ไม่พบผลการค้นหา
'ยามะชิน' ผลิตตัวกรองอนุภาคขนาด 0.3 ไมครอน ได้ที่สัดส่วนร้อยละ 98 และยังคงประสิทธิภาพสูงแม้เวลาผ่านไป 24 ชั่วโมง

'ยามะชิน-ฟิวเตอร์' บริษัทผู้ผลิตตัวกรองสำหรับเครื่องจักรที่ใช้ในการผลิตสัญชาติญี่ปุ่นแถลงความสำเร็จในการพัฒนาตัวกรองที่สามารถป้องกันอนุภาคในอากาศขนาด 0.3 ไมโครเมตร (ไมครอน) ได้ถึงร้อยละ 98 ขณะที่ตัวกรองของหน้ากากอนามัย N95 ตามข้อมูลงานวิจัยที่ตีพิมพ์บนเว็บไซต์ห้องสมุดแพทย์แห่งชาติของอเมริกา สามารถกรองอนุภาคขนาด 0.3 ไมโครเมตร ได้ที่สัดส่วนเฉลี่ยร้อยละ 95 เท่านั้น 

นอกจากนี้ เมื่อเวลาผ่านไปราว 24 ชั่วโมง ตัวกรองดังกล่าวของบริษัทยามะชิน ยังคงศักยภาพการกรองไว้ได้ที่ร้อยละ 90 เหนือกว่าระดับของตัวกรองในหน้ากากอนามัย N95 ถึงร้อยละ 10 และยังมีประสิทธิภาพในการใช้งานได้ยาวนานกว่าด้วย

นอกจากนี้ ในหน้ากากอนามัยทางการแพทย์ที่มีราคาถูกกว่าหน้ากากอนามัย N95 มีศักยภาพในการป้องกันอนภาคขนาดดังกล่าวได้แค่สัดส่วนร้อยละ 43 เท่านั้น และเมื่อเวลาผ่านไป 24 ชั่วโมง ตัวกรองเหล่านั้นสูญเสียความสามารถในการกรองลงไปเหลือแค่เพียงร้อยละ 15

สิ่งที่แตกต่างระหว่างตัวกรองของยามะชินกับหน้ากากอนามัยทั่วไปอยู่ที่วิธีการในการจับอนุภาค ซึ่งหน้ากากอนามัยทั่วไปนั้นจะทำโดยการใช้ไฟฟ้าสถิตซึ่งถูกบั่นทอนได้จากความชื้นของมนุษย์จากการหายใจ ในทางตรงกันข้าม ยามะชินเลือกจะใช้เส้นใยที่มีความหนาเพียง 1 ใน 10 ของเส้นใยเคมีทั่วไป มาจัดเรียงแบบสามมิติเพื่อดักจับอนุภาคในอากาศแทนจึงทำให้ได้ประสิทธิภาพที่สูงรวมถึงระยะการใช้งานที่ยาวนานกว่าด้วย 

ทั้งนี้ บริษัทยังชี้แผนการผลิตตัวกรองใช้ซ้ำได้ราว 360,000 ชิ้น/เดือน ด้วยเม็ดเงินประมาณ 50 ล้านเยน หรือประมาณ 15 ล้านบาท เพื่อส่งขายในเครือร้านขายอุปกรณ์ยาซาวะยะ ขณะที่ตัวกรองสำหรับหน้ากากอนามัยนั้นจะผลิตเพื่อส่งขายตามร้านยาทั่วไป 

ตามข้อมูลจากสำนักข่าวรอยเตอร์ส รายรับรวมของยามะชินในปี 2562 ทั้งปีอยู่ที่ 13,811 ล้านเยน หรือประมาณ 4,174 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิราว 6,479 ล้านเยน หรือประมาณ 1,958 ล้านบาท 

อ้างอิง; Nikkei Asian Review