ไม่พบผลการค้นหา
กลุ่มอนุรักษ์ลำน้ำเซบาย อำนาจเจริญ ปล่อยป้ายบนสะพานลำน้ำเซบาย “ปกป้องลำน้ำเซบาย ไม่เอามลพิษ ไม่เอาโรงงานน้ำตาลและโรงไฟฟ้าชีวมวล” 5 ปี โรงงานในพื้นที่สร้างมลพิษ ด้านเสียงดัง ด้านกลิ่น ด้านการจารจร ด้านฝุ่น ด้านน้ำใต้ดินลดลงเร็วผิดปกติ เป็นต้น ถือได้ว่าเป็นการรบกวนวิถีชีวิตปกติสุขของชาวบ้านในพื้นที่ ขอรัฐบาลยกเลิกนโยบายการขยายโรงงานน้ำตาลและโรงไฟฟ้าชีวมวลภาคอีสาน

ยโสธร: วันนี้ 29 ม.ค. 2567 เมื่อเวลา 09.30 น. กลุ่มอนุรักษ์ลำน้ำเซบายเชียงเพ็ง ตำบลเชียงเพ็ง อำเภอป่าติ้ว จังหวัดยโสธร และบ้านน้ำปลีก ตำบลน้ำปลีก อำเภอเมืองอำนาจเจริญ จังหวัดอำนาจเจริญ ประมาณ 100 คน ได้จัดกิจกรรม “8 ปี ตุ้มโฮมคนลำเซบายไม่เอามลพิษ” ณ ศาลา SML หมู่ 1 บ้านเชียงเพ็ง ตำบลเชียงเพ็ง อำเภอป่าติ้ว จังหวัดยโสธร โดยมีเวทีแลกเปลี่ยน บทเรียนการเคลื่อนไหวคัดค้านโรงงานน้ำตาลและโรงไฟฟ้าชีวมวล ตลอดจนการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมชุมชน โดยมี ตัวแทนชาวบ้านของกลุ่มอนุรักษ์ลำน้ำเซบายตำบลเชียงเพ็งและตำบลน้ำปลีก นักพัฒนาเอกชนด้านสิ่งแวดล้อม คณะทำงานติดตามและตรวจสอบนโยบายการจัดตั้งโรงงานน้ำตาลในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม จากการแต่งตั้งของคณะกรรมาธิการการที่ดินทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมสภาผู้แทนราษฎร เข้าร่วมรับฟังปัญหาและข้อเสนอ ตลอดจนการให้ความเห็นด้วย หลังจากนั้นทางกลุ่มอนุรักษ์ลำน้ำเซบายได้ร่วมกันบวชป่าดอนมะหรี่ร่วมกัน ก่อนเดินทางไปแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ในการทิ้งป้ายขนาดใหญ่จุสะพานลำน้ำเซบายที่มีข้อความ “ปกป้องลำน้ำเซบาย ไม่เอามลพิษ โรงงานน้ำตาลและโรงไฟฟ้าชีวมวล” ก่อนอ่านคำประกาศมีข้อเสนอต่อรัฐบาล ยกเลิกนโยบายการขยายโรงงานน้ำตาลและโรงไฟฟ้าชีวมวล ภาคอีสาน

โรงงานน้ำตาลและโรงไฟฟ้าชีวมวล 404999409_716180443978832_7808001900531757927_n.jpg

