ไม่พบผลการค้นหา
หลายประเทศประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินเพื่อรับมือกับโรคโควิด-19 แต่มีหลายรัฐบาลถูกวิจารณ์ว่าใช้โอกาสนี้ปิดกั้นความคิดเห็นประชาชน ทั้งยังมีแนวโน้มจะใช้อำนาจเบ็ดเสร็จแทรกแซงกลไกประชาธิปไตยในนาม 'ความมั่นคง'

"การประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน ไม่ว่าจะประกาศที่ไหน หรือเพื่อเหตุผลอะไร ต้องมีระยะที่เหมาะสมกับเป้าหมาย และต้องบังคับใช้ตราบเท่าที่จำเป็นเท่านั้น"

อิงเกอร์เบียร์ก โซลรัน กิสลาดอตเทียร์ ผู้อำนวยการฝ่ายสิทธิมนุษยชนขององค์การว่าด้วยความมั่นคงและความร่วมมือในยุโรป (OSCE) แสดงความเห็นต่อกรณีที่หลายประเทศแถบยุโรปประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินเพื่อรับมือและควบคุมการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่และโรคโควิด-19 แต่กลับส่งผลให้มีการปิดกั้นความคิดเห็น หรือจับกุมดำเนินคดีผู้ที่วิพากษ์วิจารณ์การทำงานของรัฐบาลในช่วงวิกฤตโรคระบาดเพิ่มขึ้น

สำนักข่าว AP รายงานข่าว Dismantling democracy? Virus used as excuse to quell dissent โดยยกตัวอย่างรัฐบาล 'เซอร์เบีย' ซึ่งประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินทั่วประเทศตั้งแต่วันที่ 15 มี.ค.ที่ผ่านมา นำไปสู่การบังคับใช้มาตรการ 'ล็อกดาวน์' หรือการจำกัดการเดินทางที่เข้มงวดที่สุดในยุโรป

หลังจากเซอร์เบียประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินได้ไม่นาน ประธานาธิบดี 'อเล็กซานดาร์ วูชิช' ก็สั่งปิดพรมแดนระหว่างประเทศ และให้ทหารพร้อมอาวุธครบมือ ตรึงกำลังรักษาความสงบแทนตำรวจ พร้อมระบุว่า ถ้าคนยังฝ่าฝืนคำสั่งกักตัวและจำกัดการเดินทางก็จะ "ไม่มีที่พอให้ฝังศพผู้เสียชีวิตจากโควิด-19"

นโยบายของเซอร์เบียที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์มากที่สุด คือ คำสั่งห้ามประชาชนอายุ 65 ปีขึ้นไปออกนอกเคหสถานในทุกกรณี และกระบวนการพิจารณาหรือลงมติเกี่ยวกับมาตรการรับมือโควิด-19 ผ่านระบบรัฐสภาก็ถูกระงับไปโดยปริยาย เพราะการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินทำให้ประธานาธิบดีมีอำนาจเต็มที่ในการออกคำสั่งต่างๆ ให้มีผลบังคับใช้ได้ทันที

ฝ่ายค้าน ประชาชน และองค์กรด้านสิทธิมนุษยชนในเซอร์เบียจึงสะท้อนความเห็นว่า วูชิชอาจขยายเวลาประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินต่อไปเรื่อยๆ ในอนาคต เพื่อสกัดกั้นเสียงวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของรัฐบาลตนเอง

AFP - อิตาลี โควิด โคโรนา

มัสซิโม มอรัตติ นักวิจัยขององค์กรระหว่างประเทศ 'แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล' ประจำยุโรป ระบุว่า การประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินเป็นสิ่งที่กระทำได้ตามเงื่อนไขของกฎหมายระหว่างประเทศด้านสิทธิมนุษยชน แต่ก็ย้ำว่ามาตรการหรือข้อบังคับต่างๆ จะต้องไม่กลายเป็น 'เรื่องปกติธรรมดา' ของสังคม เมื่อถึงเวลาที่สถานการณ์ดีขึ้นก็ต้องยกเลิกการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน


นอกเหนือจากเซอร์เบีย ก็ยังมีอีกหลายประเทศ...

