ไม่พบผลการค้นหา
'อุตตม' ย้ำเปลี่ยนผ่านเศรษฐกิจไทย หากไม่อยากถอยหลัง ต้องปรับตัว พึ่งเทคโนโลยี พัฒนากำลังคน ฟากอดีตบิ๊กเอสซีจี 'กานต์ ตระกูลฮุน' ชี้เอกชนไทยต้องลงทุน R&D - แนะรัฐเพิ่มงบลงทุนวิจัยพัฒนาอีก 1 แสนล้าน ระยะยาว 3 ปี ยกระดับเทคโนโลยีภาครัฐ

นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวปาฐกถาพิเศษในงานสัมมนาเรื่อง 'Transform เศรษฐกิจไทย ก้าวไกลสู่อนาคต' ณ ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ซึ่งจัดโดยหนังสือพิมพ์มติชนว่า การเลือกตั้งที่มีขึ้นทุกคนต่างมองไปข้างหน้าว่าประเทศไทยจะเดินไปอย่างไร ซึ่งการที่ประเทศไทยจะ Transform ได้ต้องอาศัยพลังจากทุกภาคส่วน ทุกช่วงอายุ เพื่ออนาคตของประเทศ เชื่อว่าทุกคนอยากเห็นประเทศปรับเปลี่ยน 

อีกทั้ง ตอนนี้กระบวนการปรับเปลี่ยนเริ่มแล้ว การเดินหน้า 5G ก็เริ่มแล้ว สถานการณ์เศรษฐกิจมีความสำคัญ เพื่อให้สามารถแข่งขัน ค้าขายกับประเทศอื่นได้ เพราะฉะนั้น Transform เพื่อยกระดับ ถ้าเราเปลี่ยนได้เราก็ไปต่อได้ ถ้าเราย่ำอยู่ที่เดิมคนอื่นจะแซง และเราจะถอยหลัง ซึ่งตอนนี้ไทยมีความพร้อมทั้งทางเศรษฐกิจและการเดินไปข้างหน้า มีการกระจายความมั่งคั่งเศรษฐกิจ และมีการใช้เทคโนโลยีให้เกิดประโยชน์สูงสุด

ตอนนี้ไทยมีความโดดเด่นในเวทีโลก เพราะเมื่อเร็วๆ นี้ตนมีโอกาสขึ้นเวทีประชุมอาเซียนด้านโครงสร้างพื้นฐานที่สิงคโปร์ ได้ฉายภาพการ Transform ของไทย และได้คุยกับทูตหลายประเทศ ได้หารือถึงแนวทางการเดินหน้าของไทย หรือกรณีสหภาพยุโรป (อียู) ก็จับตาไทยอยู่ ว่าจะมีการเปลี่ยนผ่านหรือ Transform อย่างไร ซึ่งจะเป็นโอกาสของไทย และต้องดูว่าไทยจะสร้างหุ้นส่วนกับประเทศภูมิภาคต่างๆ อย่างไร ซึ่งในการทำธุรกิจนั้น คนรุ่นใหม่สามารถเข้ามาคุยกันและสร้างสิ่งใหม่ๆ ได้ ซึ่งไทยมีโอกาสแล้ว ต้องก้าวไปไม่ควรนิ่งหรือถอยหลัง

ทั้งนี้ ไทยแลนด์ 4.0 ต้องก้าวไปข้างหน้า มีสังคมไทยที่ตื่นรู้ คนไทยต้องชัดเจน จะเตรียมคน การศึกษาอย่างไรให้พร้อมกับศตวรรรษที่ 21 ขณะที่เศรษฐกิจต้องมีโครงสร้างในการขับเคลื่อน ภาพใหญ่ที่กำลังเกิดขึ้นคือเทคโนโลยี การเปลี่ยนขั้วของการเมืองโลก ซึ่งไทยควรมีเศรษฐกิจที่เสริมความแข็งแกร่ง จากโครงสร้างเดิมที่ใช้การส่งออกเป็นหัวใจหลัก

จากนี้เราต้องสร้างความเข้มแข็งในประเทศ ควรดูว่าเราจะผลิตสินค้าอะไร และเมื่อเศรษฐกิจเราดี จะเดินหน้าแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำ ให้คนไทยเข้าถึงโอกาสได้จริงๆ ซึ่งเศรษฐกิจไทยจะต้องไม่รับจ้างผลิต แต่เป็นเศรษฐกิจที่สามารถผลิตสินค้าของเราเอง ตอบโจทย์ได้ 

อย่างไรก็ตาม อย่าคิดว่าจะออกไปจากภาคเกษตรเพื่อเข้าสู่อุตสาหกรรมและบริการ กลับกันควรใช้จุดเด่นภาคเกษตรของไทยเข้าไปต่อยอด ใช้เทคโนโลยีผสมผสานอย่างลงตัว ยกระดับภาคเกษตรไทย แก้ปัญหาความยากจน ยกระดับขีดความสามารถและไม่ยอมแพ้ธรรมชาติ โดยวันนี้มีแนวทาง มีเทคโนโลยี ลดทอนผลกระทบจากธรรมชาตินั้น นอกจากนี้ต้องยกระดับตลาด การผลิต การเพิ่มมูลค่า และถอยมาต้นทางว่าจะเพาะปลูกอย่างไร