มะลิจิตร เอกตาแสง กรรมการกลุ่มอนุรักษ์ลำน้ำเซบายเชียงเพ็ง กล่าวว่า เป็นเวลา 8 ปีแล้วที่กลุ่มอนุรักษ์ลำน้ำเซบายเชียงเพ็ง ยังรวมกลุ่มในการคัดค้านโรงงานน้ำตาลและโรงไฟฟ้าชีวมวลร่วมกัน ถึงแม้ว่าโรงงานน้ำตาลและโรงไฟฟ้าชีวมวลจะดำเนินการก่อสร้างเสร็จแล้วและดำเนินกิจการเป็นปีที่ 5 แล้วก็ตาม แต่ทางกลุ่มก็ยังติดตามและเฝ้าระวังผลกระทบทางด้านอากาศ ทางด้านน้ำในลำน้ำเซบาย และน้ำบาดาลใต้ดินที่ลดลงเร็วผิดปกติ เป็นต้น ในขณะการต่อสู้ที่ผ่านมาถือว่าทำให้ชาวบ้านในพื้นที่ได้เกิดสำนึก และตระหนักร่วมกันถึงการหวงแหนทรัพยากรดิน น้ำ ป่า ที่เราจะต้องร่วมกันปกป้อง เนื่องจากฐานทรัพยากรชุมชนคือความมั่นคงทางอาหาร ดิฉันอยากบอกว่าปัญหาที่เกิดขึ้นนั้นก็เพราะว่ารัฐไม่ฟังเสียงของชาวบ้านตั้งแต่เริ่มต้น และข้อเสนอของชาวบ้านว่าพื้นที่ไม่เหมาะสม เพราะอยู่ใกล้ชุมชน อยู่ใกล้กับลำน้ำเซบาย ที่ชาวบ้านได้ใช้ประโยชน์ร่วมกัน อย่างเช่นในวันนี้พี่น้องก็ร่วมกันบวชป่าดอนมะหรี่ เพื่อเป็นการต่อชะตาให้กับต้นไม้ทุกชนิดอีกด้วย แต่รัฐหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพอเกิดปัญหาผลกระทบในปัจจุบันก็ไม่เคยลงพื้นที่มาสอบถามปัญหากับบ้านเลย 

ประยูร โมริดา กรรมการกลุ่มอนุรักษ์ลำน้ำเซบายตำบลน้ำปลีก กล่าวว่า ปัจจุบันทางชาวบ้านในพื้นที่บ้านน้ำปลีก ตำบลน้ำปลีก อำเภอเมืองอำนาจเจริญ จังหวัดอำนาจเจริญ สัมผัสได้ถึงปัญหาที่เกิดขึ้นคือ กลิ่นเหม็น เสียงดัง ฝุ่นละออง การจราจรจากเศษอ้อยที่ตกหล่น เป็นต้น ซึ่งปัญหาที่กำลังเกิดขึ้นนั้นเราเคยอธิบายให้หน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องฟังก่อนที่จะมีการสร้างโรงงานน้ำตาลและโรงไฟฟ้าชีวมวลด้วยซ้ำไปแต่กลับไม่สนใจ และปัจจุบันทางชาวบ้านในพื้นที่ก็เริ่มสัมผัสถึงปัญหาและผลกระทบที่เกิดขึ้นแล้ว จึงอยากให้ชาวบ้านพี่น้องของเราได้รวมกลุ่มกันไว้และติดตามสถานการณ์ปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างใกล้ชิด เพราะช่วงนี้เป็นช่วงหีบอ้อย 

ด้านภานุพงศ์ ศรีธนานุวัฒน์ คณะทำงานติดตามและตรวจสอบนโยบายการจัดตั้งโรงงานน้ำตาลในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า นโยบายการขยายโรงงานน้ำตาลและโรงงานไฟฟ้าชีวมวลนั้น ขาดการมีส่วนร่วมของชุมชนอย่างแท้จริง เนื่องจากนโยบายเหล่านี้ไม่ได้เกิดจากความต้องการของคนในชุมชน อีกทั้งกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการทำรายงานวิเคราะห์ผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมหรือ eia ไม่ได้ให้สิทธิในการตัดสินใจต่อโครงการแต่อย่างใด แต่เป็นเพียงพิธีกรรมเพื่อสร้างความชอบธรรมให้กับโรงงานเพียงเท่านั้น ดังนั้นทั้งนโยบายการขยายโรงงานน้ำตาลและโรงไฟฟ้าชีวมวลในภาคอีสาน และกระบวนการการจัดทำรายงานeia จึงขาดการมีส่วนร่วมของประชาชนในพื้นที่อย่างแท้จริง

