เม็ดเงินวิจัยและพัฒนาของจีนในปี 2561 เพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 11.8 ขึ้นไปแตะตัวเลข 1.97 ล้านล้านหยวน หรือประมาณ 8.4 ล้านล้าน นับเป็นการเติบโตในระดับ 2 หน่วย ติดต่อกันเป็นปีที่ 3
รายงานจากสถาบันสถิติแห่งชาติ กระทรวงการคลัง และกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของจีน ชี้ให้เห็นว่า ภาคธุรกิจเป็นผู้สนับสนุนหลักให้เกิดเม็ดเงินวิจัยและพัฒนานี้ ตามมาด้วยเม็ดเงินจากรัฐบาล และฝั่งมหาวิทยาลัยต่างๆ
ยังโตไม่เพียงพอ
แม้ตัวเลขเม็ดเงินที่ใช้ไปกับวิจัยและพัฒนาดูจะมีจำนวนมหาศาล แต่เมื่อนำเม็ดเงินดังกล่าวไปเทียบกับสัดส่วนผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ หรือ จีดีพี เม็ดเงินในการวิจัยและพัฒนา หรือที่ถูกเรียกว่า "ตัวเร่ง" กลับเติบโตเพียงไม่กี่จุดเท่านั้น จากร้อยละ 2.15 ในปี 2560 เป็น ร้อยละ 2.19 ในปี 2562
ส่วนหนึ่งที่ทำให้สัดส่วน "ตัวเร่ง" ไม่เติบโตสูงมาก มาจากภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัว โดยเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา รัฐบาลจีนออกมาตั้งเป้าตัวเลขการเติบโตของสัดส่วน "ตัวเร่ง" เมือเทียยบกับจีดีพี ในปี 2562 ให้ขึ้นมาอยู่ที่ร้อยละ 2.5 เพื่อให้เกิดความสอดคล้องกับแผนการพัฒนาประเทศที่จะพึ่งพิงอุตสาหกรรมการผลิตและอุตสาหกรรมหนักให้น้อย และหันไปเพิ่มสัดส่วนอุตสาหกรรมเทคโนโลยีขั้นสูง ตามแผน "สร้างในจีน 2025"
'ลี่ ยิน' นักคณิตศาสตร์ประกันภัยประจำสถาบันสถิติแห่งชาติ กล่าวว่า แม้ตัวเลขเม็ดเงินที่จีนทุ่มให้กับการวิจัยและพัฒนาจะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วงหลายปีที่ผ่านมา แต่ยังไม่มีงานวิจัยใดที่ค้นพบ "สิ่งยิ่งใหญ่" ที่จะช่วยให้ประเทศประสบความสำเร็จกับเป้าหมายเทคโนโลยี
"จะไปให้ถึงตรงนั้น จีนต้องเพิ่มเงินสนับสนุนและนโยบายที่เอื้อต่อการลงทุน" ลี่ ยิน กล่าว
ขณะที่รายงานจากฝั่งกลุ่มประเทศเศรษฐกิจพัฒนาแล้ว (OECD) ชี้ให้เห็นว่า แม้ตัวเลขเม็ดเงินการวิจัยและพัฒนาของจีนจะเป็นอันดับที่ 2 ของโลก ในปี 2560 ตามหลังเพียงสหรัฐฯ แต่ด้วยเศรษฐกิจที่ชะลอตัว หากไปดูอัตราการเติบโตแต่ละปี จีนกลับมีการเติบโตน้อยที่สุดนับตั้งแต่ปี 2538
รายงานชี้ว่า หากเป็นไปตามเทรนด์ดังกล่าว "ในทศวรรษหน้าการวิจัยและพัฒนาขอจีนจะตามฝั่ง OEDC ไม่ทัน"
อ้างอิง; SCMP, Global Times