคนหลายร้อยล้านคนได้ ซึ่งเป็นการทำลายหลักตรวจสอบและถ่วงดุล และเป็นอันตรายต่อตัวระบบเป็นอย่างมาก เพราะถ้าสีจิ้นผิงเดินเกมหรือ นำประเทศผิดพลาด ก็ไม่มีใครสามารถตรวจสอบหรือสงสัยในตัวเขาได้” วิลลี่ เลม ศาสตราจารย์ด้านการเมืองแห่งมหาวิทยาลัยจีนฮ่องกง
สีจิ้นผิง เป็นประธานาธิบดีจีนคนแรกที่เกิดหลังปี 1949 ซึ่งเป็นปีที่พรรคคอมมิวนิสต์จีนปฏิวัติเปลี่ยนแปลงการปกครองเข้าสู่ระบอบสังคมนิยมเต็มตัว สีจิ้นผิงเริ่มทำงานให้แก่พรรคคอมมิวนิสต์หลังจากสำเร็จการศึกษาด้านเคมี จากมหาวิทยาลัยชิงหวา ในปี 1979 หลังจากนั้น ในปี 1998 สีได้ย้ายไปอยู่มณพลฝูเจี้ยน และได้เป็นผู้ปกครองมณฑลฝูเจี้ยนในปี 1999 หลังจากนั้นได้ไต่เต้าขึ้นมาเป็นประธานพรรคคอมมิวนิสต์ของมณฑลเจ้อเจียงในปี 2002 และเซี่ยงไฮ้ในปี 2007 และในปีเดียวกันนี้ สีจิ้นผิงได้รับการแต่งตั้งให้เป็นคณะกรรมการประจำกรมการเมือง ซึ่งเป็นหน่วยการปกครองสูงสุดของพรรคคอมมิวนิสต์ ต่อมาในปี 2012 สี จิ้นผิงได้รับเลือกให้เป็นเลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์ เป็นประธานคณะกรรมการทหาร และสุดท้ายในปี 2013 ได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีของจีนต่อจากหูจิ่นเทา
ที่มา Reuters South China Morning Post
ข่าวที่เกี่ยวข้อง