ไม่พบผลการค้นหา
กลุ่มอนุรักษ์ลำน้ำเซบายและเครือข่ายอนุรักษ์ลำน้ำเซบาย จ.ยโสธร ได้จัดเวทีสัมมนาวิชาการ “วิเคราะห์สถานการณ์โรงงานน้ำตาลและโรงไฟฟ้าชีวมวล” พร้อมอ่านคำประกาศให้ คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานยกเลิกการพิจารณาออกใบอนุญาตโรงไฟฟ้าชีวมวลอย่างเด็ดขาด

นายอุบล อยู่หว้า เครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือกภาคอีสาน กล่าวว่า ประเทศไทย เป็นประเทศที่มีความเหลื่อมล้ำเป็นอันดับสาม มาปีนี้เป็นอันดับที่ 1 ของโลก เพราะการพัฒนาแบบเปิดโอกาสให้นายทุนเข้ามายึดพื้นที่ ยึดทรัพยากร ที่ระยอง มี GDP สูงสุดในประเทศคนระยองรวยเหรอ แต่ก็ทำมันสำปะหลัง ทำเงาะ ที่นั่นมี ปตท. TPI ไปใช้ทรัพยากร แล้วเอาตัวเลขรายได้ที่มันเกิดขึ้น ไปหารต่อหัว แต่เม็ดเงินไม่ได้เกิดขึ้นแก่คนในระยองโดยตรง ปี 2525 เกิดพื้นที่อุตสาหกรรมใน จ. ขอนแก่น คนกระนวน คนน้ำพอง รวยกว่าคนน้ำปลีกและคนเชียงเพ็งใช่หรือไม่ เป็นที่แปลกใจว่าไม่มีสถาบันการศึกษาไหนที่มีงานวิจัยออกมาชัดเจน 

ขณะที่หอการค้าบางจังหวัดบอกว่ารายได้การปลูกอ้อยมากกว่าการปลูกข้าว แต่ไม่มีงานวิจัย ว่าการปลูกอ้อย แทบทุกขั้นตอน ไม่สามารถทำได้โดยแรงงานรายย่อย ทุกขั้นตอนต้องมีการจ้าง มีรถแทกเตอร์ รายได้ที่มีไม่ได้ตกอยู่ที่เกษตรกรทั้งหมด อ้อยเป็นเกษตรพันธะสัญญา มีกฏหมายกำกับดูแล ขนาดมีกฏหมายกำกับ แต่เกษตรกรก็ยังไม่ได้รับความเป็นธรรม

แม้จะมีสมาคมชาวไร่อ้อยจะไปเปิดลานรับซื้อแล้วเอาอ้อยส่งโรงงาน พื้นที่ในน้ำปลีก เชียงเพ็งมีความอุดมสมบูรณ์ การพัฒนาแบบนี้เป็นการพัฒนาแบบน้ำไหลลง มันยิ่งสร้างความร่ำรวยให้คนจำนวนน้อย สามารถส่งเสริมการทำน้ำตาลเป็นอุตสาหกรรมครัวเรือน การพัฒนาแบบนี้การกระจายรายได้จะเกิดขึ้นกับคนเล็กคนน้อย ไม่ใช่การสร้างรายได้ให้คนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง

S__28336147.jpg


ด้านนายสิริศักดิ์ สะดวก ที่ปรึกษากลุ่มอนุรักษ์ลำน้ำเซบาย กล่าวว่า เนื่องจากสถานการณ์คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) จะมีการพิจารณาใบอนุญาตก่อสร้างโรงไฟฟ้าชีวมวลขนาด 61 เมกะวัตต์ โดยใช้อีไอเอประกอบการพิจารณานั้นสะท้อนถึงกระบวนการที่ไม่ชอบธรรม ที่ชาวบ้านในพื้นที่รัศมี 5 กม. ไม่ยอมรับ ซึ่งมีประเด็นข้อกังวลดังนี้

1.พื้นที่ตั้งอยู่ใกล้ชุมชน 2.จะเกิดการแย่งชิงทรัพยากรน้ำในลำเซบาย 3.ชุมชนไม่ได้มีส่วนร่วมตั้งแต่เริ่มต้น 4.ก่อให้เกิดความขัดแย้งรุนแรงต่อกลุ่มที่คัดค้านและสนับสนุน โดยเฉพาะในสถานการณ์ความขัดแย้งที่เกิดในหลายพื้นที่ อย่างเช่นเมื่อวันที่ 4 มกราคม 62 ที่มีสถานการณ์ความขัดแย้งอีกระรอกหนึ่ง ที่ทำให้ชาวบ้านตื่นตระหนกตกใจกับการกระทำของกลุ่มทุน มากกว่าสำนึกที่ชุมชนกำลังปกป้องสิทธิชุมชน ปกป้องบ้านเกิด ปกป้องทรัพยากร  

