ไม่พบผลการค้นหา
สายการผลิตบริษัทญี่ปุ่นกระทบหนักจากโควิด-19 รัฐบาลตั้งเงินกู้-เงินสนับสนุนค่าจ้างแรงงาน ประเด็นหลักเพื่อลดการพึ่งพาจีน แต่อาจกระทบไทยด้วย

การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในช่วงที่ผ่านมา นอกจากจะส่งผลกระทบเรื่องสุขภาพประชาชนญี่ปุ่น ยังลามไปถึงฝั่งเศรษฐกิจโดยเฉพาะในอุตสาหกรรมการผลิตที่มีสายการผลิตกระจายอยู่หลายประเทศทั่วโลก ส่งผลให้สินค้าบางประเภทเกิดความล่าช้า

ล่าสุด รัฐบาลญี่ปุ่นออกมาประกาศเพิ่มเงินกู้ฉุกเฉิน สำหรับบริษัทสัญชาติญี่ปุ่นที่ต้องการจะนำอุปกรณ์หรือเครื่องจักรในการผลิตกลับมาที่ญี่ปุ่น เพื่อเดินหน้าผลิตสินค้าอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้เม็ดเงินกู้ดังกล่าวถูกตั้งไว้สูงถึง 9,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 290,000 ล้านบาท ผ่านธนาคารเพื่อการพัฒนาของญี่ปุ่น (ดีบีเจ)

สำหรับมาตรการช่วยเหลือครั้งนี้นอกจากจะส่งผ่านดีบีเจ จะถูกแบ่งสัดส่วนครึ่งหนึ่งไปให้กับสถานบันการเงินเอกชนเช่นเดียวกัน เนื่องจากธนาคารท้องถิ่นในพื้นที่ที่ประสบความยากลำบากขณะนี้ก็ต้องการที่จะดึงดูดธุรกิจเช่นเดียวกัน

หลายฝ่ายมองว่า เม็ดเงินช่วยเหลืออุตสาหกรรมการผลิตในครั้งนี้อาจจะสูงขึ้นไปถึงระดับความช่วยเหลือหลังวิกฤตการเงินช่วงปี 2551 ได้เช่นเดียวกัน ซึ่งตอนนั้นธนาคารของรัฐตั้งงบเงินกู้ฉุกเฉินไว้สูงถึง 26,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 854,000 ล้านบาท

นอกจากนี้ เพื่อคงไว้ซึ่งความสามารถในการแข่งขันด้านราคาสินค้า รัฐบาลยังเข้ามาสนับสนุนเงินชดเชยเรื่องราคาแรงงานให้กับบริษัทผู้ผลิตด้วย

ที่ผ่านมาบริษัทในสายการผลิตของญี่ปุ่นออกไปพึ่งสายการผลิตจากนอกประเทศเป็นจำนวนมาก ตัวเลขจากกระทรวงอุตสาหกรรมของญี่ปุ่นสะท้อนว่า ในปีงบประมาณ 2560 บริษัทญี่ปุ่นที่ไปตั้งโรงงานการผลิตในต่างประเทศมีสูงถึงร้อยละ 25.4 ของทั้งหมด อีกทั้งตัวเลขยังเพิ่มสูงขึ้นเป็นร้อยละ 47 ในอุตสาหกรรมรถยนต์และการเคลื่อนที่อื่นๆ รวมถึงร้อยละ 29 ในอุตสาหกรรมเครื่องมือในโทรคมนาคม 

แม้เป้าไม่ใช่ไทยก็ไม่ไช่ไม่กระทบ

ตามเป้าหมายที่แท้จริงของรัฐบาลญี่ปุ่น มาตรการดังกล่าวเป็นการช่วยลดภาระบริษัทการผลิตที่ต้องพึ่งประเทศจีนเป็นอย่างมากในช่วงเวลาที่ผ่านมา และได้รับผลกระทบโดยตรงจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 ที่ทำให้จีนต้องปิดเมืองและส่งให้สายการผลิตต้องหยุดชะงักชั่วคราว 

ตัวเลขข้อมูล ณ สิ้นเดือนกันยายนที่ผ่านมา พบว่า จากตัวเลขพนักงานที่ที่งานกับบริษัทญี่ปุ่นที่มีสินทรัพย์อย่างน้อย 100 ล้านเยน (ประมาณ 29 ล้านบาท) ทั้งสิ้น 4,310,000 ล้านคน เป็นแรงงานจีนไปแล้วกว่าหนึ่งในสี่

อย่างไรก็ตาม ไทยเองเป็นประเทศที่มีการเข้ามาของบริษัทญี่ปุ่นต่อเนื่องและเป็นเวลานานแล้ว ตัวเลขการยื่นขอการส่งเสริมการลงทุนตามข้อมูลจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) พบว่า ในปี 2562 บริษัทญี่ปุ่นยื่นขอการส่งเสริมฯ ทั้งสิ้น 227 โครงการ คิดเป็นเม็ดเงินกว่า 73,102 ล้านบาท โดยคิดเป็นจำนวนโครงการจากต่างประเทศมากที่สุด นอกจากนี้หากนับกันที่การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ญี่ปุ่นมักมีมูลค่าการลงทุนเป็นอันดับแรกๆ มาเสมอ

หากรัฐบาลญี่ปุ่นเดินหน้าตั้งกองทุนสนับสนุนรวมถึงเข้ามาช่วยเหลือเรื่องรายได้ที่บริษัทผู้ผลิตต้องแบกรับอย่างนี้ต่อไป ก็เป็นไปได้ที่ความคุ้มทุนจะกลับไปอยู่ที่การตั้งโรงงานการผลิตในประเทศตนเอง และเป็นผลให้เกิดการย้ายออกจากประเทศไทย 

นอกจากนี้ เมื่อต้นปี 2562 หอการค้าญี่ปุ่น-กรุงเทพฯ หรือ JCCB ก็ออกมาประกาศผลสำรวจว่า บริษัทญี่ปุ่นกว่าร้อยละ 76 ระบุว่านโยบายจากโครงการระเบียงเขตเศรษฐฏิจภาคตะวันออก (อีอีซี) ซึ่งเป็นความหวังสูงสุดของรัฐบาลที่จะนำเม็ดเงินจากต่างประเทศมาลงทุน ไม่มีประโยชน์กับบริษัท 

หากเป็นเช่นนี้ต่อไปเรื่อยๆ ทั้งการสนับสนุนจากฝั่งรัฐบาลญี่ปุ่น และการขาดมาตรการจูงใจจากฝั่งรัฐบาลไทย มีความเป็นไปได้สูงที่เราจะเห็นญี่ปุ่นย้ายออกจากไทย

อ้างอิง; Nikkei Asian Review, JT

ข่าวที่เกี่ยวข้อง;