ไม่พบผลการค้นหา
ญี่ปุ่นมองแนวโน้มเศรษฐกิจไทยยังดี โครงการอีอีซีควรเดินหน้า พร้อมเพิ่มศักยภาพบุคลากร ปัดสงครามการค้าไม่ส่งผลกระทบวงกว้าง แต่ธุรกิจในอุตสาหกรรมเป้าหมาย (S Curve) ร้อยละ 76 กลับระบุว่า อีอีซีไม่มีประโยชน์กับธุรกิจ

ปัจจุบันนี้ตัวเลขการลงทุนของญี่ปุ่นในไทยเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ในปี 2561 มีปริมาณเงินลงทุนในการยื่นขอส่งเสริมการลงทุนจากบีโอไอสูงที่สุด ด้วยจำนวน 334 โครงการ คิดเป็นร้อยละ 32 ของโครงการลงทุนจากต่างชาติทั้งหมด โดยเงินลงทุนมาจากโครงการขนาดใหญ่ อาทิ กิจการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าแบบผสม กิจการผลิตเคมีภัณฑ์หรือพอลิเมอร์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม กิจการผลิตเครื่องปรับอากาศที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง กิจการผลิตโลหะ กิจการผลิตชิ้นส่วนยานพาหนะ เป็นต้น

นอกจากตัวเลขการลงทุนในภาพรวมของญี่ปุ่นจะสูงถึงร้อยละ 32 ของการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศทั้งหมดแล้ว เมื่อเจาะเข้าไปดูโครงการความหวังของประเทศอย่าง "โครงการระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก" หรือ "อีอีซี" ยิ่งเป็นการตอกย้ำการเป็นมหาอำนาจด้านการลงทุนในอีอีซี ของนักลงทุนญี่ปุ่่นที่มีเม็ดเงินลงทุนในสัดส่วนสูงถึงร้อยละ 46 ของการลงทุนทั้งหมด หรือคิดเป็นเงินกว่า 109,600 ล้านบาท

ขณะที่ ผลสำรวจแนวโน้มทางเศรษฐกิจของบริษัทร่วมทุนญี่ปุ่นในประเทศไทย ที่มีบริษัทญี่ปุ่นที่เป็นสมาชิกหอการค้าญี่ปุ่น-กรุงเทพฯ หรือ JCCB ร้อยละ 28.9 หรือคิดเป็น 509 ราย จากสมาชิกทั้งหมด 1,761 ราย ตอบแบบสอบถาม ระบุว่า ภาพรวมความมั่นใจของบริษัทร่วมทุนญี่ปุ่นที่มีต่อเศรษฐกิจไทยยังอยู่ในเกณฑ์ที่ดีสะท้อนจากดัชนีแนวโน้มเศรษฐกิจ หรือ ค่าดีไอ (Diffusion Index: DI) ที่ยังคงอยู่ในแดนบวก

โดยในปี 2561 ดัชนีช่วงครึ่งแรกของปีอยู่ที่ 34 ก่อนปรับตัวมาอยู่ที่ 29 ในช่วงครึ่งปีหลัง ส่วนค่าประมาณในปีนี้อยู่ที่ 25 แม้ตัวเลขประมาณการจะปรับตัวลงเล็กน้อย แต่ "ทสึโยชิ อิโนะอุเอะ" กรรมการผู้จัดการ หอการค้าญี่ปุ่น-กรุงเทพฯ ยังคงยืนยันว่าเป็นแนวโน้มที่ดี เนื่องจากค่าดีไอ เป็นบวกติดต่อกันถึง 7 ช่วงการสำรวจ ตั้งแต่ปี 2559 จนถึงปัจจุบัน ส่วนค่าดีไอที่มีแนวโน้มลดลงเล็กน้อยสะท้อนจากตัวเลขที่ลงมาอยู่ที่ 25 นายทสึโยชิ กล่าวว่า "เป็นเพราะความขี้กังวลของคนญี่ปุ่น" มากกว่า