จากข้อมูลผลการศึกษาข้อเท็จจริง ประเด็นการมีส่วนร่วมของประชาชนในพื้นที่ในรัศมี 5 กิโลเมตร จากกรณีการศึกษาโครงการโรงไฟฟ้าชีวมวล จำนวน 5 หมู่บ้าน ของตำบลเชียงเพ็ง อำเภอป่าติ้ว จังหวัดยโสธร จำนวน 559 ครัวเรือน จากครัวเรือนทั้งหมด 838 ครัวเรือน พบว่า กลุ่มเป้าหมายเกินกว่าร้อยละ 90 ไม่ได้มีส่วนร่วมในการรับรู้การประชาสัมพันธ์โครงการฯ ไม่มีส่วนร่วมในการร่วมรับฟังความคิดเห็นในการดำเนินงานก่อสร้างโรงงานฯ และประชาชนกลุ่มเป้าหมายเกินกว่าร้อยละ 90 ไม่เห็นด้วยกับการก่อสร้างโรงไฟฟ้าชีวมวลในพื้นที่ 

ดังนั้นมองว่าข้อกังวลและสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในพื้นที่ กกพ. จะต้องยกเลิกการพิจารณาการออกใบอนุญาตโครงการโรงไฟฟ้าชีวมวล ต.น้ำปลีก อย่างเด็ดขาด เพื่อไม่ก่อให้เกิดความขัดแย้งเพิ่มมากขึ้นในวันข้างหน้า ซึ่งประเด็นข้างต้นนี้ช่วงที่ กกพ. จะลงมาดูพื้นที่และรับฟังข้อกังวลก็ควรที่จะนำไปพิจารณาในการยกเลิกโรงไฟฟ้าชีวมวลอย่างเด็ดขาด เพื่อแสดงความจริงใจของ กกพ. และรัฐบาล หากไม่ต้องการจะเห็นกระแสคัดค้านโครงการพัฒนาอุตสาหกรรมต่างๆ ในภาคอีสานที่จะถูกคัดค้านและลุกลามออกไปทั่วทั้งภาคอีสาน

ด้านนางสาวสุภาภรณ์ มาลัยลอย มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า ตอนนี้มีปัญหาว่าเมื่อมีโครงการโรงงานน้ำตาล ต้องมีการาสร้างโรงไฟฟ้าชีวมวลพ่วงเข้ามาด้วย กกพ. จะลงพื้นที่ นับว่าเป็นการลงพื้นที่ครั้งแรกของ กกพ. เนื่องจากพี่น้องไปวันนั้น ที่เป็นการปฏิบัติการใช้สิทธิของคนในพื้นที่ ในปัจจุบันการพิจารณารายงาน EIA คล้ายกับการอ่านวิทยานิพนธ์ ที่เป็นการตั้งสมมุติฐาน แล้วตั้งมาตรการมาแก้ไข แต่เรื่องสิ่งแวดล้อมล้อมมันใช้แบบนั้นได้เหรอ

ในรายงานระบุว่าต้องส่งเสริมพื้นที่การปลูกอ้อย 200,000 ไร่ เพื่อให้พอต่อการเป็นเชื้อเพลิงใน โรงไฟฟ้าชีวมวลที่ต้องการจำนวน 660,000 ตันอ้อย/ปี ซึ่งพื้นที่ส่งเสริมไม่สามารถระบุได้ว่าจะอยู่ตรงไหน และพื้นที่ตำบลน้ำปลีก ตำบลเชียงเพ็งไม่มีการปลูกอ้อย มาตรฐานที่ระบุใน EIA ว่าเมื่อมีปัญหาเรามีมาตรการแก้ไข แต่เมื่อโรงงานที่เกิดขึ้นแล้วยังมีปัญหาอยู่ เราจะมั่นใจได้อย่างไรว่ามาตรการที่กำหนดออกมาจะป้องกันได้ 1. การตัดสินใจร่วมของชุมชน 2. การกำกับของชุมชนระหว่างการประกอบกิจการ ไม่ชัดเจนว่าในเชิงมาตรการที่กำหนดในรายงานจะสามารถป้องกันผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมได้อย่างแท้จริง 

ดังนั้นปัญหาการใช้สิทธิและมีส่วนร่วมของประชาชน 1. การไม่มีส่วนร่วมในระดับตัดสินใจตั้งแต่ระดับนโยบาย ไม่สามารถใช้สิทธิในการกำหนดอนาคตตนเองของชุมชนได้ 2. ปัญหากระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนใน EIA เป็นเพียงการทำให้ครบตามกฎหมายแต่ไม่ใช่การมีส่วนร่วมอย่างแท้จริง 3. การเข้าไม่ถึงข้อมูลข่าวสาร แม้จะมีกฎหมายให้สิทธิแต่การเข้าถึงสิทธินั้นยากมาก ต้องนึกว่าถ้าเราไม่มีข้อมูลที่ตรงกัน เราจะโต้เถียงกันบนฐานข้อมูลเดียวกันอย่างไร กระบวนการรัฐที่ไม่ชี้แจงว่าการใช้สิทธิในเรื่องนี้มีขั้นตอนไหนอย่างไรบ้าง

4. การไม่เข้าใจในกลไกการใช้สิทธิของประชาชนในกระบวนการขั้นตามกฎหมาย หน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องไม่มีกระบวนการในการให้ความรู้เกี่ยวกับกลไกการใช้สิทธิแก่ประชาชนก่อนที่จะมีการพัฒนากิจกรรมหรือโครงการในพื้นที่ 5. การจำกัดสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น โดยใช้กฎหมาย พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ พ.ศ.2558 และคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 3/2558 การใช้สิทธิชุมนุม ที่มีการบล็อก ทั้งที่เรื่องที่ต้องการสื่อสารเป็นเรื่องของชุมชนไม่ใช่เรื่องของตัวแทนแต่อย่างไร