อีกตัวอย่างที่รัฐบาลกำลังสนับสนุนให้เห็นภาพชัดเจนคือ การสนับสนุนอุตสาหกรรมไบโอชีวภาพ โดยนำเกษตรต้นทางไปสู่สินค้าคุณภาพสูง เพราะไทยมีวัตถุดิบพร้อม หลายประเทศแสดงความสนใจเข้ามาลงทุน เพราะไทยมีความพร้อมเรื่องพื้นที่ คน วัตถุดิบทางการเกษตร ดังนั้นไทยต้องเตรียมพร้อม อีกภาคที่สำคัญคือการผลิต เราจะใช้เทคโนโลยีเข้าช่วยอย่างไร เรามีวิทยากรที่พร้อมจะช่วยเหลือหากไทยมีเป้าหมาย แผนชัดเจน ทั้งนี้หากไทยไม่เน้นเทคโนโลยีและยกระดับของเก่า สร้างสรรค์สิ่งใหม่ ไทยจะสู้ประเทศอื่นไม่ได้ จะทำให้เศรษฐกิจไทยอ่อนกำลังลง

เตรียมคนให้พร้อม สร้างสตาร์ทอัพ-ยกระดับเอสเอ็มอี 5 ล้านราย

นอกจากนี้ ในด้านกำลังคน มี 2 เรื่องสำคัญคือ เราต้องเติมเต็มศักยภาพของคนไทย และเตรียมความพร้อมในการเข้าสู่เศรษฐกิจ 4.0 โดยกลุ่มที่ไทยต้องสนับสนันคือ ผู้ประกอบการรุ่นใหม่ หรือ Startup ซึ่งกลุ่มนี้อาจไม่ใช่เด็กรุ่นใหม่ แต่อาจหมายถึงกลุ่มคนที่มีประสบการณ์แล้วออกจากงานมาทำอะไรใหม่ สำหรับผม Startup ไม่ใช่แค่ผู้ประกอบการที่ใช้เทคโนโลยีหรือเรื่องใดเรื่องหนึ่ง แต่หมายถึงการเริ่มสิ่งใหม่ๆ ในทุกด้านและทุกกลุ่มอายุ อาจมีการนำ 5G มาใช้ประโยชน์สูงสุด 

อีกกลุ่มคือผู้ประกอบการรายย่อยทุกคน (เอสเอสเอ็มอี และเอสเอ็มอี) ทั่วประเทศ 5 ล้านราย แต่มีตัวตนลงทะเบียนเพียง 6 แสนราย คำถามคือเอสเอ็มอีไทยพร้อมหรือไม่ เรื่องนี้รัฐบาลต้องสนับสนุน อย่างปัจจุบันกระทรวงการคลังมีการสนับสนุนเอสเอ็มอีให้ทำบัญชีเดียว เพื่อให้เข้าถึงสินเชื่อ

ทางกระทรวงอุตสาหกรรม มีการจัดตั้งศูนย์ปฏิรูปอุตสาหกรรม (ไอทีซี) มีเทคโนโลยีให้เอสเอ็มอีได้ทดลองใช้งานฟรี เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการที่ต้องการต่อยอดการผลิต อีกกลุ่มคือผู้ประกอบการที่ล้มและต้องการก้าวต่อไป ดังนั้นเทคโนโลยีและคนจึงเป็นปัจจัยสำคัญ ขณะเดียวกันการลงทุนก็มีส่วนในการช่วยผลักดันไทยแลนด์ 4.0 โดยเฉพาะโครงสร้างพื้นฐาน อาทิ รถไฟขนทั้งคนและสินค้าต่างๆ ถนนเส้นต่างๆ ซึ่งไทยมีการลงทุนเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ถือเป็นแรงกระตุ้นสำคัญ ที่ไม่เจาะจงแค่ 3 จังหวัดในภาคตะวันออก และมุ่งลงทุนในทุกภาค ทั้งการศึกษา สาธารณสุข ไม่ได้มุ่งแต่อุตสาหกรรม ซึ่งผมเพิ่งเดินทางไปจังหวัดนครสวรรค์ มีวัตถุดิบสำคัญทั้งอ้อยและน้ำตาล ภาคอีสานอย่าง จังหวัดขอนแก่นก็มีวัตถุดิบ

"ถึงเวลาแล้วที่ไทยควรเดินหน้า เพราะปีหน้าไทยจะเป็นประธานการประชุมอาเซียน นโยบายต้องยึดโยงกับประเทศต่างๆ ในภูมิภาค สุดท้ายประเทศไทยต้องเชื่อมโยงกันทุกภาคส่วน ไม่ว่าจะการเมือง เศรษฐกิจ สังคม การศึกษา เพื่อผลักดันประเทศไทยไปสู่ไทยแลนด์ 4.0 เป็นการ Transform ครั้งสำคัญ" นายอุตตมกล่าว