ญี่ปุ่น-ธุรกิจ-อาหาร

ธุรกิจญี่ปุ่นร้อยละ 80 ยืนยันบริษัทยังมีกำไรและร้อยละ 43 มีกำไรเพิ่มขึ้น

เมื่อไปดูที่ผลกำไร/ขาดทุนก่อนหักภาษี สำหรับปี 2561 ร้อยละ 80 ของบริษัทที่ตอบแบบสอบถาม ระบุว่า บริษัทมีกำไรในการทำธุรกิจ โดยจากจำนวนนี้ ร้อยละ 43 ระบุว่า ผลกำไรของบริษัทเพิ่มขึ้น ในขณะที่ร้อยละ 31 กล่าวว่า ผลกำไรของบริษัทลดลง จากการสำรวจบริษัททั้งหมด มีเพียงร้อยละ 14 หรือคิดเป็น 69 ราย ระบุว่าบริษัทขาดทุนในการทำธุรกิจ

สำหรับคาดการณ์ผลกำไร/ขาดทุนก่อนหักภาษี ในปี 2562 บริษัทที่คาดการณ์ว่าจะมี "กำไร" คิดเป็น ร้อยละ 82 และสัดส่วนของบริษัทที่คาดว่าจะมีผลกำไรก่อนหักภาษี "เพิ่มขึ้น" คิดเป็นร้อยละ 33 ในขณะที่สัดส่วนของบริษัทที่คาดการณ์ว่าผลกำไรก่อนหักภาษีจะ "ลดลง" คิดเป็นร้อยละ 27

เจโทร

ด้านการส่งออก บริษัทที่สำรวจคาดว่าในช่วงครึ่งแรกของปี 2562 ร้อยละ 50 ของบริษัทที่สำรวจมองว่าการส่งออกจะคงที่ ในขณะที่ร้อยละ 34 มองว่าจะเพิ่มขึ้น และร้อยละ 16 มองว่าจะลดลง ส่วนตลาดการส่งออกที่สำคัญ พบว่า ประเทศเวียดนามนำมาเป็นอันดับหนี่ง ที่ร้อยละ 46 ตามด้วย อินเดีย อินโดนีเซีย เมียนมา และญี่ปุ่น ที่ร้อยละ 34, 33, 22 และ 20 ตามลำดับ

นักธุรกิจญี่ปุ่นชี้ปัญหาคลาสสิก ไทยขาดแคลนบุคลากรรองรับงานทักษะสูง

อีกหนึ่งมิติที่สำคัญในการเข้ามาลงทุนอุตสาหกรรมการผลิตต่างๆ ในประเทศคือทรัพยากรบุคคล ผลการสำรวจออกมาชัดเจนว่า ประเทศไทยยังมีบุคลากรที่มีศักยภาพในการรองรับบริษัทที่เข้ามาลงทุนในไทยไม่เพียงพอ โดยร้อยละ 65 ของบริษัทที่ทำแบบสำรวจ ระบุว่าประสบปัญหาขาดแคลนบุคลากร โดยประเภทงานที่ขาดแคลนมากที่สุดคือ วิศวกร ตามด้วย บุคลากรระดับบริหาร และผู้จัดการสายงานธุรการ ในสัดส่วนร้อยละ 57, 47 และ 31 ตามลำดับ สำหรับสายงานวิศวกรที่บริษัทต้องการมากที่สุดคือ วิศวกรการผลิต รองลงมาได้แก่ วิศวกรโรงงาน วิศวกรควบคุมคุณภาพ และวิศวกรฝ่ายขาย ที่ร้อยละ 24, 23 และ 20 ตามลำดับ

