ไม่พบผลการค้นหา
กองทุนรวมตราสารหนี้ในฝั่งภูมิภาคเอเชียต้องแบกรับกับกระแสเงินทุนไหลออกจากการเทขายสินทรัพย์ของนักลงทุนอย่างต่อเนื่องท่ามกลางการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19

ตามข้อมูลจาก อีพีเอฟอาร์ โกลบอล องค์กรติดตามความเคลื่นไหวของกองทุนทั่วโลก ชี้ว่า กระแสเงินทุนไหลออกจากกองทุนรวมตราสารหนี้จากประเทศเศรษฐกิจตลาดเกิดใหม่แตะมูลค่า 17,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 556,000 ล้านบาท ในช่วง 7 วัน ถึงวันที่ 25 มี.ค. ที่ผ่านมา ซึ่งน้อยกว่ามูลค่าการไหลออกของสัปดาห์ก่อนหน้าเพียงเล็กน้อยเท่านั้น ที่อยู่ที่ 18,800 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 615,000 ล้านบาท

เมื่อพิจารณาตัวเลขกระแสเงินไหลออกจากกองทุนราวมตราสารหนี้ในฝั่งประเทศเศรษฐกิจตลาดเกิดใหม่ในช่วง 4 สัปดาห์ที่ผ่านมา อีพีเอฟอาร์ สรุปตัวเลขไว้ทั้งหมดที่ 47,700 ล้านดอลลาร์สหรํฐฯ หรือประมาณ 1.5 ล้านล้านบาท ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนถึงร้อยละ 10.2 ของสินทรัพย์ในหมดนี้ทั้งหมด

ตามข้อมูลจากธนาคารแห่งอเมริกา (BofA) พบว่าที่ผ่านมาเงินทุนไหลออกจากตลาดประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่มูลค่าถึง 1 ใน 3 ของเม็ดเงินไหลเข้ารวมในช่วง 4 ปีที่ผ่านมาถึง 140,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 4.5 ล้านล้านบาท

'ทอมมี่ ริกเค็ตตส์' นักกลยุทธ์การลงทุนจาก BofA ชี้ว่า สถานการณ์ดังกล่าวนั้น “มันรุนแรงมาก มันคือการเปลี่ยนราว 3 หรือ 4 ของส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน (standard deviation)”

การที่กองทุนรวมตราสารหนี้ในประเทศเศรษฐกิจตลาดเกิดใหม่ถูกเทขายอย่างต่อเนื่อง ทำให้สกุลเงินของประเทศนั้นๆ ตกลงด้วยเมื่อเทียบกับสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ที่ตามข้อมูลจาก ‘ดีลโลจิก’ บริษัทแพลตฟอร์มทางการเงิน แข็งค่าขึ้นมากว่าร้อยละ 7 แล้วในเดือนที่ผ่านมา 

นอกจากนี้ตัวเลขจากดีลโลจิกยังชี้ว่า หนี้ในตลาดเกิดใหม่ในเอเชียมูลค่า 115,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 3.7 ล้านล้านบาท จะครบกำหนดชำระในปีนี้ ขณะที่อีก 200,000 ดอลลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 6.5 ล้านล้านบาท จะครบกำหนดชำระในปีหน้า

อีกทั้งส่วนต่างผลตอบแทนของตราสารหนี้ภาคเอกชนเทียบกับพันธบัตรรัฐบาล (credit spread) ที่ไม่รวมกองทุนจากประเทศญี่ปุ่น ยั่งพุ่งขึ้นเป็น 243 เบสิช พอยต์ ซึ่งส่วนต่างยิ่งมากขึ้นก็หมายความว่าตราสารหนี้นั้นมีอันดับเครดิตที่ต่ำลง และการลงทุนมีความเสี่ยงมากขึ้น ซึ่งเมื่อรวมปัจจัยทั้งสองเข้าไว้ด้วยกัน นักวิเคราะห์มองว่าหลายบริษัทอาจต้องมีการพูดคุยกับผู้ถือพันธบัตรเพื่อหาทางออกในการปรับโครงสร้างการจ่ายหนี้กันใหม่

อีพีเอฟอาร์ ยังชี้ว่า ช่วงที่ผ่านมา กองทุนรวมในโรมาเนียและไทยต้องเผชิญหน้ากับการเทขายสินทรัพย์มาที่สุดในรอบสัปดาห์ ซึ่งประเทศไทยซึ่งมีเศรษฐกิจที่ต้องพึ่งพานักท่องเที่ยวมากที่สุดในเอเชียประเทศหนึ่งต้องสูญเสียเงินทุนไหลออกถึง 3,900 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ​ หรือประมาณ 127,000 ล้านบาท สอดคล้องกับตัวเลขดุลบัญชีเงินทุนเคลื่อนย้ายประจำเดือนก.พ. จากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่ติดลบถึงร้อยละ 4.4

ริกเค็ตตส์ ปิดท้ายว่า การที่ตลาดตราสารหนี้ฝั่งเอเชียในประเทศตลาดเกิดใหม่จะกลับขึ้นมามีแนวโน้มที่ดีอีกครั้ง นักลงทุนต้องเริ่มเห็นแนวโน้มการอ่อนค่าของสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐฯ และเห็นภาพที่ชัดเจนมากขึ้นเกี่ยวกับสถานการณ์โควิด-19 

อ้างอิง; FT, Nikkei Asian Review