ไม่พบผลการค้นหา
สื่อธุรกิจประเมินอัตราการเสียชีวิตจากโรคโควิด-19 ทั่วโลก เฉลี่ยอยู่ที่ 4.4% แต่ผู้ติดเชื้อในอิตาลีมีความเสี่ยงที่จะเสียชีวิตมากกว่าประเทศอื่นๆ เพราะมีอัตราการเสียชีวิตต่อสัดส่วนผู้ติดเชื้อสูงถึง 9.51% สูงกว่าจีนถึงหนึ่งเท่า

เว็บไซต์ worldometer รายงานสถานการณ์โรคโควิด-19 ประจำวันที่ 25 มี.ค.2563 พบว่ามีผู้ติดเชื้อมากกว่า 422,829 ราย และมีผู้เสียชีวิตอีกประมาณ 18,907 รายใน 197 ประเทศและเขตปกครองทั่วโลก โดย 'อิตาลี' มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ลดลงจากหลายวันที่ผ่านมา แต่ยอดผู้เสียชีวิตยังพุ่งสูง

ข้อมูลอ้างอิงสถิติที่รวบรวมได้ทั้งหมดเมื่อวานนี้ (24 มี.ค.) อิตาลีมีผู้เสียชีวิตจากโควิด-19 สูงถึง 743 รายในวันเดียว ทำให้ยอดผู้เสียชีวิตสะสมเพิ่มเป็น 6,820 ราย หรือมากกว่าจีนหนึ่งเท่า และยังไม่อาจระบุได้ว่าสถานการณ์โควิด-19 ในอิตาลีจะพ้นภาวะวิกฤตเมื่อใด

ขณะที่เว็บไซต์ด้านธุรกิจ Business Insider ประเมินว่าอัตราการเสียชีวิตจากโรคโควิด-19 ของอิตาลีถือว่า 'สูงที่สุดในโลก' คิดเป็น 9.51 เปอร์เซ็นต์ของจำนวนผู้ติดเชื้อทั้งหมด โดยอ้างอิงข้อมูลที่รวบรวมล่าสุดในวันที่ 23 มี.ค. ขณะนั้นอิตาลีมีผู้ติดเชื้อ 63,927 ราย และผู้เสียชีวิตสะสม 6,077 ราย แต่ตัวเลขดังกล่าวจะยังเปลี่ยนแปลงได้อีก เพราะจำนวนผู้เสียชีวิตและติดเชื้อยังเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ

ส่วนประเทศที่มีอัตราการเสียชีวิตรองลงมา คือ อิหร่าน คิดเป็น 7.86 เปอร์เซ็นต์ของผู้ติดเชื้อทั้งหมด (ราว 23,049 ราย) สเปน 6.67 เปอร์เซ็นต์ อังกฤษ 5.0 เปอร์เซ็นต์ ฝรั่งเศส 4.28 เปอร์เซ็นต์ จีน 4.02 เปอร์เซ็นต์ สวิตเซอร์แลนด์ 1.38 เปอร์เซ็นต์ เกาหลีใต้ 1.24 เปอร์เซ็นต์ สหรัฐอเมริกา 1.23 เปอร์เซ็นต์ และ เยอรมนี 0.42 เปอร์เซ็นต์ ส่วนไทยยังไม่ติดอันดับ เพราะผู้ติดเชื้อในประเทศยังไม่ถึง 1 พันคน

โควิด-19 อิตาลี.jpg

ข้อมูลดังกล่าวเป็นการประเมินผลคำนวณจากสถิติผู้เสียชีวิตและผู้ติดเชื้อที่มีจำนวนสูงกว่า 1,000 รายในประเทศและเขตปกครองต่างๆ ทั่วโลก ขณะที่อัตราการเสียชีวิตโดยเฉลี่ยของผู้ติดเชื้อโควิด-19 ทั่วโลกจะอยู่ที่ 4.4 เปอร์เซ็นต์

อย่างไรก็ตาม องค์การอนามัยโลก (WHO) ประเมินว่าสถานการณ์โควิด-19 ทั่วโลกยังมีความเสี่ยงอยู่ในระดับ 'สูงมาก' หรือ very high เพราะจะมีผู้ติดเชื้อและเสียชีวิตเพิ่มขึ้นในอีกหลายประเทศทั่วโลก

ก่อนหน้านี้ ดร.เทดรอส อัดฮานอม เกเบรเยซุส ผู้อำนวยการองค์การอนามัยโลกก็เรียกร้องให้รัฐบาลในประเทศต่างๆ ใช้ 'ยุทธศาสตร์เชิงรุก' ให้มากขึ้น โดยเน้นการตรวจคัดกรองและควบคุมโควิด-19 แพร่ระบาด และย้ำว่าจะต้องติดตามร่องรอย หรือการปฏิสัมพันธ์ของผู้ติดเชื้อต่างๆ อย่างใกล้ชิดและเข้มงวด

อีกประเด็นที่ต้องเฝ้าระวัง คือ 'บุคลากรทางการแพทย์' จำนวนมากอาจติดโรคโควิด-19 เพิ่ม เพราะหลายประเทศขาดแคลนอุปกรณ์ป้องกันตัวเอง ต้องเร่งให้ความช่วยเหลือด้านอุปกรณ์ป้องกันเหล่านี้โดยด่วย เพราะบุคลากรทางการแพทย์จะทำหน้าที่ตัวเองอย่างมีประสิทธิภาพได้ก็ต่อเมื่อพวกเขาอยู่ในสภาพการทำงานที่ปลอดภัย หากรัฐบาลต่างๆ ไม่ให้ความสำคัญกับการป้องกันบุคลากรทางการแพทย์ จะทำให้มีคนตายอีกเป็นจำนวนมาก เพราะคนที่สามารถช่วยชีวิตคนอื่นได้อาจจะป่วยเสียเอง

ข่าวที่เกี่ยวข้อง: