ไม่พบผลการค้นหา
กลุ่มอนุรักษ์ลำน้ำเซบาย จี้ 'ผู้ว่าฯยโสธร' ประกาศเป็นพื้นที่ปลอดภัยด้านทรัพยากร อากาศและคุณภาพชีวิต หลังโรงงานน้ำตาลได้รับใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงาน ด้าน 'ผู้ว่าฯยโสธร' แจงจังหวัดไม่มีอำนาจในการประกาศ

บริเวณศาลากลางจังหวัดยโสธร กลุ่มอนุรักษ์ลำน้ำเซบาย ต.เชียงเพ็ง อ.ป่าติ้ว จ.ยโสธร เครือข่ายอนุรักษ์ลำน้ำเซบาย ต.น้ำปลีก อ.เมืองอำนาจเจริญ และเครือข่ายลุ่มน้ำชีตอนล่าง ประมาณ 200 คน เดินทางไปยังศาลากลางจังหวัดยโสธร เพื่อเรียกร้องให้ผู้ว่าราชการจังหวัดยโสธร ประกาศเป็นพื้นที่ปลอดภัยด้านดิน น้ำ อากาศและคุณภาพชีวิตใก้กับชุมชน ตามรัฐธรรมนูญที่ได้กำหนดไว้ หลังผู้ว่าราชการจังหวัดยโสธรลงมารับหนังสือชี้แจงว่าจังหวัดไม่มีอำนาจในการประกาศและจะยื่นเรื่องต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง 

ด้านนางมะลิจิตร เอกตาแสง อายุ 58 ปี กรรมการกลุ่มอนุรักษ์ลำน้ำเซบาย กล่าวว่า หลังจากโรงงานน้ำตาลขนาด 20,000 ตันอ้อย/วัน จะผ่านมติเห็นชอบจาก คชก.เมื่อ 14 มี.ค. 2561 และได้รับใบอนุญาตเมื่อวันที่ 18 พ.ค. 2561 ประกอบกิจการโรงงานจากกระทรวงอุตสาหกรรม และโรงไฟฟ้าชีวมวลขนาด 61 เมกะวัตต์ ของบริษัท มิตรผล ไบโอ-เพาเวอร์ (อำนาจเจริญ) จำกัด จะผ่านมติเห็นชอบจากคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เมื่อวันที่ 13 ก.พ. 2562 ที่ผ่านมา แต่กลุ่มอนุรักษ์ลำน้ำเซบาย ต.เชียงเพ็ง อ.ป่าติ้ว จ.ยโสธร ต่างตั้งคำถามถึงความไม่ชอบธรรมของกระบวนการดังกล่าวและมองว่าเป็นวงจรอุบาทว์ของกระบวนการอีไอเอ โรงงานน้ำตาลพ่วงโรงไฟฟ้าชีวมวล 

S__8200209.jpg

จึงมีการระดมความคิดเห็นในการผลักดันเรียกร้องให้รัฐประกาศเป็นพื้นที่ปลอดภัยด้านน้ำ ด้านอากาศ ด้านดิน ด้านคุณภาพชีวิต วันนี้ทางกลุ่มฯจึงเดินทางมายื่นหนังสือต่อผู้ว่าราชการจังหวัดยโสธร เพราะว่าอยากให้เป็นภูมิคุ้นกันให้กับชุมชนและทรัพยากร แต่หลังจากผู้ว่าราชการจังหวัดยโสธรมารับหนังสือและชี้แจงต่อหน้าชาวบ้านกลับบอกว่าไม่มีอำนาจตัดสินใจ การที่เราลุกขึ้นมาเรียกร้องก็เพราะว่าชุมมชนนั้นอยู่ในรัศมี 5กิโลเมตร ที่จะได้รับผลกระทบจากการดำเนินโครงการอุสาหกรรม และเรายังมีข้อกังวลใจในเรื่องคุณภาพชีวิตและสิ่งแวดล้อมที่จะเกิดขึ้น  

ด้านนายสิริศักดิ์ สะดวก อายุ 40 ปี ที่ปรึกษากลุ่มอนุรักษ์ลำน้ำเซบาย กล่าวว่า วันนี้พี่น้องกลุ่มอนุรักษ์ลำน้ำเซบาย และเครือข่ายที่เกี่ยวข้องมีความจำเป็นที่จะให้รัฐประกาศเป็นพื้นที่ปลอดภัย โดยเราพยายามบอกว่าตามรัฐธรรมนูญปี 2560 ตามหมวด 3 มาตรา 43 บุคคลและชุมชนย่อมมีสิทธิ  (1) อนุรักษ์ ฟื้นฟู หรือส่งเสริมภูมิปัญญา ศิลปะ วัฒนธรรม ขนบธรรมเนียม และจารีตประเพณีอันดีงามทั้งของท้องถิ่นและของชาติ     

(2) จัดการ บํารุงรักษา และใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม และความหลากหลายทางชีวภาพอย่างสมดุลและยั่งยืนตามวิธีการที่กฎหมายบัญญัติ    

(3) เข้าชื่อกันเพื่อเสนอแนะต่อหน่วยงานของรัฐให้ดําเนินการใดอันจะเป็นประโยชน์ต่อประชาชนหรือชุมชน หรืองดเว้นการดําเนินการใดอันจะกระทบต่อความเป็นอยู่อย่างสงบสุขของประชาชนหรือชุมชนและได้รับแจ้งผลการพิจารณาโดยรวดเร็ว ทั้งนี้ หน่วยงานของรัฐต้องพิจารณาข้อเสนอแนะนั้นโดยให้ประชาชนที่เกี่ยวข้องมีส่วนร่วมในการพิจารณาด้วยตามวิธีการที่กฎหมายบัญญัติ

หมวด 5ตามมาตรา 57 (1) รัฐต้องอนุรักษ์ ฟื้นฟู และส่งเสริมภูมิปัญญาท้องถิ่น ศิลปวัฒนธรรม ขนบธรรมเนียม และจารีตประเพณีอันดีงามจัดให้มีพื้นที่สาธารณะสำหรับการทำกิจกรรม โดยต้องส่งเสริมให้ประชาชน ชุมชนและองค์กรท้องถิ่นมีส่วนร่วมด้วยตามมาตรา 57 (2) รัฐต้องอนุรักษ์ คุ้มครอง บำรุงรักษา ฟื้นฟู ทรัพยากรธรรมชาติสิ่งแวดล้อม และความหลากหลายทางชีวภาพ

โดยต้องให้ประชาชนและชุมชนท้องถิ่นมีส่วนร่วมดำเนินการและได้รับประโยชน์ด้วย และตามมาตรา 78 รัฐต้องให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการพัฒนาประเทศด้านต่างๆการจัดทำบริการสาธารณะ การตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ การต่อต้านการทุจริต รวมทั้งการตัดสินใจทางการเมือง และการอื่นๆ ที่อาจมีผลกระทบต่อประชาชน ดังนั้นรัฐควรที่จะเข้าใจเจตนาของชาวบ้านด้วยและควรนำข้อเสนอมาพิจารณาไม่ใช่ออกมาอธิบายเพียงแค่บอกว่าไม่มีอำนาจตัดสินใจ

อ่านเพิ่มเติม