เจโทร

สำหรับข้อเรียกร้องต่อรัฐบาลไทยในการดำเนินธุรกิจ บริษัทส่วนใหญ่ระบุประเด็น การพัฒนาและการปรับปรุงระบบที่เกี่ยวกับศุลกากร รวมถึงการบังคับใช้ ร้อยละ 51 ส่วนประเด็นรองลงมาได้แก่ การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่งในกรุงเทพฯ และปริมณฑล ร้อยละ 46 การส่งเสริมมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ อาทิ การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อการสาธารณูปโภค ร้อยละ 43 และการพัฒนาและการปรับปรุงการนำระบบภาษีมาปฏิบัติใช้ เช่น ระบบภาษีนิติบุคคล ร้อยละ 35

อย่างไรก็ตาม มาตรการหลายอย่างอาทิ การส่งเสริมมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ การรักษาความปลอดภัยและความสงบเรียบร้อยภายในปรเทศ การแก้ไขปรับปรุงความสะดวกในการขอใบอนุญาตทำงานและวีซ่า การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่งในเขตกรุงเทพฯและปริมณฑล และการรักษาเสถียรภาพของอัตราแลกเปลี่ยน นักลงทุนเห็นว่ามีการพัฒนา โดยเฉพาะมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่มีการพัฒนาสูงสุดในสัดส่วนร้อยละ 30

เจโทร

นอกจากนี้ เมื่อสอบถามถึงนโยบายระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก หรือ อีอีซี ที่เป็นประโยชน์ บริษัทส่วนใหญ่มองว่านโยบายที่เป็นประโยชน์มากที่สุด คือ แผนลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานในพื้นที่อีอีซี เช่น รถไฟความเร็วสูง โครงการท่าเรือแหลมฉบัง โครงการขยายท่าเรือมาบตาพุด โครงการขยายสนามบินนานาชาติอู่ตะเภา รองลงมา คือ การยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลนานที่สุดถึง 13 ปี และการยกเว้นอากรขาเข้าสำหรับเครื่องจักรกล

แต่ก็น่าสังเกตว่า เมื่อสอบถามว่า นโยบายระเบียบเศรษฐกิจภาคตะวันออกมีุ่ประโยชน์กับบริษัทร่วมลงทุนญี่ปุ่นในประเทศไทยอย่างไร พบว่า ในกลุ่มบริษัทที่เข้าข่ายอุตสาหกรรมเป้าหมาย (S Curve) ร้อยละ 76 ระบุว่า ไม่มีประโยชน์ ส่วนบริษัทที่มีฐานธุรกิจอยู่ในอีอีซี อยู่แล้ว ร้อยละ 68 ก็ระบุว่า ไม่มีประโยชน์ เช่นกัน

เจโทร

ส่วนปัจจัยภายนอกอย่างสงครามการค้าระหว่างจีนและสหรัฐฯ บริษัทส่วนใหญ่ตอบว่า ร้อยละ 37 ตอบว่าไม่มีผลกระทบ ในขณะที่ร้อยละ 13 มองว่ามีผลกระทบในเชิงบวกกับธุรกิจ โดยอาจมีการย้ายกำลังการผลิตจ��กจีนมาไทย ส่วนร้อยละ 32 ตอบว่าอาจได้รับผลกระทบเชิงลบในแง่การลดลงของปริมาณการส่งออก ยอดขายในประเทศลดลง และค่าใช้จ่ายในการจัดซื้อเพิ่มขึ้น

ผลสำรวจธุรกิจที่ร่วมลงทุนในไทยครั้งนี้ จึงมีนัยสำคัญต่อประเทศไทย ทั้งในฐานะที่ญี่ปุ่นเป็นผู้ลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ หรือ เอฟดีไอ อันดับ 1 ของไทยมาอย่างต่อเนื่องหลายปี และต่อการยกระดับพัฒนาคุณภาพบุคลากรคนไทย การแก้ไขอุปสรรคการค้าการลงทุน รวมถึงการทบทวนนโยบายส่งเสริมการลงทุนในพื้นที่เป้าหมายใหม่ๆ ว่า ตอบโจทย์ภาคธุรกิจ ภาคอุตสาหกรรมจริงหรือไม่