ไม่มีนักลงทุนคนใดอยากอยู่ในดินแดนที่ไม่สงบสุข

นายกานต์ ตระกูลฮุน กรรมการ บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) หรือ เอสซีจี ประธานกรรมการ บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือเอไอเอส กล่าวบนเวทีเดียวกันว่า การ Transform ประเทศไทย ผู้ประกอบการต้องปรับตัว ต้องลงทุนด้านเทคโนโลยีขั้นสูง (Deep Tech) ต้องลงทุนวิจัยและพัฒนา (R&D) โดยเอกชนไม่ต้องทำ แต่ควรทำ���ับสถาบันภายนอก ซึ่งเอสซีจีเข้าไปทำส่วนนี้ร่วมมือกับหลายสถาบันพบว่าสำเร็จด้วยดี ขณะที่องค์กรระดับเอสเอ็มอีควรร่วมมือกับมหาวิทยาลัย อีกส่วนเอกชนควรรีบดำเนินการคือ การลงทุนด้านดิจิทัลทรานฟอร์เมชั่น ต้องนำมาปรับใช้ เพราะเทคโนโลยีเปลี่ยนแปลงเร็วต้องปรับตัวให้ทัน 

"ผมมีโอกาสไปเจอสตาร์ทอัพต่างประเทศที่ทำด้านความปลอดภัยทางไซเบอร์ เพื่อป้องกันแฮกเกอร์ ซึ่งขบวนการแฮกเกอร์มีทั่วไป อาทิ การเข้ารหัสเพื่อใช้อินเตอร์เน็ตในสนามบินต้องระวัง และตอนนี้มีสตาร์ตอัพที่ทำระบป้องกันส่วนนี้"นายกานต์กล่าว

นายกานต์กล่าวว่า ขณะนี้ภาครัฐของไทยมีข้อจำกัดด้านกฎหมาย ซึ่งตนได้เข้าไปอยู่ในคณะทำงานแก้ไขกฎหมายด้วย โดยพบว่าจาก 201 หน่วยงานภาครัฐมีกฎระเบียบต่างๆ หน่วยงานยังทำงานกระจัดกระจาย และรัฐมีขั้นตอนการขออนุญาตจำนวนมาก ปัจจุบันมีการปรับลดขั้นตอน อย่างองค์การอาหารและยา (อย.) มีคำขอค้าง 30,000 ฉบับ ซึ่งเร็วๆ นี้จะการปรับปรุงให้การอนุญาตรวดเร็วขึ้น และเรื่อง ease of doing business หรือการอำนวยความสะดวกนักลงทุนในการประกอบธุรกิจในประเทศ ซึ่งรัฐบาลกำลังแก้ไขเพื่อให้กฎหมายและการทำงานของหน่วยงานรัฐเชื่อมโยงต่อกัน 

อย่างไรก็ดี ล่าสุดคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้อนุมัติกระทรวงใหม่ คือ กระทรวงการอุดมศึกษาการวิจัยและนวัตกรรม จะมีการจัดสรรงบประมาณ เชื่อว่าจะทำให้การลงทุนด้านการวิจัยของประเทศเพิ่มขึ้น ปีนี้รัฐบาลลงทุน 1.4 แสนล้านบาท แต่ภายปี 2564 รัฐตั้งเป้าลงทุน 2 แสนล้านกว่าล้าน จึงอยากเสนอให้รัฐบาลลงทุนด้านเทคโนโลยีอีกประมาณ 100,000 ล้านบาท ในช่วง 3 ปี เพื่อสร้างศักยภาพในการทำงานของหน่วยงานรัฐ ซึ่งมั่นใจจะทำให้ไทยก้าวล้ำขึ้นมาแน่นอน ส่วนปัจจัยด้านผู้สูงวัยของไทยในอนาคตไม่ใช่อุปสรรค สามารถเรียนรู้จากเทคโนโลยีได้

"อยากย้ำรัฐบาลว่าขอให้สนับสนุนเรื่องวิจัยและพัฒนา ด้านดิจิทัลทรานฟอร์เมชั่น สนับสนุนสตาร์ทอัพ แต่ขณะเดียวกันรัฐบาล ตลอดจนภาคประชาสังคม ภาคของสื่อ อยากให้ช่วยกันประคองสถานการณ์ ในช่วงที่สถานการณ์การเมืองของไทยกำลังเปลี่ยนผ่าน เชื่อว่าเราจะผ่านไปได้ เรามีการลงทุนเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ที่นักลงทุนสนใจ แต่หลักใหญ่ที่จะสร้างความเชื่อมั่นจริงๆ คือการเมืองที่สงบ เพราะไม่มีนักลงทุนคนไหนอยากอยู่ในดินแดนไม่สงบสงบสุข"นายกานต์ กล่าว