ด้านสิริศักดิ์ สะดวก คณะทำงานติดตามและตรวจสอบนโยบายการจัดตั้งโรงงานน้ำตาลในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า วันนี้ได้มาร่วมรับฟังปัญหาผลกระทบและข้อเสนอของพี่น้องกลุ่มอนุรักษ์ลำน้ำเซบายเชียงเพ็งและน้ำปลีก ซึ่งคณะทำงานติดตามและตรวจสอบนโยบายการจัดตั้งโรงงานน้ำตาลในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมมีหน้าที่และอำนาจพิจารณาการศึกษามาตรการด้านสิ่งแวดล้อมที่เหมาะสมและกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการจัดตั้งโรงงานน้ำตาลในปัจจุบัน ตลอดจนติดตามนโยบายของรัฐในการดำเนินการเกี่ยวกับอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาล สองพิจารณาตรวจสอบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับกระบวนการจัดตั้งโรงงานน้ำตาลในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ สามพิจารณาจัดทำข้อสังเกตและข้อเสนอแนะการแก้ไขปัญหาการจัดตั้งโรงงานน้ำตาลในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่ส่งผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม สี่ปฎิบัติหน้าที่อื่น ๆ ตามที่คณะกรรมาธิการหรือประธานคณะกรรมาธิการมอบหมาย จากการรับฟังการสะท้อนข้อมูลของชาวบ้านในพื้นที่เราพบว่ากระบวนการจัดตั้งโรงงานน้ำตาลและโรงไฟฟ้าชีวมวล มีปัญหาตั้งแต่การกำหนดนโยบายของรัฐบาลตามมติ ครม. ครม. ปี 2559 วันที่ 11 ตุลาคม 2559 เรื่อง แผนการปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทั้งระบบ และประกาศกฏกระทรวงอุตสาหกรรมเมื่อ 17 สิงหาคม 2558 เรื่องการให้ตั้งหรือขยายโรงงานน้ำตาลในทุกท้องที่ทั่วราชอาณาจักร พ.ศ. 2558 ซึ่งส่งผลให้พี่น้องต้องลุกขึ้นมาปกป้องทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ปกป้องชุมชน และคัดค้านโรงงานน้ำตาลและโรงไฟฟ้าชีวมวล ที่ส่งผลกระทบต่อชุมชน เช่น ด้านเสียงดัง ด้านกลิ่น ทั้งนี้หลังจากร่วมรับฟังและแลกเปลี่ยนข้อมูลจึงมีความเห็นว่าทางคณะทำงานติดตามและตรวจสอบนโยบายการจัดตั้งโรงงานน้ำตาลในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม จะรวบรวมข้อมูลและตรวจสอบกระบวนการจัดทำ EIA พร้อมกับดูข้อมูลมาตรการลดและแก้ไขผลกระทบว่าได้มีการป้องกันผลกระทบอย่างไรบ้าง โดยจะนำเสนอข้อมูลให้ประธานคณะกรรมาธิการการที่ดินทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมลงพื้นที่จัดเวทีเพื่อให้หน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมชี้แจงด้วย

เวลา 11.00 น. ทางกลุ่มชาวบ้านอนุรักษ์ลำน้ำเซบายเชียงเพ็งและน้ำปลีก พร้อมกับเครือข่ายชาวบ้านลุ่มน้ำชี จังหวัดยโสธร ได้ร่วมกันบวชป่าดอนมะหรี่ เพื่อต่ออายุของต้นไม้หลากหลายชนิด ให้ชุมชนร่วมกันอนุรักษ์ 

เวลา 11.30 น. ทางกลุ่มชาวบ้านอนุรักษ์ลำน้ำเซบายเชียงเพ็งและน้ำปลีก พร้อมกับเครือข่ายชาวบ้านลุ่มน้ำชี จังหวัดยโสธร ได้เคลื่อนขบวนไปยังสะพานลำน้ำเซบาย เชื่อมระหว่าง ตำบลเชียงเพ็ง อำเภอป่าติ้ว จังหวัดยโสธรและตำบลน้ำปลีก อำเภอเมืองอำนาจเจริญ จังหวัดอำนาจเจริญ ก่อนทิ้งป้ายขนาดใหญ่ที่มีข้อความ “ปกป้องลำน้ำเซบาย ไม่เมลพิษ โรงงานน้ำตาลและโรงไฟฟ้าชีวมวล” 

จากนั้นนวพร เนินทราย กรรมการประชาชนคัดค้านโรงงานน้ำตาลและโรงไฟฟ้าชีวมวลภาคอีสาน ได้อ่านคำประกาศมีเนื้อหาดังนี้ ยกเลิกนโยบายการขยายโรงงานน้ำตาลและโรงไฟฟ้าชีวมวล ภาคอีสาน

