Whats Up News สื่อท้องถิ่นในรัฐโรดส์ไอส์แลนด์ของสหรัฐอเมริกา รวบรวมข้อมูลบุคคลธรรมดา หรือองค์กรไม่แสวงผลกำไรที่อุทิศตัวเพื่อสังคมในสถานการณ์แพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 และโรคโควิด-19 โดยใช้ชื่อโปรเจกต์ว่า Unsung Heroes โดยระบุว่า หมายถึง คนที่ทำในสิ่งที่กล้าหาญเพื่อผู้อื่นในช่วงเวลายากลำบาก แต่สังคมอาจจะยังไม่รู้ หรือไม่ได้สนใจมากนัก
ความเคลื่อนไหวดังกล่าวสอดคล้องกับที่สื่อในหลายประเทศรายงานถึง 'กลุ่มคนที่ควรได้รับการยกย่อง' ในสถานการณ์โควิด-19 ระบาด นอกเหนือไปจากกลุ่มเจ้าหน้าที่สาธารณสุขและบุคลากรการแพทย์ ซึ่งถูกเปรียบเทียบว่าเป็นด่านหน้าในการต่อสู้โรคระบาด โดยสื่อจำนวนมากให้เหตุผลว่า คนเล็กคนน้อยอีกหลายกลุ่มเป็นหนึ่งในกลไกสำคัญที่ช่วยขับเคลื่อนสังคมให้ยังดำเนินต่อไปได้ในภาวะวิกฤตเช่นนี้ และต้องจัดหามาตรการดูแลเยียวยาด้วย
'ลอเรนซ์ หว่อง' รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาประเทศของสิงคโปร์ แถลงความคืบหน้าสถานการณ์โควิด-19 ต่อที่ประชุมสภา เมื่อวันที่ 30 มี.ค.ที่ผ่านมา โดยระบุว่า ชาวสิงคโปร์และรัฐบาลต้องขอขอบคุณเจ้าหน้าที่สาธารณสุขและบุคลากรการแพทย์ ซึ่งทำงานหนักเพื่อรับมือและควบคุมการแพร่ระบาดของโรคติดต่อในครั้งนี้ รวมถึงบุคคลอื่นๆ ที่ร่วมแรงร่วมใจในการป้องกันโรคอย่างแข็งขัน
หลังจากนั้น เว็บไซต์ TNP สื่อสิงคโปร์ จึงรายงานว่า บุคคลอีกกลุ่มหนึ่งที่ต้องขอบคุณเช่นกันก็คือ พนักงานทำงานความสะอาด และ เจ้าหน้าที่ประจำห้องแล็บ ที่ต้องเผชิญกับงานหนักและเสี่ยงที่จะติดเชื้อไม่แพ้กลุ่มบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข
ทั้งนี้ พนักงานทำความสะอาดในโรงพยาบาลที่ใช้รองรับผู้ป่วยโรคโควิด-19 ต้องรับผิดชอบการเปลี่ยนผ้าปูที่นอน เก็บขยะ และซักล้างสิ่งต่างๆ ที่เป็นของผู้ป่วย และคนจำนวนไม่น้อยที่ทำงานนี้ก็คือ 'แรงงานต่างชาติ' ที่เสียสละให้กับสิงคโปร์เช่นกัน โดย TNP ได้ไปสัมภาษณ์ 'มอน' หญิงชาวเมียนมาวัย 24 ปี ซึ่งเป็นแม่บ้านทำความสะอาดของโรงพยาบาลชางงี