เว็บไซต์ Axios รายงานว่า Coronavirus is being used to suppress press freedoms globally โดยระบุว่า การประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในหลายประเทศทำให้รัฐบาลมีเงื่อนไขที่จะปิดกั้นสิทธิและเสรีภาพของสื่อมวลชนและการแสดงความคิดเห็นของประชาชน โดยใช้ข้ออ้างว่าเป็นการป้องกันและกำจัดการเผยแพร่ข้อมูลบิดเบือน ข้อมูลเท็จ รวมถึงข้อมูลที่ส่งผลกระทบต่อความมั่นคงของชาติ

กรณีตัวอย่าง ได้แก่ 'ฮังการี' นายกรัฐมตรีวิกโตร์ โอร์บาน ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินทั่วประเทศตั้งแต่วันที่ 11 มี.ค.ที่ผ่านมา ผลักดันให้รัฐบาลผ่านกฎหมายลงโทษผู้เผยแพร่ข้อมูลบิดเบือนเกี่ยวกับการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 สำเร็จในช่วงปลายเดือน โดยมีบทลงโทษผู้กระทำผิดในข้อหานี้ตั้งแต่ 5-8 ปี

สมาชิกรัฐสภายุโรปวิพากษ์วิจารณ์ว่ากฎหมายดังกล่าวมีบทลงโทษที่รุนแรงเกินเหตุ เข้าข่ายใช้กฎหมายแทรกแซงการแสดงความคิดเห็นซึ่งเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานในระบอบประชาธิปไตย

'อียิปต์'

เจ้าหน้าที่รัฐบาลอ้างคำสั่งที่ประกาศใช้ช่วงสถานการณ์ฉุกเฉิน เนรเทศผู้สื่อข่าวต่างชาติของเว็บไซต์ The Guardian ออกนอกประเทศ หลังจากผู้สื่อข่าวคนดังกล่าวรายงานอ้างอิงงานวิจัยทางวิทยาศาสตร์ของมหาวิทยาลัยโตรอนโต ที่ประเมินว่าสถิติผู้ติดเชื้อและเสียชีวิตจากโควิด-19 ในอียิปต์น่าจะสูงกว่าตัวเลขที่รัฐบาลเปิดเผยต่อสาธารณะ

'ฟิลิปปินส์'

รัฐบาลประกาศว่าผู้สื่อข่าวที่รายงานหรือเผยแพร่ข้อมูลอันเป็นเท็จหรือข้อมูลบิดเบือน จะถูกลงโทษ 2 เดือนและถูกปรับเงินอีก 20,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 600,000 บาท

AFP-หน้ากากอนามัย-ไวรัสโคโรนา โควิด-19 COVID-19 อิหร่าน-พ่นสเปรย์ฆ่าเชื้อตามท้องถนน.jpg

'อิหร่าน'

ถือเป็นศูนย์กลางการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในตะวันออกกลาง ทั้งยังมีสถิติผู้ติดเชื้อและเสียชีวิตเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่รัฐบาลอิหร่านได้ออกกฎควบคุมการรายงานข่าวของสื่อมวลชนในประเทศ

นอกจากนี้ยังมีข้อมูลด้วยว่าเจ้าหน้าที่คุกคามและคุมตัวผู้สื่อข่าวหลายราย และมีคำสั่งให้สื่อรายงานข่าวโดยใช้ข้อมูลของทางการเท่านั้น แต่ไม่ให้สัมภาษณ์หรืออ้างอิงข้อมูลจากหน่วยงานอื่นๆ หรือบุคลากรคนอื่นๆ ที่ไม่ได้รับผิดชอบด้านการสื่อสาร

'บราซิล'

ประธานาธิบดี 'ฌาอีร์ โบลโซนารู' แถลงโจมตีสื่อมวลชนในประเทศว่าพยายามขยายความรุนแรงของโรค รายงานข่าวการแพร่ระบาดว่าร้ายแรงเกินความเป็นจริง ทำให้เกิดความตื่นตระหนกและหวาดกลัวต่อคนในสังคม ทั้งยังขู่ว่าจะดำเนินคดีทางกฎหมาย  

จากกรณีที่กล่าวมาทั้งหมด จะเห็นได้ว่าหลายประเทศมีผู้นำรัฐบาลที่ได้รับเลือกมาตามกลไกประชาธิปไตย แต่กลับใช้อำนาจแบบรวมศูนย์ ไม่เปิดโอกาสให้มีการตรวจสอบหรือโต้แย้งนโยบายรัฐบาลที่ใช้รับมือโควิด-19 เพราะการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินลดทอนความเข้มแข็งของกลไกรัฐสภา จึงน่าวิตกว่าอาจจะมีการใช้อำนาจตามประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในการปิดกั้นหรือละเมิดสิทธิของประชาชน