นับเป็นเวลา 8 ปี ที่กลุ่มอนุรักษ์ลำน้ำเซบายตำบลเชียงเพ็ง อำเภอป่าติ้ว จังหวัดยโสธร และบ้านน้ำปลีก ตำบลน้ำปลีก อำเภอเมืองอำนาจเจริญ จังหวัดอำนาจเจริญ ได้ยืนหยัดคัดค้านโรงงานน้ำตาลและโรงไฟฟ้าชีวมวล ที่ตั้งในพื้นที่ตำบลน้ำปลีก อำเภอเมือง จังหวัดอำนาจเจริญ เพื่อปกป้องฐานทรัพยากร ปกป้องวิถีชีวิต ปกป้องสิทธิชุมชน ตลอดจนการดูแลรักษาลำน้ำเซบายที่เป็นเส้นเลือดหลักเพื่อให้ชาวบ้านได้ใช้น้ำที่สะอาด ถึงแม้ว่าปัจจุบันโรงงานน้ำตาลและโรงไฟฟ้าชีมวลได้ดำเนินกิจการมาเป็นปีที่ 5 ซึ่งชุมชนรับรู้ได้ถึงมลพิษ ด้านเสียงดัง ด้านกลิ่น ด้านการจารจร ด้านฝุ่น ด้านน้ำใต้ดินลดลงเร็วผิดปกติ เป็นต้น ถือได้ว่าเป็นการรบกวนวิถีชีวิตปกติสุขของชาวบ้านในพื้นที่

จากกรณีกลุ่มอนุรักษ์ลำน้ำเซบายเชียงเพ็งและตำบลน้ำปลีก ได้ร่วมกันเคลื่อนไหวคัดค้านโรงงานน้ำตาลและโรงไฟฟ้าชีวมวลมาตั้งแต่ปี 2558 จนถึงปัจจุบัน ด้วยเหตุผลคือ หนึ่งเป็นการกำหนดนโยบายที่ชาวบ้านในพื้นที่ไม่มีส่วนร่วมตั้งแต่เริ่มแรก สองพื้นที่ตั้งโรงงานน้ำตาลและโรงไฟฟ้าชีวมวลไม่เหมาะสม เนื่องจากสภาพพื้นที่ไม่มีการปลูกอ้อย และชุมชนมีวิถีทำการเกษตรที่หลากหลายและสอดคล้องกับพื้นที่ สามกระบวนการรับฟังความคิดเห็นเป็นการจัดเวทีเสมือนพิธีกรรม สี่แม้จะมีมาตรการลดแก้ไขผลกระทบ ตามรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม EIA ก็ไม่สามารถที่จะดำเนินการได้จริง ห้ายิ่งจะก่อให้เกิดการแย่งชิงทรัพยากรชุมชนโดยเฉพาะลำน้ำเซบายที่ชุมชนได้ใช้ประโยชน์ร่วมกันกว่าสองร้อยกิโลเมตร หกจะก่อให้เกิดมลพิษระยะยาว เป็นต้น

ดังนั้นทางกลุ่มอนุรักษ์ลำน้ำเซบาย ตำบลเชียงเพ็งและตำบลน้ำปลีก จึงมีข้อเสนอต่อรัฐบาลดังนี้

1.ยกเลิกนโยบายการขยายโรงงานน้ำตาลและโรงไฟฟ้าชีวมวล ภาคอีสาน

2.ยกเลิกมติ ครม. ปี 2559 วันที่ 11 ตุลาคม 2559 เรื่อง แผนการปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทั้งระบบ ตลอดจนยกเลิกประกาศกฏกระทรวงอุตสาหกรรมเมื่อ 17 สิงหาคม 2558 เรื่องการให้ตั้งหรือขยายโรงงานน้ำตาลในทุกท้องที่ทั่วราชอาณาจักร พ.ศ. 2558

3.แก้ไข พรบ.สิ่งแวดล้อม 2535 ส่วนที่ 4 กระบวนการจัดทำรายงานวิเคราะห์ผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม EIA โดยให้ชาวบ้านในพื้นที่มีอำนาจในการกำหนดทิศทางการพัฒนาที่ใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืน และแก้ไขระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ๒๕๔๘

4.รัฐจะต้องศึกษาประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ (Strategic Environmental Assessment SEA) ก่อนการกำหนดนโยบายและแผนในการดำเนินขั้นตอนต่อไปผ่านการมีส่วนร่วมของประชาชนนั้น เพื่อทำให้ทุกคนได้เห็นศักยภาพของพื้นที่ที่แท้จริงว่าเหมาะสมที่จะมีโครงการขนาดใหญ่ในพื้นที่หรือไม่