'มอน' ระบุว่า เธอภูมิใจที่มีส่วนช่วยให้ผู้ป่วยได้มีสุขอนามัยที่ดี และย้ำว่าเธอจัดการกับขยะติดเชื้อหรืออุปกรณ์ต่างๆ ที่อาจปนเปื้อนเชื้อโรคอย่างรอบคอบและระมัดระวัง
ช่วงเดือน ก.พ.-ต้นเดือน มี.ค.ที่ผ่านมา เกาหลีใต้พบผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ในประเทศสูงเป็นอันดับต้นๆ ของโลก ก่อนที่ประเทศอื่นๆ จะมีสถิติแซงหน้าไปในช่วงปลายเดือน มี.ค. แต่รัฐบาลเกาหลีใต้ยังไม่ลดระดับมาตรการควบคุมและเฝ้าระวังการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ขณะเดียวกันก็ไม่บังคับใช้มาตรการล็อกดาวน์หรือจำกัดการเดินทาง
ด้วยเหตุนี้ ระบบขนส่งสาธารณะในเกาหลีใต้ส่วนใหญ่จึงยังให้บริการอยู่ ทำให้ พนักงานบริการ ของรถโดยสารสาธารณะเหล่านี้ รวมถึง พนักงานทำความสะอาด ที่ต้องดูแลพื้นที่สัญจรของประชาชน เข้าข่ายกลุ่มคนที่ต้องทำหน้าที่สุ่มเสี่ยงต่อไป และงานในความรับผิดชอบก็เพิ่มขึ้น เพราะนอกจากจะดูแลความสะอาดตามปกติแล้ว ยังต้องฆ่าเชื้อบนผิวสัมผัสต่างๆ ในอาคารสถานที่ที่เกี่ยวข้องกับการเดินทางอีกด้วย
Korea Herald สื่อเกาหลีใต้ รายงานว่า ตลอดเดือน มี.ค.ที่ผ่านมา บริษัทฟาสต์ฟู้ดรายใหญ่อย่าง 'แมคโดนัลด์' ในเกาหลีใต้ ได้ประกาศมอบแฮมเบอร์เกอร์และกาแฟอเมริกาโน รวมถึงคูปองแลกซื้ออาหารให้แก่พนักงานทำความสะอาดประจำรถไฟใต้ดินในกรุงโซล โดยระบุว่า บุคคลเหล่านี้เสี่ยงภัยเชื้อโรคเพื่อดูแลพื้นที่ต่างๆ ในกรุงโซลให้ปลอดภัย จึงถือเป็น 'วีรบุรุษ' อีกกลุ่มหนึ่ง ซึ่งคนในสังคมอาจจะยังไม่ตระหนักถึงความเสียสละของพวกเขามากนัก
'ซาราห์ สจ๊วร์ต แบล็ก' ผู้อำนวยการศูนย์บริหารจัดการสถานการณ์ฉุกเฉินแและการป้องกันพลเรือนแห่งนิวซีแลนด์ (CDEM) แถลงข่าวว่า CDEM และกระทรวงต่างๆ จะจัดส่งเสบียงอาหารและยารักษาโรคผ่านทางหน่วยงานรัฐบาลท้องถิ่นทั่วประเทศ เพื่อให้กระจายสิ่งของเหล่านี้ไปยังประชาชนที่ต้องกักตัวเองในที่พักเพื่อป้องกันโควิด-19 หลังจากรัฐบาลประกาศควบคุมการเดินทางและสั่งระงับกิจการบางประเภทไปจนถึงปลายเดือน เม.ย.
เว็บไซต์ Newsroom ของนิวซีแลนด์รายงานว่า เจ้าหน้าที่รัฐบาลท้องถิ่นอาจจะไม่ได้อยู่ในความรับรู้ของประชาชนทั่วไปว่าบุคคลเหล่านี้มีส่วนร่วมในการรับมือและป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 เพราะในการแถลงข่าวประจำวันแต่ละครั้ง จะมีมุมมองจากรัฐบาลกลาง แพทย์ ตำรวจ หน่วยกู้ชีพฉุกเฉิน และเจ้าหน้าที่หน่วยดับเพลิง แต่ เจ้าหน้าที่รัฐบาลท้องถิ่น เป็นผู้รับผิดชอบดูแลกลไกต่างๆ ที่คอยขับเคลื่อนให้การดำเนินชีวิตของประชาชนในแต่ละพื้นที่ให้ดำเนินต่อไปได้
สื่อนิวซีแลนด์รายงานด้วยว่า ผู้เสี่ยงภัยอีกกลุ่มหนึ่งที่ต้องให้บริการคนในสังคมช่วงโควิด-19 แต่ไม่ค่อยมีใครนึกถึงมากนัก ได้แก่ พนักงานเก็บขยะ ผู้ดูแลระบบบำบัดน้ำเสียงในเมืองต่างๆ เจ้าหน้าที่กำจัดขยะที่ต้องรับมือกับขยะติดเชื้อและขยะอื่นๆ พนักงานทางด่วน รวมถึง ผู้ประกอบการสถานประกอบพิธีศพ และ ผู้ที่ต้องดูแลจัดการการฌาปนกิจ ซึ่งหากขาดคนทำหน้าที่เหล่านี้ การใช้ชีวิตให้ได้ตามปกติคงเป็นเรื่องยาก
'พนักงานส่งอาหาร' คือ อาชีพที่คนจำนวนมากต้องพึ่งพาอาศัยเพิ่มขึ้นในช่วงที่ต้องกักตัวเพื่อป้องกันและควบคุมโรคโควิด-19 และที่ประเทศ 'อินเดีย' ซึ่งเพิ่งจะประกาศล็อกดาวน์ หรือ 'ปิดเมือง' อย่างน้อย 21 วัน ก็ไม่อยู่ในข้อยกเว้น
"อาหารเป็นสิ่งจำเป็น เราจะไม่ให้คนเข้าถึงอาหารได้ยังไง" เว็บไซต์ Khaleej Times อ้างอิงคำให้สัมภาษณ์ของ 'มูราลี แชมบันทัม' พนักงานส่งอาหารในรัฐทมิฬนาฑูของอินเดีย ซึ่งทำอาชีพนี้มานานกว่า 15 ปีแล้ว โดยเขาระบุว่า "ถ้าเราไม่ทำ แล้วใครจะทำ" แต่การทำหน้าที่ในสถานการณ์เช่นนี้ ทำให้พนักงานส่งอาหารอย่างเขา 'เสี่ยงติดเชื้อ' เพราะต้องตระเวนไปตามพื้นที่ต่างๆ และต้องสัมผัสกับสินค้าอาหารจำนวนมากในแต่ละวัน
มูราลีระบุว่า พนักงานส่งอาหารมีมาตรการป้องกันตัวเอง โดยจะสวมทั้งหน้ากากอนามัย ถุงมือ หลีกเลี่ยงการสัมผัสใกล้ชิดกับลูกค้า และหมั่นล้างมือด้วยเจลทำความสะอาดอยู่เป็นประจำ รวมถึงทำความสะอาดมอเตอร์ไซค์ที่ใช้ขับขี่รับส่งอาหาร ซึ่งเขาระบุว่า การทำงานในช่วงเวลาวิกฤตเช่นนี้ ส่วนหนึ่งก็เป็นเรื่องปากท้องของตัวเอง แต่ก็ต้องยึดมั่นในความเป็นมืออาชีพ ต้องทำหน้าที่อย่างดี เพื่อให้ลูกค้ามั่นใจเรื่องความปลอดภัย และผู้คนจะต้องมีอาหารรับประทานในแต่ละวัน
มูราลีระบุด้วยว่า ที่ผ่านมา 'อุบัติเหตุทางถนน' เป็นหนึ่งในปัจจัยเสี่ยงของอาชีพพนักงานส่งอาหาร แต่เมื่อมีมาตรการกักตัว ปริมาณรถบนถนนลดลง ก็ช่วยให้ลดความเสี่ยงให้แก่พวกเขาได้พอสมควร
หลังจากองค์การอนามัยโลก (WHO ประกาศว่าโรคโควิด-19 เป็นการแพร่ระบาดใหญ่ทั่วโลก หรือ pandemic เมื่อ 11 มี.ค.ได้ไม่นาน รัฐบาลแคนาดาก็ประกาศว่าสถานการณ์โรคโควิด-19 เป็นภัยระดับสูงทั่วประเทศ พร้อมบังคับใช้มาตรการเว้นระยะทางสังคม รวมถึงสั่งงดกิจกรรมทั้งกลางแจ้งในอาคารที่ทำให้เกิดการรวมกลุ่มคนแทบทั้งหมด และห้ามชาวต่างชาติเดินทางเข้าประเทศทุกช่องทาง ยกเว้นชาวอเมริกันที่ผ่อนผันเดินทางข้ามพรมแดนระหว่างประเทศได้
มาตรการดังกล่าวทำให้ภาครัฐและเอกชนประกาศนโยบายทำงานจากที่บ้าน และสถานประกอบการที่เกี่ยวข้องกับกลุ่มเสี่ยง ได้แก่ ผู้สูงอายุ ผู้มีโรคเรื้อรัง และกลุ่มผู้พิการ จำเป็นต้องปรับมาตรการดูแลกลุ่มคนเหล่านี้เสียใหม่
กรณีของเจ้าหน้าที่ชุมชนดูแลผู้พิการของเมืองเคมบริดจ์ เผยผ่านสื่อท้องถิ่น Cambridge Times ว่างานของ ผู้ดูแลคนพิการ หนักหน่วงขึ้นมาก เพราะมีคำสั่ง 'งดเยี่ยม' เพื่อป้องกันการแพร่เชื้อโควิด-19 สู่คนที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยง ทำให้สมาชิกครอบครัวของผู้พิการไม่สามารถมาเยี่ยมได้ และผู้ที่อยู่ในศูนย์ดูแลมีแนวโน้มจะเกิดความเครียดหรือหวั่นวิตก
ด้วยเหตุนี้ เจ้าหน้าที่ดูแลประจำชุมชนจึงต้องทำงานหนักขึ้น เพราะต้องจัดหากิจกรรมผ่อนคลายความเครียด ขณะเดียวกันก็ต้องคำนึงถึง 'การเว้นระยะห่าง' ไปพร้อมๆ กัน ทำให้เจ้าหน้าที่เหล่านี้ต้องทำงานอย่างต่อเนื่อง จึงถือเป็นอีกหนึ่งกลุ่มคนที่เสียสละตัวเองเพื่อสังคมในช่วงโควิด-19 ระบาด แต่อาจจะไม่ค่อยมีคนรู้เห็นมากนัก
ส่วนเว็บไซต์ Yahoo และ CBC News รายงานก่อนหน้านี้ว่า พนักงานร้านค้าและซูเปอร์มาร์เก็ต ที่ต้องรับมือกับลูกค้าในแต่ละวัน ทั้งยังต้องเผชิญกับความต้องการสินค้าต่างๆ ที่เพิ่มขึ้น ทำให้พนักงานเหล่านี้ต้องทำงานหนักขึ้น ทั้งยังสุ่มเสี่ยงต่อการติดเชื้อ เพราะต้องติดต่อกับผู้คนและสัมผัสสิ่งของต่างๆ ระหว่างปฏิบัติหน้าที่
หลายบริษัทที่เป็นเจ้าของกิจการซูเปอร์มาร์เก็ตสาขา จึงประกาศเพิ่มเงินพิเศษรายสัปดาห์แก่พนักงาน นอกเหนือจากค่าแรงและค่าทำงานล่วงเวลาตามปกติ และย้ำว่าความปลอดภัยของพนักงานเหล่านี้คือสิ่งสำคัญเช่นกัน
หลายห้างมีมาตรการผ่อนผันเรื่องเวลาทำงาน โดยกำหนดให้พนักงาน มีสิทธิพักทุกๆ 15 นาที เพื่อล้างมือหรือทำความสะอาดร่างกาย ในกรณีที่เผชิญกับความเสี่ยงในการสัมผัสพื้นผิวต่างๆ ที่อาจเป็นแหล่งสะสมจุลชีพ โดยนายจ้างเป็นผู้จัดหาอุปกรณ์ป้องกันให้แก่พนักงาน ไม่ว่าจะเป็นหน้ากากอนามัยหรือเจลฆ่าเชื้อ ทั้งยังต้องปรับเปลี่ยนมาตรการทำความสะอาดและจับเก็บสินค้าอย่างเข้มงวดกวดขันมากขึ้นด้วย
ข่าวที่เกี่ยวข้อง: